ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ผ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไทยในไตรมาส 2/2563 ยังอยู่ในเกณฑ์มั่นคง
อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์อยู่ที่ 19.2% คิดเป็นเม็ดเงินมูลค่า 2.8 ล้านล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนเงินสำรองต่อหนี้เสียสูงถึง 144.1% แตะระดับ 7.4 แสนล้านบาท ซึ่งธาริฑธิ์ เสริมว่าในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ธปท.เห็นการตั้งเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้นมาก จนทำให้ผลกำไรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่นับเป็นความเสี่ยงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤตและอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินรับฝากที่ 183.4% และ 92.8% ตามลำดับ ซึ่ง ผอ.อาวุโส ย้ำว่าสัดส่วนทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก
ธาริฑธิ์ ชี้ว่า แม้จีดีพีประจำไตรมาส 2 ของปีนี้จะหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ลงมาอยู่ที่ติดลบ 12.2% ตามข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แต่แบงก์ชาติพบว่า สัดส่วนการเติบโตด้านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสนี้ เพิ่มสูงขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
แบงก์ชาติแจงว่า สัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นมาจากปัจจัยหนุนจากฝั่งธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีวงเงินสินเชื่อตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ที่โตขึ้นจาก 8% ในไตรมาสแรก เป็น 13.1 ในไตรมาสที่ 2 นี้
อย่างไรก็ตาม ฝั่งสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กหรือผู้ที่มีวงเงินกู้น้อยกว่า 500 ล้านบาทลงมา ยังคงทรงตัวติดลบ 3.5% เมื่อเทียบกับตัวเลขไตรมาส 2/2563
ทั้งนี้ ธาริฑธิ์ ย้ำว่าตัวเลขที่เห็นมีทิศทางดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่ติดลบ 4.7% โดยเป็นผลสำคัญมาจากโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน ที่แม้จะปล่อยเงินเข้าไปในระบบได้เพียง 1.1 แสนล้านบาท จากวงเงินรวม 5 แสนล้านบาท ก็ตาม
ทั้งนี้ นอกจากมาตรการซอฟต์โลนที่เข้าไปอุ้มเอสเอ็มอีราวๆ 6.7 หมื่นราย ฝั่งธนาคารออมสินและสินเชื่อเพิ่มเติมที่มีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สามารถช่วยบริษัทขนาดกลางและเล็กได้เพิ่มเติมอีก 1.2 หมื่นราย และ 5.3 หมื่นราย ตามลำดับ เมื่อผนวกตัวเลขสนับสนุนด้านสินเชื่อรวมทั้งหมด จะคิดเป็นเงิน 2.2 แสนล้านบาท
ขณะที่ สินเชื่อในฝั่งอุปโภคบริโภคกลับมาทิศทางต่ำลงแม้จะยังไม่เข้าสู่แดนลบก็ตาม โดยโตลดลงจากไตรมาสแรกที่ 5.6% ลดลงมาเหลือเพียง 4.8% ในไตรมาสที่ผ่านมา โดย ธาริฑธิ์ ชี้่ว่า เมื่อมองตัวเลขทั้งปี สัดส่วนสินเชื่อน่าจะคงตัวอยู่ได้ในระดับ 5% ต่อเนื่อง
สำหรับสถานะหนี้ที่ถูกจัดในประเภท 'หนี้เสีย' (NPLs) หรือหนี้ที่มีการค้างชำระเกิน 90 วัน ประจำไตรมาส 2/2563 มีสัดส่วน 3.09% ของสินเชื่อรวม ปรับขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า ที่อยู่ในระดับ 3.04% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
เมื่อแยกตามประเภท จะพบว่าหนี้เสียที่มาจากภาคครัวเรือนมีสัดส่วนสูงกว่าหนี้เสียจากภคธุรกิจเล็กน้อย ที่ระดับ 3.07% และ 3.12% ตามลำดับ ทว่าเมื่อเข้าไปดูสัดส่วนหนี้เสียในภาคธุรกิจ ธาริฑธิ์ ชี้ว่า หนี้เสียในฝั่งบริษัทใหญ่มีมากกว่าหนี้เสียในฝั่งเอสเอ็มอี
ทว่าแม้ตัวเลขหนี้เสียจะไม่น่าเป็นกังวลมากนัก แต่ข้อมูลสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยง หรือสินเชื่อในขั้นก่อนถึงหนี้เสีย กลับมีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยสินเชื่อกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 7.48% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ แบงก์ชาติ เลี่ยงการคาดการณ์ว่าสัดส่วนหนี้เสียของไทยทั้งปีจะเป็นอย่างไร หลังมาตรการหยุดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยชั่วคราวจะหมดลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากตัวเลขการช่วยเหลือลูกหนี้ในสินเชื่อระบบสถาบันการเงินทั้งหมด 12.8 ล้านบัญชี หรือคิดเป็น 6.88 ล้านล้านบาท ทำให้แบงก์ชาติไม่มีข้อมูลเข้ามาว่าจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือเหล่านี้มีความสามารถในการกลับมาชำระหนี้ต่อมากน้อยแค่ไหน ต้องรอดูสถานการณ์ต่อจากนี้ถึงจะประเมินตัวเลขหนี้เสียได้ แต่มองว่าจะอยู่ในหลักหน่วยเท่านั้น