ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และที่เป็นเอสเอ็มอี ระหว่างวันที่ 10 - 24 เม.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 299 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนว่า ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน โดยมีปัญหาหลักที่ความยากลำบากในการขนส่งสินค้าท่ามกลางมาตรการลดการเคลื่อนย้ายของประชาชนรวมไปถึงพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน)
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการก็ยังได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงสายการผลิตที่ไม่สามารถนำเข้าหรือส่งออกวัตถุดิบได้ เช่นเดียวกัน
เมื่อแยกออกมารายอุตสาหกรรมนั้น ฝั่งการค้าปลีกต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคมากที่สุดเพราะประชาชนไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินทางออกจากบ้านได้อย่างปกติ ขณะที่ฝั่งการผลิตต้องไปแบกผลกระทบเรื่องสายการผลิตที่ไม่เลื่อนไหลแบบในอดีต ขณะที่ฝั่งบริการแทบดูเหมือนจะต้องแบก 2 ปัญหาสำคัญ คือการขนส่งและพฤติกรรมผู้บริโภค อย่างไรก็ตามธุรกิจการให้บริการด้านการเงินกลับไม่ได้รับผลกระทบมากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจบริการอื่นๆ
เมื่อหันไปมองเรื่องสภาพคล่องของบริษัท ผลการสำรวจชี้ว่า ราวร้อยละ 31.1 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดมีสภาพคล่องในช่วง 3 - 6 เดือน ขณะที่อีกร้อยละ 30.1 มีสภาพคล่องอยู่ที่ 6 เดือน - 1 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอีกราวร้อยละ 13.8 กลับมีสภาพคล่องของบริษัทน้อยกว่า 3 เดือน
ด้วยเหตุนี้มาตรการเยียวยาที่ผู้ประกอบการต้องการ กว่าร้อยละ 70 จึงเป็นมาตรการพักชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย ตามมาด้วยมาตรการจ่ายเงินอุดหนุนให้กับนายจ้างเพื่อรักษาระดับการจ้างงาน การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน ไปจนถึงการจ่ายเงินชดดเชยให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง/มีรายได้ลดลง และการเลื่อนจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล/บุคคลธรรมดา
อีกทั้ง เหล่าผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติหรือเริ่มฟื้นตัวใกล้เคียงกันในช่วงปี 2564 ในสัดส่วนร้อยละ 43.9 และ 43.8 ตามลำดับ มีเพียงร้อยละ 2.7 ที่มองว่าฌศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และมีเพียงร้อยละ 10.3 ที่มองว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 3/2563 เช่นเดียวกัน