ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งเรียกร้องให้ทางการเมียนมาปล่อยตัวนักข่าวรอยเตอร์ 2 คน ซึ่งถูกจับกุมและควบคุมตัวมาแล้ว 7 วัน ในข้อหาลักลอบเก็บข้อมูลของรัฐบาล แต่กลับไม่ได้รับอนุญาตให้พบทนายหรือครอบครัว

นายวา โลน และนายจอ โซ อู ผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ประจำเมียนมา ถูกทางการเมียนมาควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม หลังจากที่ทั้งสองคนถูกเชิญตัวไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจในนครย่างกุ้ง แต่กลับถูกจับกุมและตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายว่าด้วยข้อมูลลับของหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าแก่ตกทอดมาจากยุคอาณานิคมอังกฤษ หากถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด ทั้งคู่อาจถูกลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 14 ปี

กระทรวงสารสนเทศแห่งเมียนมาออกแถลงการณ์ชี้แจงว่าผู้สื่อข่าวทั้งคู่ลักลอบเก็บข้อมูลของรัฐบาล และมีเจตนาที่จะนำไปเผยแพร่ต่อสื่อต่างประเทศ แต่ไม่ได้ระบุว่าข้อมูลดังกล่าวคือเรื่องอะไร ส่งผลให้นายสตีเฟน เจ. แอดเลอร์ บรรณาธิการบริหารของรอยเตอร์ แถลงประณามการจับกุมผู้สื่อข่าวในสังกัดว่าเป็นการคุกคามสื่อ ทั้งยังระบุเพิ่มเติมในวันนี้ (19 ธันวาคม) ว่า ทั้งคู่ถูกควบคุมตัวครบ 7 วันแล้ว แต่ตัวแทนของรอยเตอร์และครอบครัวไม่เคยได้รับข้อมูลชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ว่าพวกเขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด และมีความเป็นอยู่ที่ดีหรือไม่ แม้แต่ทนายก็ไม่ได้รับอนุญาตให้พบ ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน 

ขณะที่นายถิ่น จ่อ ประธานาธิบดีเมียนมา ให้สัมภาษณ์สื่อในประเทศเมื่อวานนี้ (18 ธันวาคม) ว่า//รัฐบาลจะไม่คัดค้านหรือแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถ้าหากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วจำเป็นต้องดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าวทั้งสองคน ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย

เด็กหญิงโรฮิงญาถูกกลุ่มค้ามนุษย์ขายให้แต่งงาน

อย่างไรก็ตาม นายอันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ วิจารณ์การจับกุมและคุมตัวผู้สื่อข่าวทั้งสองรายว่าเป็นภาพสะท้อนของการคุกคามสิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชนในเมียนมา และการจับกุมครั้งนี้น่าจะเป็นเพราะทั้งคู่รายงานข่าวการล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา ทำให้รัฐบาลเมียนมาถูกกดดันอย่างหนักจากนานาประเทศ เพื่อให้ดำเนินการต่างๆ ที่จะช่วยยุติการล้างเผ่าพันธุ์และละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา

เช่นเดียวกับกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ และสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เมียนมาปล่อยตัวผู้สื่อข่าวรอยเตอร์โดยเร็ว พร้อมทั้งย้ำว่าการควบคุมตัวผู้สื่อข่าวด้วยข้อกล่าวหาที่ไม่ชัดเจน ทั้งยังอ้างอิงกฎหมายล้าหลัง เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น

ขณะที่นาย มรัต จอ ทู ผู้สื่อข่าวอาวุโสของสำนักข่าวฟรอนเทียร์เมียนมา ซึ่งเป็นชาวพม่าคนแรกที่ได้รับรางวัล 'เคท เว็บ' จากสำนักข่าวฝรั่งเศสเอเอฟพีประจำปีนี้ ระบุว่ารางวัลที่ได้เป็นเรื่องน่ายินดี แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องเศร้าที่ผู้สื่อข่าวอีกสองคนยังถูกควบคุมตัวโดยไม่ทราบชะตากรรม ทั้งยังเป็นผลจากการรายงานข่าวปกติ สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ด้านสิทธิและเสรีภาพสื่อในเมียนมาไม่ได้ดีขึ้นไปกว่าสมัยอดีตรัฐบาลทหาร ส่วนรางวัลเคท เว็บ เป็นรางวัลที่เอเอฟพีมอบให้กับสื่อในเอเชียที่มีผลงานดีเด่นด้านการรายงานข่าวและตีแผ่ความจริงในสังคม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รอยเตอร์เรียกร้องเมียนมาปล่อยตัวนักข่าวในสังกัด

สื่อเมียนมาชี้นานาชาติไม่เป็นกลางเสนอข่าวโรฮิงญา