ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเตือนว่า ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมของโควิด-19 อาจทำให้มีคนฆ่าตัวตายมากกว่าช่วงที่โรคซาร์สระบาด โดยเฉพาะคนที่ตกงาน มีปัญหาเรื่องเงิน และคนแก่

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต 42 คนทั่วโลกในนามของ “ความร่วมมือการวิจัยด้านการป้องกันการฆ่าตัวตายช่วงโควิด-19 ระหว่างประเทศ” ได้ออกมาเตือนถึงผลกระทบด้านจิตวิทยาที่อาจเกิดขึ้นกับประชากรทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา และรัฐบาลต่างๆ ควรมียุทธศาสตร์จัดการวิกฤตที่ครอบคลุมผลกระทบด้านจิตวิทยา ซึ่งอาจมีผลกระทบยาวนานกว่าตัวโรคระบาดเอง

บทความของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่ตีพิมพ์ในนิตยสารทางการแพทย์ Lancet Psychiatry เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ระบุว่า การตกงานและความเครียดด้านการเงินเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้คนตัดสินใจฆ่าตัวตาย การระงับบริหารสาธารณะต่างๆ รวมถึงบริการด้านสุขภาพจิต ตามมาตรการปิดเมืองและจำกัดการเดินทาง อาจยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง รัฐบาลจึงควรมีมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินให้กับผู้ที่ต้องการ เช่น จัดหาอาหาร ที่พักอาศัย และให้ความช่วยเหลือสำหรับคนที่ตกงาน

สถาบันวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ของอังกฤษได้ทำแบบสำรวจออนไลน์ 2 ชุดช่วงปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา แบบสอบถามแรกมีผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 2,100 คน ในจำนวนนี้มีคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตด้วย โดยผลการสำรรวจระบุว่า พวกเขารู้สึกกังวลเกี่ยวกับการเข้าถึงความช่วยเหลือและบริการต่างๆ ในช่วงที่มีโรครระบาด และมีความกลัวว่าปัญหาสุขภาพที่พวกเขามีอยู่แล้วจะยิ่งแย่ลง ส่วนการสำรวจคน 1,099 คน ตอบว่า พวกเขากังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการกักตัว การเว้นระยะทางสังคม และความยากลำบากด้านการเงิน

แม้ความกังวลและความเครียดจะเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้อยู่แล้ว ในช่วงที่มีโรคระบาด แต่บทความใน Lancet Psychiatry ยังระบุว่า คนที่เป็นโรคซึมเศร้า คนที่เคยทำร้ายร่างกายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะฆ่าตัวตาย และช่วงที่มีโรคซาร์สในปี 2546 คนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30

บทความดังกล่าวได้จัดกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงไว้ 8 กลุ่ม ดังนี้ 

1. เด็ก เยาวชน และครอบครัว (เครียดจากการปิดโรงเรียน ความรุนแรงในครอบครัว การไม่มีอาหารกลางวันฟรีจากโรงเรียน) 

2. คนแก่และคนที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว (เครียดจากความโดดเดี่ยว ความเหงา การสูญเสียคนที่รัก

3. คนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตอยู่แล้ว (เครียดจากการไม่ได้รับบริการตามปกติและอาการกำเริบ

4. บุคคลากรทางการแพทย์ที่สู้กับโรคระบาด (เครียดจากการทำงานและความกลัวว่าจะติดเชื้อ)

5. คนที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ (เครียดจากการปรับเปลี่ยนกิจวัตรและข้อจำกัดด้านความช่วยเหลือ)

6. คนที่มีรายได้น้อย (เครียดจากความไม่มั่นคงด้านการงานและรายได้)

7. นักโทษในเรือนจำ คนไร้บ้าน และผู้ลี้ภัย (เครียดจากการถูกกีดกันจากสังคม) 

8. คนทั่วไปในสังคมที่อาจประสบปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านสาธารณสุขและการต้องพึ่งพาธนาคารอาหารมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญในฮ่องกงคาดว่าผลกระทบต่อจิตใจจะรุนแรงกว่าซาร์ส

ฮ่องกงได้รับผลกระทบอย่างหนักการแพร่ระบาดของซาร์สในปี 2546 และโควิด-2019 ที่กำลังระบาดอยู่นี้ ผู้เชี่ยวชาญจึงมองเห็นสัญญาณอันตรายที่เกิดขึ้นกับสภาพจิตใจของประชาชนที่คล้ายกัน โดยศาสตรจารย์พอล หยิปสิ่วไฟ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและป้องกันการฆ่าตัวตายของมหาวิทยาลัยฮ่องกง และ 1 ในผู้เชี่ยวชาญ 42 คนได้ออกมาเตือนว่า ฮ่องกงอาจมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าปี 2546 ที่โรคซาร์สแพร่ระบาดจนทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่เช่นกัน

