กรุงเทพมหานคร สวรรค์ของคนชอบกิน มีอาหารขายทุกเวลา มีอาหารอยู่ทุกที่ เมื่อสำนักงานกรุงเทพมหานครมีนโยบายจัดระเบียบทางเท้าและกำจัดหาบเร่แผงลอยต่างๆ จนกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เพราะนอกจากพ่อค้าแม่ค้าจะได้รับผลกระทบแล้ว ผู้บริโภคเองก็ได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นกัน แต่ที่ผ่านมา คนมักพูดถึงร้านอาหารริมทางหรือสตรีทฟู้ดกันแต่ในแง่ของแม่ค้าและนักท่องเที่ยว ราวกับหลงลืมไปว่าคนไทยในกรุงเทพฯ ฝากท้องกับร้านแผงลอยแถวบ้านและที่ทำงานกันจำนวนมาก
ฮอร์เฆ การ์ริโย-โรดริเกซ นักวิจัยอิสระชาวเวเนซุเอลาผู้ใช้ชีวิตหลังเกษียณที่กรุงเทพฯ ได้ทำโครงการ Beyond Food และทำวิจัยว่า หากแผงลอยขายอาหารริมทางหายไป ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เขาอธิบายว่า ที่ผ่านมา บทสนทนาเกี่ยวกับอาหารริมทางจะมีแต่แง่มุมแบบ 'ฟู้ดดี้' หรือพวกชื่นชอบอาหาร เช่น อาหารริมทางสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมการกินในไทย หรือไม่ก็ในแง่มุมความขัดแย้งระหว่างผู้ค้ากับภาครัฐ เขาจึงพยายามสำรวจแง่มุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกฝ่ายมองเห็นภาพกว้างของเรื่องนี้
การ์ริโยอธิบายว่าความมั่นคงทางอาหารถูกแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1. Availability มีอาหารเพียงพอหรือไม่ 2. Accessibility ประชากรเข้าถึงอาหารเหล่านั้นได้ รวมถึงราคาจะต้องย่อมเยาสำหรับคนส่วนใหญ่ 3. Utility คุณภาพของอาหาร มีคุณค่าทางอาหารหรือไม่ และเมื่อนำมาพิจารณาความมั่นคงทางอาหารของกรุงเทพฯ จะพบว่า หากรัฐบาลกวาดล้างร้านอาหารริมทางไปหมด จะกระทบความมั่นคงทางอาหารอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้าถึงอาหารที่มีราคาไม่สูงนัก
คนกรุงเทพฯ ทุกกลุ่มพึ่งพาร้านอาหารริมทาง แต่คนรายได้น้อยจะลำบากที่สุด
วิจัย “หากอาหารริมทางหายไป ผู้บริโภคต้องจ่ายเท่าไหร่?” ที่การ์ริโยทำร่วมกับบียอนด์ ฟู้ดพบว่า คนที่มีเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาทไปจนถึงคนที่มีเงินเดือนมากกว่า 30,000 บาทต่างฝากท้องกับอาหารริมทางบ่อยพอๆกัน เฉลี่ย 9.58 มื้อต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ตั้งแต่ 20,000 – 30,000 บาทซื้ออาหารริมทางเกือบ 11 มื้อต่อสัปดาห์ หรือมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนมื้ออาหารที่พวกเขากินทั้งหมด โดยข้อมูลส่วนนี้เก็บเฉพาะการกินอาหารเป็นมื่อเท่านั้น ยังไม่นับรวมถึงเครื่องดื่ม ขนม และผลไม้ด้วยซ้ำ ดังนั้น หากไม่มีอาหารริมทาง จะส่งผลให้คนจำนวนมากที่พึ่งพาอาหารริมทางต้องไปหากินข้าวที่อื่น
ราคาอาหารก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เพราะจากการสำรวจพบว่า อาหารริมทางมีราคาถูกกว่าอาหารในศูนย์อาหารของห้างสรรพสินค้าหรือร้านอาหารต่างๆ ประมาณ 9.33 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.5 การ์ริโยอธิบายว่า เมื่อดูราคาส่วนต่างเพียง 1 มื้ออาจไม่ได้แพงกว่ากันมาก แต่หากนำส่วนต่างไปคูณกับจำนวนมื้ออาหารที่คนต้องพึ่งพาอาหารริมทางก็อยู่ที่ประมาณสัปดาห์ละ 100 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นจำนวนเงินมากทีเดียว สำหรับผู้ที่มีรายได้เพียงวันละ 300-400 บาทต่อวัน และยังมีภาระค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าเทอมของลูกๆ ดังนั้น การปราบปรามอาหารริมทางจะกระทบกับคนรายได้น้อยอย่างหนัก
การ์ริโยยกตัวอย่าง เวเนซุเอลา ประเทศบ้านเกิดของเขา ซึ่งกำลังเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหาร หรือเมื่อคนจนไม่สามารถซื้ออาหารราคาถูกได้ จะส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยหันไปซื้ออาหารคุณภาพต่ำลง บางคนอาจลดมื้ออาหารต่อวันลงไปจาก 3 มื้อเหลือเพียง 1-2 มื้อต่อวัน ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนสารอาหาร ขณะเดียวกัน หลายคนอาจต้องหันมาทำอาหารกินเองที่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะกระทบกับผู้หญิงที่มักถูกคาดหวังว่าจะต้องทำอาหารให้กับครอบครัวด้วย พร้อมกับหารายได้มาจุนเจือครอบครัวด้วย นอกจากนี้ การ์ริโยยังคาดการณ์ว่า หากปัญหาความมั่นคงทางอาหารรุนแรงขึ้น อาจส่งผลให้มีการเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงอีก
เจ๊ไฝ - อาหารริมห้าง - อาหารริมทางสิงคโปร์
ในขณะที่เจ๊ไฝได้รับดาวมิชลิน และขึ้นชื่อว่าเป็นสตรีทฟู้ดไทยที่ได้รับดาวมิชลินเป็นปีที่ 2 หรือการที่มิชลินไปมอบดาวให้ร้านอาหารริมทางในสิงคโปร์จนโด่งดังไปทั่วโลก การ์ริโยกลับมองว่า ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ใช่อาหารริมทาง และไม่ใช่วัฒนธรรมอาหารริมทางเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากร้านเจ๊ไฟอยู่ในตึกแถวมีโต๊ะและที่นั่งอยู่ในร้านอยู่แล้ว
นอกจากนี้ เขายังมองว่าห้างหลายแห่งก็มีความพยายามจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมสตรีทฟู้ด ด้วยการเปิดพื้นที่กลางแจ้งให้ผู้ค้าไปขายอาหารและเครื่องดื่ม เพียงเพื่อจะขายให้กับชาวต่างชาติ แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของคนที่อยู่ในพื้นทีจริงๆ
ขณะที่ศูนย์อาหารริมทางของสิงคโปร์ก็เป็นศูนย์อาหารที่รัฐบาลสิงคโปร์เป็นผู้จัดสรรพื้นที่ จึงแตกต่างจากวัฒนธรรมอาหารริมทางของไทยและอีกหลายประเทศในเอเชีย ที่ร้านอาหารริมทางเป็นรถเข็นหรือแผงลอยที่ไปตั้งในบริเวณที่ใกล้กับที่พักอาศัยหรือออฟฟิศ ซึ่งคำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้ซื้อเป็นหลัก ดังนั้น การ์ริโยจึงไม่คิดว่าการจัดระเบียบร้านอาหารริมทางแบบสิงคโปร์จะเป็นต้นแบบของไทยได้
อย่าโยนความล้มเหลวทั้งหมดของ กทม.ไปที่ร้านค้าริมทาง
การ์ริโยไม่ต้องการให้คนมองปัญหาแบบขาวดำ หรือมองว่าใครเป็นต้นตอของความไร้ระเบียบทั้งหมดของกรุงเทพฯ เพราะจากข้อมูลของเว็บไซต์ GoodWalk.org ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับทางเท้าทั่วประเทศ สิ่งกีดขวางทางเท้าไม่ได้มีเพียงร้านอาหารริมทางเท่านั้น แต่คนเดินถนนยังไม่พอใจทางเท้าที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ใช้การไม่ได้แล้ว เสาไฟฟ้าที่มีสายไฟระโยงระยาง หรือรถจักรยานตร์ที่ขึ้นมาขี่บนทางเท้า ส่วนปัญหาที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ บ่อยๆ ก็ไม่ได้มีสาเหตุหลักมาจากการที่ร้านอาหารริมทางทิ้งเศษอาหารลงท่อระบายน้ำ แต่เป็นเพราะกรุงเทพฯ มีระบบการจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ
ดังนั้น วิธีการแก้ไขปัญหาสตรีทฟู้ดที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ หาทางแก้ไขที่ประนีประนอมกันระหว่างกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ทั้งผู้บริโภค ผู้ค้า คนเดินถนน ซึ่งจะทำให้ได้ข้อสรุปที่ทุกกลุ่มผลประโยชน์พึงพอใจมากที่สุด โดยการเจรจาจะต้องคำนึงถึงเงื่อนไขคนไทยที่อาศัยอยู่ที่นี่ตลอดเวลา ไม่ใช่แก้ปัญหาโดยคำนึงถึงนักท่องเที่ยวที่แค่มาเที่ยวเพียงไม่นานแล้วก็กลับประเทศตัวเองไป
Beyond Food : สตรีทฟู้ดไม่ใช่แค่เรื่องอาหาร
Beyond Food เป็นโปรเจกต์ที่พยายามสำรวจว่าอาหารริมทางมีความเชื่อมโยงกับสังคมในมิติต่างๆ อย่างไรบ้าง เพื่อให้เห็นว่าเรื่องอาหารริมทางมีความซับซ้อนมากกว่าที่หลายคนคิด มีผลกระทบกับคนจำนวนมากกว่าที่คิด เมื่อมองความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับอาหารริมทางไปให้ลึกกว่าเรื่องของภาครัฐ ผู้ค้า และผู้ซื้อ ก็จะเห็นว่า หากปราบปรามอาหารริมทางทั้งหมดไป นอกจากจะทำให้ลูกค้าต้องหาแหล่งซื้ออาหารใหม่ หรืออาจต้องจ่ายค่าข้าวแพงกว่าเดิม
สิ่งที่ Beyond Food กำลังสนใจก็คือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากการปราบอาหารริมทางทั้งหมด โดยการ์ริโยยกตัวอย่างกรณีที่ใกล้เคียงว่า ตอนที่รัฐบาลสั่งปรับภูมิทัศน์ปากคลองตลาด ย้ายกลุ่มผู้ค้าไปที่ศูนย์กลางตลาดดอกไม้ปากคลองตลาดใหม่ พบว่าผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับดอกไม้ เช่น ภาชนะใส่ดอกไม้ ริบบิ้น ก็ซบเซาลงไปด้วย
ดังนั้น การปราบอาหารริมทางอาจจะกระทบถึงตลาดขายของสดที่ผู้ค้าเหล่านี้ไปซื้อวัตถุดิบอีกทอดหนึ่ง และผลกระทบที่มีต่อผู้ค้าของสดก็อาจกระทบไปถึงคนอื่นๆ ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: