นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้เตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งขณะนี้น้ำในทางระบายน้ำฉุกเฉิน หรือสปิลเวย์ (Spillway) ค่อยๆ เพิ่มระดับสูงขึ้น และจะไหลลงสู่ด้านท้ายในอัตราประมาณ 200-250 ลบ.ม./วินาที คาดว่าจะถึงตัวเมืองเพชรบุรีในช่วงเย็นวันนี้ (7 ส.ค.) น้ำจะเริ่มส่งผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มต่ำและริมฝั่งแม่น้ำในบางจุดจะมีน้ำล้นตลิ่ง 20-30 เซนติเมตร และค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 50-70 เซนติเมตร ซึ่งไม่ต่างจากระดับน้ำในปี 2560 มากนัก
ทั้งนี้ การพร่องน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานที่ขณะนี้เต็มความจุอ่างแล้วนั้นมีความจำเป็น เนื่องจากจะต้องเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำฝนที่จะตกลงมาใหม่ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ซึ่งระบุว่าประเทศไทยจะมีฝนตกชุกไปจนถึงวันที่ 9 ส.ค. นี้ จึงได้ติดตั้งกาลักน้ำเพิ่มอีก 10 ชุด รวมของเดิมเป็น 22 ชุด หากติดตั้งแล้วเสร็จจะสามารถระบายน้ำได้รวมกันประมาณ 1,700,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ Hydro Flow แล้ว 6 เครื่อง และจะเร่งติดตั้งให้ครบ 20 เครื่อง
สำหรับการระบายน้ำทางระบายน้ำล้นฉุกเฉิน (spillway) ขณะนี้ระบายผ่านสปิลเวย์ วันละประมาณ 950,400 ลูกบากศ์เมตร ระดับน้ำที่ล้นผ่าน Spillway จะทยอยสูงขึ้นจนสูงสุดในวันที่ 10 สิงหาคม อยู่ที่ระดับ 50 เซนติเมตร รวมปริมาตรน้ำจะไหลผ่านท้ายเขื่อนแก่งกระจานในอัตรา 200-250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะทำให้แม่น้ำเพชรบุรีมีปริมาตรน้ำผ่านสูงสุดในวันที่ 12 ส.ค.
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า แนวทางบริหารจัดการน้ำจะทำโดยหน่วงน้ำหน้าเขื่อนแก่งกระจาน แล้วตัดน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้ายและฝั่งขวา รวม 55 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และผันเข้าคลองระบาย D9 ในอัตรา 35 ลูกบาศก์เมตรวินาที ทั้งสองส่วนตัดน้ำก่อนถึงเขื่อนเพชรได้ 90 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อน้ำไหลถึงเขื่อนเพชรที่กั้นแม่น้ำเพชรบุรี จะใช้เขื่อนเพชรเป็นเครื่องมือหน่วงน้ำ โดยระบายน้ำผ่านเขื่อนเพชรในอัตรา 140-160 ลูกบาศก์เมตรวินาที จากการพร่องน้ำแม่น้ำเพชรบุรีเตรียมไว้แล้ว ประกอบกับการเสริมคันกั้นน้ำ จะไหลผ่านหนอง อ.หญ้าปล้อง ท่ายาง บ้านลาด โดยไม่มีผลกระทบ และจะไหลผ่านเมืองเพชรบุรี ซึ่งมีความกว้างของแม่น้ำเพชรบุรีไม่มาก รับน้ำได้ประมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้มีระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งและพื้นที่ชุมชน ประมาณ 20-50 เซนติเมตร โดยคาดว่าน้ำจะท่วมประมาณ 2 สัปดา ส่งผลให้มีระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งและพื้นที่ชุมชน ประมาณ 20-50 เซนติเมตร โดยคาดว่าน้ำจะท่วมประมาณ 2 สัปดาห์ และจะลดลงตามลำดับ
ส่วนข้อกังวลน้ำล้นเขื่อนแก่งกระจานนั้น อธิบดีกรมชลประทานยืนยันว่าจะไม่ล้นอย่างแน่นอน เนื่องจากคาดการณ์ระดับน้ำบนสปิลเวย์สูงสุดประมาณ 50 ซม. แต่ระยะห่างระหว่างสปิลเวย์กับสันเขื่อนอยู่ที่ประมาณ 7 เมตร ซึ่งยังห่างอีกมาก
สำหรับมาตรการระบายน้ำออกทะเลทั้งเพื่อลดระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตัวเมืองเพชรบุรี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 30 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 44 เครื่องเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์น้ำ หากระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีเพิ่มสูงขึ้น ก็พร้อมที่จะเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ขอให้ประชาชนมั่นใจในศักยภาพการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน และขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ในอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย เช่น ราชบุรี, ลพบุรี, กาญจนบุรี และนครพนม มีการประสานหน่วยงานในจังหวัดให้ติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ ของในแต่ละพื้นที่แล้ว เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณน้ำที่อาจเพิ่มสูงขึ้น และพร้อมรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ อีกทั้งยังขอให้ประชาชนของแต่ละพื้นที่ติดตามข่าวสารจากส่วนงานราชการ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุดเท่านั้น
มท.1 เตรียมรับมือน้ำท่วม จ.เพชรบุรี
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มั่นใจว่าจะ จะสามารถบริหารจัดการและรับมือกับสถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจานจังหวัดเพชรบุรี แม้ว่าจะมีน้ำล้นสปิลเวย์ หรือมีน้ำทะเลหนุนในช่วง 2 วันนี้ แต่สถานการณ์ไม่รุนแรง มีการระบายน้ำได้ โดยจะมี 4 อำเภอที่อาจได้รับผลกระทบบ้าง คือ อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง และอำเภอบ้านแหลม
อย่างไรก็ตาม ตนกำชับให้ฝ่ายปกครองเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมสำหรับการแจ้งเตือน ซึ่งตอนนี้ทางผู้ว่าราชการ และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ได้เตรียมการป้องกันทั้งกระสอบทรายและปั้มน้ำ ซึ่งคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมาก มีเพียงบริเวณที่อยู่ใกล้น้ำเท่านั้น
ขณะที่การประเมิณสถานการณ์หรือการเตรียมการอพยพ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันประเมิณสถานการณ์ หากมีการอพยพ และมีชาวบ้านที่ไม่ยอมทิ้งบ้าน ทางกระทรวงมหาดไทยจะให้เหลือผู้ชายเฝ้าบ้านไว้ 1 คน และจะมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ หรือ อส. ในพื้นที่คอยดูแล
ด้านนายวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้สั่งการให้รีบสำรวจรีสอร์ทและสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในเส้นทางการระบายน้ำไปเมื่อเช้านี้ และเตรียมการประกาศเตือนผู้ประกอบกิจหารและนักท่องเที่ยวให้อพยบหากจำเป็น และให้สำรวจด้วยว่าเส้นน้ำหลากกระทบเส้นทางคมนาคมที่จะสัญจรลงพื้นที่ภาคใต้หรือไม่ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบกิจการต่างก็ตื่นตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดการณ์น้ำอาจจะล้นสปิลเวย์ในคืนนี้ ส่วนความเสียหายของแหล่งท้องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในจังหวัดอื่นๆ ตนได้สั่งการให้สำนักท่องเที่ยวแต่ละจังหวัดใช้เวลในช่วงปิดเทอมลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ก่อนที่ฝนจะตกหนักและเข้าสู่ช่วงน้ำหลาก เพื่อการเตรียมความพร้อมรองรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง อย่างไรก็ตามไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในจังหวัดอื่นๆก่อนหน้านี้