จากกรณีที่ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการป้องกันกรณีการใช้ทรัพย์สินของทางราชการ ข้อหนึ่งในนั้น ระบุว่า ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนตัวมาชาร์จไฟในสถานที่ราชการ และหลังจากมีประกาศดังกล่าว ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม
ล่าสุด วันนี้ (6 มกราคม 2561) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้สั่งให้ทบทวนประกาศดังกล่าว เพื่อให้มีความเหมาะสม เกิดผลดี ต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และประโยชน์ของประชาชนต่อไป
ขณะที่ เฟซบุ๊ก "ฟิสิกส์แม่งเถื่อน" ของนายคมพิสิฐ ประสาท วิศวกรไฟฟ้า รัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ได้อัดคลิปวิดีโอคำนวณการชาร์จแบตเตอรี่มือถือในโรงพยาบาลจะต้องเสียค่าไฟเป็นเงินเท่าไร โดยในคลิปได้แสดงสูตรคำนวณหาค่าไฟ ซึ่งหากชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือความจุ 2,000 มิลลิแอมป์ต่อชั่วโมง (mAh) ด้วยแรงดัน 3.8 โวลท์ (V.) จนเต็มเป็นเวลา 1 ชั่วโมง พบว่า จะใช้ไฟ 0.0076 หน่วย ถ้าค่าไฟหน่วยละ 5 บาท จะเป็นเงิน 0.038 บาทเท่านั้น
ดังนั้น หากมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลชาร์จแบตเตอรี่จนเต็ม 100 คน จะมีค่าไฟเพียงวันละ 3.80 บาท หรือคำนวณถึงความสูญเสียของแบตเตอรี่ เช่น แบตเตอรี่ร้อน ค่าไฟก็อาจจะมากกว่า 3.80 บาทเล็กน้อย ซึ่งหากคิดค่าไฟในระยะเวลา 1 ปี จะเสียค่าไฟปีละ 1,387 บาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน ในฐานะรักษาราชการแทนหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงสาธารณสุข (ศปท.) ได้ให้เหตุผลถึง การออกประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวว่า เพื่อแสดงเจตจำนงสุจริตในการบริหารราชการและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวในตำแหน่งหน้าที่อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี ยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อความเชื่อมั่นศรัทธาต่อประชาชน โดยมุ่งหวังที่จะปรับเปลี่ยนแนวคิดของคนในหน่วยงานให้สามารถคิดแยกแยะว่า “เรื่องใดเป็นประโยชน์ส่วนตนและเรื่องใดเป็นประโยชน์ส่วนรวม”
โดยวันที่ 7 ม.ค. 61 ทวิตเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่ ประกาศเรื่องยกเลิกประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการป้องกันกรณีการใช้ทรัพย์สินของราชการ ลงวันที่ 29 ธ.ค. 60 ว่า ทางปลัดกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาแล้วเห็นว่าประกาศฉบับดังกล่าวมีประเด็นความไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ จึงเห็นควรให้มีการทบทวนเพื่อความเหมาะสมและเกิดความชัดเจนให้สอดคล้องกับสภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. 61 เป็นต้นไป ซึ่งหนังสือคำสั่งยกเลิกดังกล่าวลงนามโดย นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง