ไม่พบผลการค้นหา
'พ.ร.บ.ประมง' ฉลุย! หลังสภาฯ เอกฉันท์รับหลักการ 'จาตุรนต์' หนุนร่างฉบับ 'ครม.-เพื่อไทย' เข้าใจวิถีชีวิตชาวประมง ด้าน 'พิธา' จวกอำนาจนิยมกดขี่ ขณะ 'รมว.เกษตร' ขอ สส. ร่วมสร้างบุญผ่าน กม.

22 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ที่มี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่สอง เป็นประธานในที่ประชุม วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง ปี 2558 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ และมีร่างทำนองเดียวกันอีก 7 ฉบับ โดยเปิดให้สมาชิกอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง

ในช่วงหนึ่ง จาตุรนต์ ฉายแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้เปรียบเทียบความแตกต่างของร่างกฎหมายฉบับที่ ครม. เสนอ กับร่างฉบับที่พรรคการเมืองเสนอ ว่ามีเหตุผลเพียงพอให้สนับสนุนร่างดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา ชาวประมงได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากโดนใบเหลืองจากสหภาพยุโรป เพราะขณะนั้นรัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงให้ใบเหลือง ซึ่งเป็นการทำเกินไปกว่าที่สหภาพยุโรปขอ โดยหวังว่าจะได้รับความยอมรับจากนานาประเทศมากขึ้น จึงมีการออกคำสั่ง คสช. ไม่น้อยกว่า 20 ฉบับ ที่ขัดต่อหลักกฎหมาย ขาดมนุษยธรรม ขัดอนุสัญญาระหว่างประเทศ

จาตุรนต์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับร่างของพรรคเพื่อไทย เสนอปลดล็อค พ.ร.ก.ประมง ให้คุ้มครองอาชีพประมง ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ให้กลุ่มประมงพื้นบ้านสามารถทำประมงในพื้นที่นอกทะเลชายฝั่งได้ ให้สามารถดัดแปลงเครื่องมือการทำประมงโดยรัฐกำหนดเครื่องมือต้องห้ามอย่างชัดเจน แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการฝ่าฝืนกฎหมายร้ายแรงให้เหมาะสม โดยไม่กำหนดให้เรือประมงต้องถูกริบ

"ขณะนี้มีร่างของ ครม. เข้ามา เราพิจารณาแล้วก็เห็นว่ามีประเด็นสอดคล้องอย่างมีนัยสำคัญ กับเป้าหมายในร่างของพรรคเพื่อไทย คือการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำประมง คุ้มครองอาชีพประมง มาตรการเหล่านี้ล้วนมาจากการคำนึงถึงวิถีการทำประมงจริงๆ" จาตุรนต์ กล่าว

ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ขอเตือนสติเพื่อนสมาชิก ร่าง พ.ร.บ. ประมงนี้ นำเข้าสภา ตั้งแต่ 21 เม.ย. 2558 จนถึงวันนี้ แสดงให้เห็นถึงแรงเฉื่อยของสภาในการแก้ปัญหา ปี 2558 ที่เราผ่านกฎหมายประมงผิดกฎหมายและไร้การควบคุม หรือ IUU ที่ระบุชัดว่าเราจะต้องปฏิบัติตามหลักการใช้เขตอำนาจรัฐนอกดินแดน (Long arm jurisdiction) และหากประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามก็จะไม่สามารถส่งสินค้าประมงไปขายสหภาพยุโรปได้ จึงขอเตือนสติอีกครั้งว่า ประเทศไทยส่งออกประมง 2 แสนล้านบาท ส่งออกไปยุโรปเพียงแค่ 6.7% เท่านั้น แต่คนที่ต้องรับกรรมคือพี่น้องประชาชนที่ไม่ได้ส่งออกไปยุโรป คนส่งออกไม่ได้รับโทษ คนที่รับโทษไม่ได้ส่งออก 

"นี่คือความอยุติธรรมตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา ที่ประชาชนน้ำตาไหลแล้ว น้ำตาไหลเล่า วันนี้เป็นวันที่เราจะร่วมนิมิตหมายทุกคน ทุกพรรค ผ่านกฎหมายนี้ ตั้งคณะกรรมาธิการ และผ่านกฎหมายโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้" พิธา กล่าว

ขณะที่ รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า พยายามหลับตาและนึกถึงพี่น้องชาวประมงทั้ง 22 จังหวัด ว่า 10 ปีที่ผ่านมา นึกสภาพสมัยก่อนที่ไม่มีกฎหมายมาบังคับ ประมงไทยถือเป็นเจ้าสมุทร ทำรายได้มหาศาล แต่ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา อุปสรรคกฎหมายมาบังคับไม่ให้ชาวประมงอยู่รอดได้ มีหนี้สินและคดีความติดตัว ยืนยันว่ากฎหมายที่รัฐบาลร่างมาในวันนี้ เป็นตัวแทนของพี่น้องชาวประมง ตนในฐานะ ครม. วันนี้ตนขอให้เพื่อนสมาชิกมาร่วมทำบุญกัน ทำบุญให้กับพี่น้องคนไทย โดยเฉพาะครอบครัวชาวประมงทั้ง 22 จังหวัด 

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 8 ฉบับ ด้วยมติเอกฉันท์ 416 เสียง ไม่มีเสียงไม่เห็นด้วย ตั้งคณะกรรมาธิการ 37 คน โดยใช้ร่างของ ครม. เป็นร่างหลัก