ศาสตราจารย์หยิป กล่าวว่า อัตราการฆ่าตัวตายในฮ่องกงอาจสูงขึ้นในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด หากไม่มีมาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เพราะมาตรการเว้นระยะทางสังคมและกักตัวเองทำให้เกิดความรู้สึกเหงา กลัว และตื่นตระหนก และมาตรการเว้นระยะทางสังคมและการกักตัวเองในตอนนี้เข้มข้นกว่าตอนโรคซาร์สระบาดมาก นอกจากนี้ โควิด-19 เกิดต่อจากที่สถานการณ์ไม่สงบในฮ่องกงช่วงปี 2562 ยิ่งกระทบต่อสภาพจิตใจของชาวฮ่องกง

กลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสูงที่สุด ได้แก่ คนที่ตกงาน คนที่ประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก และคนแก่ที่รู้สึกอึดอัดกับการต้องอยู่แต่ในบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ โดยศาสตราจารย์หยิปกล่าวว่า แม้ผลกระทบด้านจิตใจจากโควิด-19 อาจยังดูไม่ชัดเจน เพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น อัตราการว่างงาน ยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างเต็มที่ 

เมื่อปี 2546 ที่โรคซาร์สระบาดในฮ่องกง มีผู้ติดเชื้อ 1,755 คนในฮ่องกง และมีผู้เสียชีวิต 299 ราย เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทำให้อัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 8.5 ในเมือนมิ.ย. 2546 ขณะเดียวกัน ปีนั้นอัตราการฆ่าตัวตายในฮ่องกงพุ่งสูงมากเป็นประวัติการณ์ที่ 18.6 คนต่อประชากร 100,000 คน โดยยอดรวมผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในปีนั้นอยู่ที่ 1,264 ราย และที่สำคัญ การฆ่าตัวตายของคนแก่ในปีนั้นเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 60 ราย สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการกักตัวส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพจิตของคนแก่

องค์กรด้านสังคม ซลเวอร์ไรเดอร์สและมหาวิทยาลัยจีนสรุปผลการสำรวจความเห็นของคน 807 คน ซึ่งร้อยละ 67.5 ตอบว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ โดยส่วนใหญ่ตอบว่าเรื่องโรคระบาดและการประท้วงต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงกวนใจพวกเขา ทำให้นอนไม่หลับ ส่วนองค์กรสังคมเพื่อชุมชนเปิดเผยผลสำรวจของนักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย 582 คนเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่า มากกว่าร้อย 70 ของเด็กจำนวนนี้ไม่มีคอมพิวเตอร์หรือมีคอมพิวเตอร์ที่เก่าเกินกว่าจะใช้เรียนออนไลน์ที่บ้านได้ 

ศาสตราจารย์หยิป แสดงความเห็นว่า การปิดบริการสาธารณะอย่าง พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ สนามกีฬาและฮอลล์คอนเสิร์ตมีผลกระทบอย่างหนักกับประชากรที่จนและขาดโอกาส ยิ่งตอกย้ำความไม่เท่าเทียมในสังคม เพราะคนฮ่องกงจำนวนมากอยู่ในบ้านเล็กๆ ที่ทำอะไรไม่ได้มากนัก ทางหนึ่งที่อาจทดแทนได้คือ รัฐบาลควรเปิดบริการออนไลน์มากขึ้นเพื่อช่วยให้คนสามารถติดต่อกับคนอื่นๆ ในสังคมได้

กระทรวงบริการสิ่งหย่อนใจและวัฒนธรรมของฮ่องกง ได้เปิดเว็บไซต์ให้คนเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แบบออนไลน์ และดูการแสดงของวงดนตรีท้องถิ่นได้ ด้านชาร์ลส ซีมัวร์ นักวิจารณ์ศิลปะกล่าวว่า แม้การเปิดให้เข้าร่วมเทศกาลทางวัฒนธรรมทางออนไลน์จะไม่สามารถทดแทนการเข้าไปเยี่ยมชมด้วยตัวเอง แต่เขาก็หวังว่าจะมีการส่งเสริมให้มีแหล่งรวมความบันเทิงให้คนดูอยู่ที่บ้านได้มากขึ้น เพราะแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นแหล่งทรัพยากรที่ยอดเยี่ยมสำหรับทุกคน ทั้งคนที่ไม่มีเงินซื้อตั๋ว หรือคนที่ไม่สามารถไปพิพิธภัณฑ์ได้ เพราะมีปัญหาด้านสุขภาพหรือเพราะเหตุผลอื่นๆ

หากคุณมีความคิดจะฆ่าตัวตายมีความเครียดและวิตกกังวล หรือรู้จักคนที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถโทรขอรับบริการปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือขอรับบริการด้านสุขภาพจิตจากโรงพยาบาลจิตเวชในสังกัดกรมสุขภาพจิตได้ทุกแห่งทั่วประเทศ

 

ที่มา : BBC, SCMP