ศาลเมียนมาอนุญาตให้ฝากขังนายวา โลน และนายจอ โซ อู นักข่าวชาวพม่าที่ทำงานให้กับสำนักข่าวรอยเตอร์อีก 2 สัปดาห์ จนถึงวันที่ 10 มกราคม 2018 โดยให้เหตุผลว่าการสอบสวนทั้งคู่ยังไม่เสร็จสิ้น โดยที่จนถึงขณะนี้ยังคงไม่มีการตั้งข้อหาจากศาลและยังไม่ได้เริ่มไต่สวนคดีอย่างเป็นทางการ หลังจากทั้งคู่ถูกเรียกตัวไปพบตำรวจในย่านชานนครย่างกุ้ง แล้วกลับหายตัวไป จนสำนักข่าวต้นสังกัดต้องตามหาตัวอยู่นานถึง 3 วัน ก่อนที่โฆษกรัฐบาลเมียนมาจะยอมรับว่าทั้งคู่ถูกจับในข้อหาเผยแพร่เอกสารลับของราชการ โดยใช้กฎหมายเก่าแก่ตั้งแต่ยุคอาณานิคมในการเอาผิด ซึ่งหากทั้งคู่ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง จะต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 14 ปี โดยจนถึงขณะนี้ รัฐบาลเมียนมาก็ยังไม่ยอมเปิดเผยว่ากักขังทั้งคู่ไว้ที่ไหน และเมื่อไหร่จะปล่อยตัว
ในวันนี้ (27 ธันวาคม) ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ทั้งสองปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งแรกนับตั้งแต่หายตัวไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยทั้งคู่ได้พบกับญาติและให้สัมภาษณ์กับสื่อสั้นๆก่อนขึ้นศาล นายวา โลน ยืนยันว่าเขาไม่ได้ถูกปฏิบัติทารุณหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆระหว่างถูกคุมขัง ขณะที่นายจอ โซ อู เตือนเพื่อนสื่อมวลชนว่าให้ระวังตัว เพราะพวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ยังถูกจับกุมดำเนินคดีได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ากลัวอย่างมาก
จอ โซ อู หรือโม อ่อง หนึ่งในสองนักข่าวรอยเตอร์ที่ถูกจับกุม ถูกควบคุมตัวมาอย่างแน่นหนาเพื่อฟังคำตัดสินของศาล ว่าจะให้ควบคุมตัวเขาไว้ต่ออีก 2 สัปดาห์หรือไม่
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าทั้งคู่ทำผิดอะไร จึงถูกตั้งข้อหาร้ายแรงนี้ แต่ฃสำนักข่าวเอเอฟพี ซึ่งได้ข้อมูลจากกระทรวงกิจการข้อมูลข่าวสารของเมียนมา ระบุว่าการจับกุมนักข่าวรอยเตอร์เกิดขึ้นเนื่องจากทั้งสองคนจะส่งเอกสารสำคัญที่เป็นความลับเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ให้กับสำนักข่าวต่างประเทศ โดยผู้สื่อข่าวทั้งสองรายงานข่าวเกี่ยวกับการปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่มาโดยตลอด
วา โลน หนึ่งในผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ที่ถูกจับ มีขวัญกำลังใจดี และยืนยันว่าเขาไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกายหรือล่วงละเมิดใดๆระหว่างถูกควบคุมตัว
การจับกุมนักข่าวรอยเตอร์ทั้ง 2 คน กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้นานาชาติวิจารณ์ว่ารัฐบาลของนางอองซาน ซูจี ไม่ยึดมั่นในหลักสิทธิเสรีภาพ ทั้งที่เป็นรัฐบาลพลเรือนชุดแรกของเมียนมาในรอบกว่า 50 ปี ในปี 2017 เพียงปีเดียว มีนักข่าวถูกจับในเมียนมาถึง 11 คน นอกจากนักข่าวรอยเตอร์ทั้งคู่ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมายังมีกรณีที่นักข่าวต่างประเทศ 2 คน และนักข่าวชาวพม่าที่ทำงานให้กับสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลตุรกีอีก 1 คน รวมทั้งคนขับรถ ถูกตัดสินจำคุก 2 เดือนเพียงเพราะนำโดรนขึ้นบินใกล้รัฐสภาเมียนมา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง