ไม่พบผลการค้นหา
เหลือเวลาไม่ถึง 1 เดือนรัฐสภาจะเข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ ปี63 - พ.ร.บ.งบฯ ปี64 ที่ ครม.ได้ปรับรื้อ-เกลี่ยงบฯ โดยนำเม็ดเงินงบประมาณมาใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังเผชิญกับโรคโควิด-19 ระบาดทั่วประเทศจนส่งผลกระทบต่อประชาชนในทุกสาขาอาชีพ

กลไกนิติบัญญัติจะเริ่มเดินหน้าใกล้เปิดฉากในอีก 1 เดือนสมัยสามัญประจำปี ปีที่ 2 สมัยที่ 1 ในวันที่ 22 พ.ค. 2563 คณะรัฐมนตรีก็เร่งเดินหน้าจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย และ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เพื่อมารองรับแก้ไขวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ที่เกี่ยวข้องเพื่อเยียวยาฟื้นฟูปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2563

ล่าสุด นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า เตรียมเสนอที่ประชุม ครม.วันที่ 21 เม.ย. นี้ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2563 หลังทำหนังสือให้ส่วนราชการปรับโอนงบประมาณที่ยังไม่ทำสัญญาผูกพันเพื่อนำมาใช้ป้องกันโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นงบด้านอบรมสัมมนา การจัดกิจกรรม การเดินทางไปประชุม ดูงานต่างประเทศ ส่วนงบลงทุนเป็นโครงการที่ยังไม่จำเป็นเร่งด่วน และยังไม่ได้ลงนามสัญญา เช่น กองทัพเรือชะลอแผนการจัดซื้อเรือดำน้ำ ลำที่ 2-3 ในงบปี 2563 ออกไปก่อน ทำให้มียอดงบประมาณจากทุกหน่วยงานรวม 80,000 – 100,000 ล้านบาท ตามขั้นตอนพิธีการงบประมาณคาดการณ์ว่าใช้เงินได้ในช่วงเดือน มิ.ย. 2563 

สำหรับหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 นั้นที่ประชุม ครม.ได้เคยเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมาตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยนายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีหนังสือสำเนาด่วนที่สุด ที่ นร 0505/ว157 เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2563 ถึงรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี กระทรวง กรม ถึงหลักเกณฑ์และแนวทางการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 พร้อมปฏิทินการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563

โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า ครม.ได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 ลงมติว่า เห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ทั้งนี้ให้ สำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) รับไปประสานกับองค์กรมหาชน และหน่วยงานของรัฐ ที่ได้รับงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนและทุนหมุนเวียนตามแต่กรณี เพื่อปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ด้วย รวมทั้งให้สำนักงบประมาณได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบ ทั้งนี้ได้ยกเลิกชั้นความลับนับแต่วันที่ ครม.มีมติ

สำนักงบประมาณ กองยุทธศาสตร์การงบประมาณ ได้มีบันทึกข้อความด่วนที่สุด ที่ นร 0732/3/393 เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2563 ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และแนวทางการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงประมาณ พ.ศ.2563 พร้อมปฏิทินการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563

โดยบันทึกดังกล่าวระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปัจจุบันได้ขยายวงกว้าง และครอบคลุมพื้นที่ทุกภาคของประเทศ และมีแนวโน้มว่าจะมีระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานต่อไปอีก ส่งผลให้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 งบกลาง รายการเงินสำรองรายจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่ตั้งไว้จำนวน 96,000 ล้านบาท และเงินทุนสำรองจ่ายตามมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 จำนวน 50,000 ล้านบาท จะไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 รวมทั้งอาจมีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นอื่น เช่น สาธารณภัยต่างๆในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ พ.ศ.2563 

ประกอบกับหลายหน่วยรับงบประมาณไม่มีภารกิจโดยตรงในการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสาธารณภัยที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นอีกต่อไปจึงไม่สามารถบริหารงบประมาณตามรายการและวงเงินที่ได้รับจัดสรรตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พง.ศ. 2563 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความจำเป็นที่จะต้องโอนงบประมาณรายจ่ายบางส่วนของหน่วยรับงบประมาณต่างๆ เพื่อนำงบประมาณไปใช้จ่ายในการดำเนินการรับรองสถานการณ์ดังกล่าว

สำหรับการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงินที่ตั้งไว้ 1 แสนล้านบาท นั้น สำนักงบประมาณได้จัดทำข้อเสนอให้นำงบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียนและงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ โดยกำหนดเป้าหมายให้หน่วยรับงบประมาณ เสนอวงเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินคงเหลือที่ไม่มีข้อผูกพัน เพื่อนำไปจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ...

ประยุทธ์-อุตตม

เกลี่ยงบฯสัมมนา ฝึกอบรม ไปต่างประเทศ โปะเข้า พ.ร.บ.โอนงบฯ

โดยหลักเกณฑ์และแนวทางการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 กำหนดให้รายการที่นำงบประมาณรายจ่ายไปจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย มีดังนี้

1.รายจ่ายประจำในทุกงบรายจ่ายที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายและไม่มีข้อผูกพันหรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ ณ วันที่ 7 เม.ย. 2563 ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา การฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ (รวมถึงการศึกษาดูงานในต่างประเทศที่อยู่ในหลักสูตรการฝึกอบรม) รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ อาทิ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พักและค่าพาหนะ และการดำเนินกิจกรรมที่มีการจ้างผูัจัดกิจกรรมหรือดำเนินการเอง

และรายการและงบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถชะลอการดำเนินการได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการหรือไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมดหรือบางส่วนในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 

2.รายจ่ายลงทุนในทุกงบรายจ่าย

  • รายการปีเดียวที่ยังไม่ประกาศดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายในวันที่ 7 เม.ย. 2563 หรือไม่สารถลงนามจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในวันที่ 31 พ.ค. 2563
  • รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการใหม่ในปีงบประมาณพ.ศ.2563 ที่ยังไม่สามรถดำเนินการก่อหนี้ผูกพันได้ภายในวันที่ 7 เม.ย. 2563 ให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปีแรกลดลงร้อยละ 5
  • รายการและงบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถชะลอการดำเนินการได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการหรือไม่สามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563

3.หน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ องค์กรมหาชน และหน่วยงานของรัฐที่กฎหมายกำหนดให้รับงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนและทุนหมุนเวียน ที่พิจารณาเห็นว่ารายการที่ได้รับงบประมาณไม่สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ของการตั้งงบประมาณ หรือมีเงินรายได้ เงินรายได้สะสมคงเหลือเพียงพอต่อการดำเนินภารกิจของหน่วยงานทดแทนงบประมาณที่ได้รับ โดยใช้หลักเกณฑ์และแนวทางตามข้อ 1 และข้อ 2 โดยอนุโลม

ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 มีวงเงินทั้งสิ้น 3.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น

รายจ่ายประจำ 2.4 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 75.1 )

ค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ 1.12 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 35.1)

รายจ่ายลงทุน 6.44 แสนล้านบาท (ร้อยละ 20.1)

รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 8.9 หมื่นล้านบาท (ร้อยละ 2.8 )

รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 6.2 หมื่นล้านบาท (ร้อยละ 2)

โดยงบกลาง มีวงเงิน 518,770 ล้านบาท แบ่งเป็น

1.ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ 1พันล้านบาท

2.ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน 3 พันล้านบาท

3.ค่าใช้จ่ยตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2.5 พันล้านบาท

4.ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 7.12 หมื่นล้านบาท

5.เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง 5 ร้อยล้านบาท

6.เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 4.9 พันล้านบาท

7.เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 2.65 แสนล้านบาท

8.เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 1.04 หมื่นล้านบาท

9.เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 6.7 ร้อยล้านบาท

10.เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ 6.2 หมื่นล้านบาท

11.เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 9.6 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แถลงเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 หลังการประชุม ครม.ว่า การจัดทำ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งกลับมาใช้ในระบบโดยเติมงบกลางให้มากยิ่งขึ้น แต่งบประมาณปี 2563 ได้ใช้จ่ายไปพลางก่อนมากพอสมควรแล้ว และยังเหลืออีกจำนวนหนึ่งประมาณ 8 แสนถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นก้อนแรกที่จะนำมาเพิ่มเติมในงบกลางที่เหลืออยู่ประมาณ 3 พันล้านบาท โดยในส่วนนี้ที่ใช้จ่ายไปแล้วคืองบกลางที่ตั้งไว้ปี 2563 ประมาณ 6.9 หมื่นล้านบาท

ประยุทธ์ คณะรัฐมนตรี โควิด หน้ากาก โคโรนา 0324095343000000.jpg

ส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ครม.ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2563 ตามรายละเอียดที่สำนักงบประมาณเสนอ มีกรอบวงเงินทั้งสิ้น 3.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 1 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 

งบฯ 64 รื้อรายจ่ายประจำงบฯสัมมนา อีเวนต์ 25 % งบลงทุนครุภัณฑ์ตัด 50%

ล่าสุด ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2563 ได้เห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนี้

          1. รายจ่ายประจำ ในทุกงบรายจ่ายที่ไม่มีข้อผูกพันหรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา การฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ อาทิ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าพาหนะ และการดำเนินกิจกรรม (Event) ที่มีการจ้างผู้จัดกิจกรรม (Organizer) หรือดำเนินการเอง ให้พิจารณาทบทวนวงเงินงบประมาณลง ร้อยละ 25

          2. รายจ่ายลงทุน ในทุกงบรายจ่ายที่ไม่มีข้อผูกพัน (รายการปีเดียว) ที่เป็นครุภัณฑ์ทดแทนหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานที่สามารถชะลอการดำเนินงานได้ ให้พิจารณาทบทวนวงเงินงบประมาณลง ร้อยละ 50

          3. รายการและงบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถชะลอการดำเนินการได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ

ตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการบรรเทาหรือแก้ไขผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ให้หน่วยรับงบประมาณเสนอการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณฯ ตามแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เสนอคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เพื่อให้ความเห็นชอบและส่งข้อเสนอการปรับปรุงให้สำนักงบประมาณ ภายในวันที่ 22 เม.ย. 2563

มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รายได้น้อย รับจ้าง เศรษฐกิจเศรษฐกิจ-คนจน-แจกข้าวกล่อง-เยียวยา-สวัสดิการ-ชาวบ้าน

สำหรับเม็ดเงินงบประมาณในส่วนงบกลางของปี 2564 ได้ก่อนหน้านี้สำนักงบประมาณตั้งตัวเลขไว้จำนวน 5.74 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวนกว่า 5.55 หมื่นล้านบาท โดยแผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นนั้น มีวงเงินในส่วนเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 9.9 หมื่นล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 3 พันล้านบาท 

สำหรับปฏิทินการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563

7 เม.ย. 2563 ครม.ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวทางการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 พร้อมปฏิทินโอนงบประมาณฯ

7-10 เม.ย. 2563 สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานรับงบประมาณพิจารณาตรวจสอบและดำเนินการตามหลักเกณฑ์ฯ ตามที่ ครม.ให้ความเห็นชอบ และหน่วยรับงบประมาณจัดทำรายละเอียดการโอนงบประมาณฯ เสนอรองนายกฯ รัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแลให้ความเห็นชอบส่งสำนักงบประมาณ

11-17 เม.ย. 2563 สำนักงบประมาณพิจารณารายละเอียดการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เพื่อนำเสนอ ครม.

21 เม.ย. 2563 สำนักงบประมาณดำเนินการรับฟังความคิดเห็นการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 และมอบให้สำนักงบประมาณไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็น

21 เม.ย. - 5 พ.ค. 2563 สำนักงบประมาณดำเนินการรับฟังความเห็นการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563

12 พ.ค. 2563 ครม.รับทราบผลการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและพิจารณให้ความเห็นชอบข้อเสนอร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย 

13-15 พ.ค. 2563 สำนักงบประมาณจัดพิมพ์ร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ... และเอกสารประกอบ

19 พ.ค. 2563 ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. และเอกสารประกอบ และนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร

28 พ.ค. 2563 สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ... ในวาระที่ 1-3

2 มิ.ย. 2563 วุฒิสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย

10 มิ.ย. 2563 สำนักเลขาธิการ ครม. นำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ... ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ขณะที่ปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

22 เม.ย. - 5 พ.ค. 2563 สำนักงบประมาณจัดพิมพ์ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ และเอกสารประกอบงบประมาณ

12 พ.ค. 2563 ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบฯ และเอกสารประกอบเสนอสภาผู้แทนราษฎร

27-28 พ.ค. 2563 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ วาระที่ 1

19-20 ส.ค. 2563 สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วาระที่ 2-3

7-8 ก.ย. 2563 วุฒิสภา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ

15 ก.ย. 2563 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

หมายเหตุ- สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติฯ มาถึงสภาผู้แทนราษฎร (กรณี ครม. ส่งสภาผู้แทนฯ 12 พ.ค. 63 จะครบ 105 วัน ในวันจันทร์ที่ 24 ส.ค. 63)

วุฒิสภาจะต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นมาถึงวุฒิสภา (กรณีสภาผู้แทนฯ ส่งวุฒิสภา 24 ส.ค. 63 จะครบ 20 วัน ในวันเสาร์ที่ 12 ก.ย. 63)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง