"เชิญครับ กลับบ้านให้หมด แจ้งตั้งแต่เช้าแล้ว แจ้งเเม่งทุกวันเป็นเดือนเป็นปี พวกเร่ร่อนเนี่ย" น้ำเสียงดุๆ ของทีมรักษาความปลอดภัยประจำอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ขณะชี้นิ้วไล่ตะเพิดกลุ่มคนไร้บ้านไม่ต่ำกว่า 10 คน บริเวณใต้สะพานลอย เกาะพญาไท ในวันเคอร์ฟิววันแรก 3 เมษายน 2563
โควิด-19 และการกักตัวอยู่บ้าน กระทั่ง work form home อาจเป็นเรื่องเบื่อหน่ายสำหรับใครหลายคน แต่ยังมีอีกกลุ่มที่โหดหินแย่ยิ่งกว่านั่นคือ 'คนไร้บ้าน'
ภายใต้วิกฤตและพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร คนไร้บ้านมีชีวิตกันอย่างไร ?
'สิทธิพล ชูประจง' หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา บอกว่า คนไร้บ้านได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ค่อนข้างมาก พวกเขาเป็นกลุ่มประชากรที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบาง ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสุขภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โควิด-19 ยิ่งทำให้เกิดความยากลำบาก
"หารายได้ไม่ได้ รับจ้างไม่ได้ การเข้าถึงอาหารหรือแม้แต่การหาความปลอดภัยให้กับตัวเอง เรื่องอุปกรณ์ หน้ากาก เจล ก็เข้าไม่ถึง อย่าลืมว่าการทำความสะอาดตัวเองในแต่ละวันก็ยุ่งยากอยู่แล้ว ยิ่งภาวะนี้ยิ่งซ้อนทับเข้าไปใหญ่ คูณสองไปเลยจากปกติ"
พื้นที่คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ มีจุดใหญ่อยู่ที่ย่านหัวลำโพง อนุสาวรีย์ชัยฯ คลองหลอด ซ.นานา หากเป็นปริมณฑลจุดสำคัญคือ ท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรี โดยมีจำนวนทั้งหมดราว 1,000-1,500 คน
เมื่อเดือน ม.ค. 2563 มีการแถลงผลสำรวจคนไร้บ้านจาก สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย โดยพัฒนาเครื่องมือและวิธีวิทยาแบบ One Night Count (ONC) หรือ The Point-in-Time (PIT) เพื่อสำรวจแจงนับประชากรคนไร้บ้านทั้งประเทศ
ผลสำรวจพบ คนไร้บ้านทั้งหมด 2,719 คน เป็นเพศชายร้อยละ 86 และเพศหญิงร้อยละ 14 ช่วงอายุที่พบส่วนใหญ่ ร้อยละ 57 อยู่ในช่วงวัยแรงงานตอนปลาย อายุ 40-59 ปี และมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 18 คนไร้บ้านสูงอายุมีสัดส่วนการอยู่คนเดียวมากที่สุด ร้อยละ 60
กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีคนไร้บ้านมากที่สุด ร้อยละ 38 หรือประมาณ 1,000 คน รองลงมา คือ นครราชสีมา ร้อยละ 5 เชียงใหม่ ร้อยละ 4 สงขลา ร้อยละ 4 ชลบุรี ร้อยละ 3 ขอนแก่น ร้อยละ 3 และจังหวัดอื่นๆ
'สมบัติ เจริญศรี' ชายวัย 64 ปี ถกหน้ากากอนามัยลง ลิ้มรสชาติขนมปังที่เพิ่งได้รับฟรีจากมูลนิธิกระจกเงา
"น่ากลัวครับ ทุกวันนี้คนไร้บ้านหลายคนไม่กล้าสุงสิง ทักทายและแยกกันไป ไม่ตั้งวงเหมือนแต่ก่อน" เขาบอกถึงสถานการณ์โควิด-19
สมบัติ เป็นชาวสมุทรปราการ เขารู้ตัวเองว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากอายุมากแล้ว
"ผมป้องกันตัวเองด้วยหน้ากาก ซื้อเองบ้าง รับแจกบ้าง จำเป็นต้องสวมใส่ เพราะภูมิต้านทานต่ำกว่าพวกหนุ่มๆ" เขากล่าว แม้คืนนี้จะกินอิ่มแต่ไม่รู้ว่าจะได้นอนที่ไหน หลังมีประกาศเคอร์ฟิว
บางคนกลัวโรค บางคนไม่กลัวเหมือน 'ถนอม อุนวงค์' หนุ่มใหญ่วัย 45 ปี ที่บอกเสียงดังว่า "ตายก็ช่างหัวมัน"
"ธรรมดานะ ไม่ได้ปรับตัวอะไร ผมไม่กลัว นอนอยู่เมื่อกี้มันก็ไล่ ขนาดอยู่แบบนี้มันยังไล่เลย" ถนอมบอกอย่างมีอารมณ์ถึง รปภ.ประจำอนุสาวรีย์ชัยฯ ที่เพิ่งตะเพิดเขาออกมา
"คืนนี้ป้ายรถเมล์ก่อนเเหละ พรุ่งนี้ค่อยว่ากัน ก็ตามเวรตามกรรมอะ ง่ายๆ"
เดิมถนอมทำงานรับจ้างทั่วไป แต่ช่วงนี้ไม่มีงาน เงินร่อยหรอและอาศัยฝากท้องกับวัดอยู่เรื่อยๆ
"อยู่อย่างจำเป็น ของกินบางทีไม่มีก็เข้าวัด มันเป็นอย่างงี้" ชายลุคห้าวเป้งบอกต่อว่า จริงๆ เขามีบ้านอยู่ จ.มุกดาหาร ด้วยความยากจนข้นแค้นและมีพี่น้องจำนวนมาก ไม่เพียงพอต่อที่ดินทำกิน ทำให้ชายโสดอย่างเขาต้องเสียสละออกมาต่อสู้หาเงินในเมืองหลวงและอาศัยพื้นที่สาธารณะหลับนอน
'นิรันดร์ เกิดนวล' วัย 42 ปี เมื่อก่อนมีอาชีพรับจ้างทั่วไป เช่น แจกใบปลิว โบกธง ถือป้าย แต่วันนี้งานหดหาย เขาเรียกร้องให้ภาครัฐหรือมูลนิธิต่างๆ ช่วยเหลือด้านที่พักอาศัยแก่คนไร้บ้านในช่วงวิกฤต
"ลำบากมาก เมื่อก่อนนอนที่ไหนก็ได้ ตอนนี้ไม่ใช่ พวกเราไม่มีบ้านเป็นหลักเป็นแหล่ง อยากให้มีคนมาช่วยเหลือครับ"
"ชีวิตตกต่ำลงทุกวัน เศรษฐกิจก็แย่ และเจอโรคเข้าไปอีก เมื่อก่อนมีที่กิน ที่อยู่ ตอนนี้ไม่มีอะไรเหลือเลยครับ" น้ำเสียงสิ้นหวังจาก 'ภาคภูมิ แก้วกงพาน' แรงงานก่อสร้างหนุ่มแน่นวัย 32 ปี ที่เพิ่งตกงานและเป็นคนไร้บ้านมา 2 สัปดาห์
"ผมเห็นเขานอนตรงไหนก็นอนตามแบบเขา จำเป็นครับ ถ้าไม่นอนแบบเขาก็ไม่มีที่อยู่ กินบ้างไม่ได้กินบ้างก็อยู่ไปครับ ไม่กล้าไปขอใครหรอก มีเงินก็ซื้อกิน ไม่มีก็ไม่ได้กิน"
ภาคภูมิ เป็นชาวอุดรธานี รู้สึกผิดหวังในชีวิต แขนขายังดีร่างกายแข็งแรงครบ 32 ประการ แต่กลับหางานทำไม่ได้ สมัครงานที่ไหนช่วงนี้ไม่มีใครรับ "ท้อครับ" เขาส่ายหัว
เรื่องสุขภาพเขาดูแลตามข้อจำกัดที่ตัวเองมี มากกว่านั้นปล่อยตามยถากรรม
"พูดจริงๆ นะครับ คนมันจะตายก็ตาย คนมันไม่ตาย ก็ยังอยู่ใช้กรรมอย่างนี้ ตามที่ผมเชื่อนะ เเต่จริงๆ ผมก็อยากได้อุปกรณ์ป้องกัน พยายามดูแลตัวเองเต็มที่ ถ้าไม่ไหวก็เเล้วเเต่เวรแต่กรรม"
เมื่อถามถึงประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกบ้าน 22.00-04.00 น. ภาคภูมิหัวเราะ "แล้วเเต่เวรเเละกรรม ง่วงไหนก็นอนนั่นเเหละครับ"
'สิทธิพล' อธิบายว่า ปัจจุบันมูลนิธิกระจกเงาช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้าน 3 ส่วน คือ 1.อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง เช่น หน้ากากอนามัย สบู่และเจลแอลกอฮอล์ โดยระดมรับบริจาคจากสังคมเพื่อให้เพียงพอและต่อเนื่อง 2.อาหาร และ 3.พื้นที่ปลอดภัย ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาและนำเสนอต่อภาครัฐ
"เราควรจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัย มีความชัดเจน สามารถ social distancing ได้จริง มีระบบคัดกรองโรค ถ้าไม่มีการตระเตรียม หากสถานการณ์มันระบาดและกินวงกว้างกว่านี้ จะรับมือไม่ทันและเกิดปัญหาในเชิงระบบ"
หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ระบุว่า รัฐต้องเต็มที่กับการลงทุนใช้ทรัพยากรเพื่อดูแลกลุ่มคนที่เปราะบางทางสังคมในช่วงวิกฤต
"ถ้าไม่ลงทุน ไม่จัดการควบคุมให้ดี หากใครคนหนึ่งในกลุ่มคนไร้บ้านติด เนื่องจากเขาอยู่กันเป็นสังคม มีการติดต่อสื่อสารกันเป็นกลุ่ม จะเกิดการระบาดอย่างแน่นอน
"ย้ำว่าต้องเข้ามาดูแลนะครับ ไม่ใช่จัดการ อาจจะสร้างพื้นที่ที่เหมาะสมให้เขาได้อยู่ เป็นพื้นที่ที่อยู่บนหลักการให้บริการ ไม่ใช่สังคมสงเคราะห์" สิทธิพลบอกและยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศส ที่ตัดสินใจดัดแปลงโรงแรมเป็นที่อยู่ของคนไร้บ้านและห้ามออกจากที่พัก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า 'ประชากรทุกคนควรได้รับบริการขั้นพื้นฐานจากรัฐอย่างเท่าเทียม' ไม่กีดกันหรือแบ่งแยกว่าเขาเป็นใคร
ความเคลื่อนไหวจากภาครัฐล่าสุด เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 'จุติ ไกรฤกษ์' รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เปิดโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" บริการที่พักสะอาดและอาหารสามมื้อสำหรับคนไร้ญาติ และคนตกงาน ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถติดต่อได้ที่สายด่วน โทร.1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 24 ชั่วโมง
'จุติ' กล่าวว่า เตรียมพื้นที่ไว้รองรับ 4 จุด คือ อ่อนนุช ดินแดง ฝั่งธนบุรี ปทุมธานี รองรับได้ 1,000 คน และจะเพิ่มอีก 1 จุด ที่นนทบุรี พร้อมกันนึ้เตรียมรถไว้ตลอดเวลา หากต้องการให้ไปรับ สามารถโทรศัพท์ไปแจ้ง 1300 ได้
มูลนิธิกระจกเงา แสดงความกังวลและตั้งคำถามต่อการบริหารจัดการของโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ดังนี้
1.สถานที่ที่ท่านบอกว่าจะเตรียมไว้รองรับ 5 แห่งนั้น มีการจัดการอย่างไร ตั้งแต่ห้องน้ำ ที่หลับนอน ถูกจัดการไว้รองรับอย่างเหมาะสมเพียงใด ในสถานการณ์โรคระบาด
2.จากการให้ข่าวของท่านว่า สามารถดูแลคนทั้งหมด 1,400 คนได้ในสถานที่ 5 แห่ง เฉลี่ยแล้วก็ได้แห่งละ 280 คน สถานที่แต่ละแห่งนั้น สามารถจัดการเรื่อง social distancing (การเว้นระยะห่างทางสังคม) ได้จริงหรือไม่ ในจำนวนคนปริมาณมากขนาดนี้
3.ท่านสามารถเปิดสถานที่ทั้งหมดให้ดูได้หรือไม่ว่ามันมีศักยภาพในการจัดการปัญหาเรื่องนี้ได้จริง
4.เห็นท่านบอกว่ามีหมอมีพยาบาลมาดูแล มาวัดไข้ตรวจสุขภาพ เช้า-เย็น สามารถเป็นไปได้จริงหรือเพราะหมอและพยาบาลเขาน่าจะหนักแล้วในพื้นที่ปฏิบัติงานของเขา ข้อเท็จจริงคืออย่างไร
5.ระบบคัดกรองโรคและความซับซ้อนอื่นในกลุ่มคนไร้บ้าน เช่น คนไร้บ้านบางคนที่มีอาการจิตเวช หรือมีปัญหาโรคติดต่อ เช่น TB ในแต่ละแห่ง ท่านได้ทำการเตรียมไว้แล้วหรือยังครับ เตรียมการอย่างไรขอทราบรายละเอียดด้วยครับ
6.เห็นว่ามีรถไปรับคนไร้บ้านด้วย แต่เราพบกับตาตัวเองว่ารถ 1 คันของทางกระทรวง ยัดคนไร้บ้าน 5 คนขึ้นกระบะหลัง ที่มีแครี่บอยปิดอีกต่างหาก แล้วแบบนี้มันเหมาะสมหรือไม่ในสถานการณ์โรคระบาดแบบนี้
7.ตัวเลข 1,400 คน คือตัวเลขอะไรกันแน่ บางสื่อรายงานว่า คือตัวเลขคนตกงาน บางสื่อก็บอกตัวเลขคนไร้บ้าน และท่านทราบได้อย่างไรว่าคนแต่ละกลุ่มที่ว่า มีจำนวนเท่านี้จริง
8.เบอร์ 1300 ที่ท่านให้โทร เราลองโทรไปแล้ว ปลายสายแจ้งว่าคู่สายเต็มหมดเลย โทรไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ตั้งแต่ท่านได้เริ่มประกาศ
9.เมื่อสอบถามไปที่เจ้าหน้าที่ของท่าน เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลไม่ตรงกัน บางที่บอกว่าใช้ที่พัก 2 ที่เป็นที่รองรับ บางที่บอกว่าใช้แค่สถานที่เดียว แต่ท่านเองให้ข่าวว่ามีทั้งหมด 5 แห่ง อะไรคือข้อเท็จจริง
10.ท่านให้สัมภาษณ์ว่าเตรียมการณ์มาแล้ว 2 เดือนในเรื่องที่พัก แต่ NGOs ที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานในความรับผิดชอบอย่างมูลนิธิกระจกเงา เพิ่งประชุมหารือหาแนวทางกับทางกระทรวงกันอยู่เลย เราขอให้หน่วยงานของท่านแบทรัพยากรของกระทรวงกันเลยว่า พื้นที่ที่จะใช้รองรับคนไร้บ้าน เอาแบบเต็มที่ และถือหลักของ social distancing ด้วยจะได้ประมาณ 100 กว่าคน แล้วตกลงข้อเท็จจริงคืออย่างไร
11.การรองรับความปลอดภัยด้านสุขภาพให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนั้น มีความรัดกุมขนาดไหนในขณะที่ต้องเผชิญกับคนที่จะเข้ามากว่าเป็นร้อยคน หรือเป็นพันคน ตามที่รัฐมนตรีให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน
12.ท่านได้ทำความเข้าใจกับชุมชนรอบข้างของบ้านที่ท่านจะให้เป็นที่อยู่ชั่วคราวของคนไร้บ้านแล้วหรือยัง เพราะไม่อยากให้เกิดซ้ำรอยกับบ้านมิตรไมตรีอ่อนนุชเมื่อคืนนี้
"คำถามนี้มีขึ้นเพื่อให้ท่านได้ทบทวนว่า สิ่งที่ท่านทำจะไม่เป็นการทำร้ายตัวคนไร้บ้านในทางอ้อม เหมือนที่เกิดที่ขึ้นที่บ้านมิตรไมตรี อ่อนนุช เมื่อคืนที่คนไร้บ้านถูกชาวบ้านขับไล่ หรือคนไร้บ้านอาจจะติดเชื้อโรค เมื่อท่านไม่มีการเตรียมการที่ดี และไม่ได้วางบนหลักการการจัดการสถานที่ และบริการในบริบทของสถานการณ์โรคระบาด และความเป็นห่วงดังกล่าว เราได้หมายรวมถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ของท่านด้วย" สิทธิพล กล่าว