ไม่พบผลการค้นหา
'เพื่อไทย' เปิดวงเสวนา 'ลุ่มเจ้าพระยา ชี มูล ท่วมขนานใหญ่' ชี้ทางแก้ท่วม 'ปลอดประสพ' แนะรัฐบาลออกนโยบายให้สอดคล้องกับธรรมชาติ แค่ลงพื้นที่ให้กำลังใจไม่พอ ควรเสนอมาตรการให้เป็นรูปธรรม

พรรคเพื่อไทย จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ 'ลุ่มเจ้าพระยา ชี มูล ท่วมขนานใหญ่ เพื่อไทยแก้ได้' นำโดย ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี กิตติ์ธัญญา วาจาดี ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย และ จิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย โดย อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขาธิการ และกรรมการคณะยุทธศาสตร์และการเมือง ดำเนินรายการ

ปลอดประสพ กิตติ์ธัญญา -25E5-4FFD-9E44-1BF0CD8C7032.jpeg
ให้กำลังใจอย่างเดียวไม่พอ

ปลอดประสพ กล่าวว่า รัฐบาลต้องตระหนักว่านี่เป็นอุทกภัยใหญ่ในรอบหลายปี น้ำท่วมครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 3 ของภาคอีสานทั้งหมด สถานการณ์ผ่านมา 2 เดือน ยังไม่มีทีท่าจะทุเลา ประชาชนกว่า 10 ล้านคนเดือนร้อนในหลายมิติ ความช่วยเหลือของรัฐบาลไม่ทันการณ์ ขาดความแม่นยำ และไม่เพียงพอ ทั้งยังสังเกตเห็นความอับจนในการหาหนทางแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทำให้ประชาชนไม่เห็นความหวังเลย

การแจ้งเตือนภัยไม่ชัดเจนแม่นยำ ไม่ทันเวลา มีเรื่องเดียวที่ชมได้คืออุตุนิยมวิทยา ที่สามารถบอกได้ว่าจุอเริ่มต้นของพายุอยู่ที่ใด เคลื่อนทางใด เข้าไทยทางไหน แต่พอเข้ามารัฐบาลก็เริ่มเป๋ว่าจะคาดการณ์อย่างไร แต่ก็พอรับได้ ทว่าเรื่องน้ำท่วมนี่รับไม่ได้ เพราะไม่สามารถแจ้งเตือนประชาชนด้วยความแม่นยำได้ว่าต้องระวังภัยบริเวณใด อีกทั้งการอพยพ ก็ทำแหล่งพักพิงชั่วคราวอย่างลุกลน เช่นใน จ.อุบลราชธานี ที่ต้องย้ายแล้วย้ายอีก

"ท่านล้มเหลวในการเลือกยุทธวิธีในการบริหารจัดการสภาวะวิกฤต บางท่านอาจจะมีความเป็นทหารมากไปหน่อย ท่านใช้วิธี Flood Control ในภาคอีสานไม่ได้ เพราะท่านไม่มีเครื่องมือ ไม่มีเขื่อน ฝาย คูคลองระบายน้ำ ไม่มีแม้กระทั่งเครื่แงสูบน้ำ พื้นที่ภาคอีสานมีความลาดชันสูงกว่าภาคกลาง ไม่ควรใช้วิธี Flood Control ท่านคิดว่าท่านสั่งน้ำได้อย่างนั้นหรือ ในภาคอีสานท่านต้องใช้วิธี Flood Mitigation หรือวิธีการบรรเทาผลกระทบ"

ปรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเป็นอยู่กับความเปลี่ยนแปลง (Resilience Approach) ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศบนโลก ไมาอาจฝืนได้ ท่านต้องยึดแนวการพัฒนาที่สอดคล้องกับธรรมชาติ (Nature-Based Solution) และต้องปรับปรุงผังเมืองให้พร้อมรับมือภาวะน้ำมากและน้ำหลากแรง ทบทวนสถานที่ราชการและสิ่งก่อสร้างให้มีความมั่นคงยั่งยืนในภาวะน้ำท่วมสูง เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าน้ำจะมามากแน่นอนไปอีกเป็นเวลานาน

"ความเป็นห่วงของพวกท่าน ที่ไปเยี่ยมเยือนประชาชนก็ถือเป็นมารยาทที่ดี และท่านก็ไปปลอบว่าขอให้อดทน ทำนองนั้น แต่เท่าที่ผมสัมผัส ประชาชนเขาไม่ได้ต้องการกำลังใจแล้วตอนนี้ เขาต้องการทราบว่าเขาจะอยู่รอดไหม และวันหน้าเขาและลูกหลานจะอยู่อย่างไร คราวหน้าท่านไม่ต้องให้กำลังใจ แต่บอกไปเลยว่าวันหน้าท่านจะรอด และเหตุการณ์จะไม่เกิดขึ้นอีกเพราะผมจะทำมาตรการแบบนี้"

กิตติ์ธัญญา -5BE8-43FD-B70B-03F8C12E0EE7.jpeg
'วารินชำราบ' จมมิด

ด้าน กิตติ์ธัญญา เผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมใน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี นั้น อยู่ในภาวะวิกฤตหนัก ระดับน้ำสูง อีกนิดเดียวจะท่วมเท่าปีที่ท่วมสูงสุดคือปี 2521 ประชาชนมักถามว่าจะต้องทนทุกข์ทรมานกับเหตุการณ์น้ำท่วมไปถึงเมื่อไร การเตือนภัยที่ไม่เป็นระบบส่งผลให้ประชาชนคาดเดาระดับน้ำไม่ถูก 

สำหรับอุทกภัยครั้งนี้ พื้นที่ไร่นาที่ไม่เคยท่วม ก็ท่วม ประชาชนต้องเอาชีวิตรอดหนีตายก่อน ถึงขั้นต้องมาคิดต่อว่า หลังน้ำลงแล้วจะอยู่กันอย่างไร บ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะล้วนเสียหาย จะเอาที่ไหนมาจ่ายค่าซ่อมเพราะไม่ได้ทำงานมาเกือบเดือน ถือเป็นปัญหาระยะยาว

อ.วารินชำราบ มีฝายมาก แต่ขาดการขุดลอกดูแล มีการหารือในสภาตลอดแต่ไม่ได้ทำ ถึงคราวน้ำมาฝายที่ตื้นเขินก็ทำให้น้ำเอ่อท่วมพื้นที่อีกครั้ง จ.อุบลราชธานี ประสบปัญหาน้ำท่วมไร่นาตั้งแต่ เม.ย. 2565 มาวันนี้ก็เจอหนักอีก รัฐบาลช่วยอะไรได้บ้างนอกจากขับรถผ่านแล้วปลอบใจ แต่ไม่แสดงแนวทางการช่วยเหลือที่ไม่เป็นรูปธรรม

"พอไม่ท่วมน้ำก็แล้ง อ.วารินชำราบ เสียชื่อ วารินแปลว่าน้ำ แต่พอหน้าแล้ง น้ำแห้ง ประชาชนขาดแม้แต่น้ำกินน้ำใช้ นี่คือสิ่งที่ไม่ยุติธรรม คุณมีทั้งงบประมาณ บุคลากร ทุกๆ กระทรวงที่สามารถเนรมิตได้ มาปรับให้น้ำสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหน้าแล้งและหน้าฝน เชื่อว่าเขาทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำว่าสนใจในเรื่องใด น้ำคือชีวิต ถ้าน้ำมา เงินดี" กิตติ์ธัญญา ระบุ

จิรพงษ์ BE95-E605B5177050.jpeg
ริมน้ำเมืองนนท์อ่วม

ขณะที่ จิรพงษ์ ได้ชี้ให้เห็นภาพรวมในปัจจุบันของสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่มีการปล่อยน้ำส่วนเกินล้นออกมาในพื้นที่ชุมชนจนถึงแนวคันกั้นน้ำใน จ.นนทบุรี ในปี 2554 นั้น เทศบาลนครนนทบุรี จะมีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 

ในสถานการณ์ปกติ น้ำจะไหลผ่านเดอะมอลล์งามวงศ์วานลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ปัจจุบันการระบายน้ำเป็นไปโดยล่าช้า และยังล้นทะลักผ่านแนวกั้น ชุมชนริมแม่น้ำยังคงได้รับความเดือดร้อน

"แม้มีเครื่องสูบน้ำที่เพียงพอ ชาวบ้านก็ยังต้องพึ่งตัวเอง บางทีค่าน้ำมันเครื่องสูบน้ำยังแพงกว่าค่าซ่อมแซม จึงต้องปล่อยให้จมไป เพราะสู้ค่าใช้จ่ายเดือนกว่าแสนบาทไม่ไหว หากขาดการบริหารจัดการในภาพรวม ก็จะเป็นการแก้ปัญหาแบบป้องใครป้องมัน" จิรพงษ์ ระบุ

ส่วนนี้เป็นปัญหาของรัฐบาล และรัฐบาลในอนาคตว่า ระบบรองรับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถรองรับไปได้เท่าไหร่แล้ว หรือจะเกิดเหตุการณ์แบบป้องใครป้องมัน ทำให้ระดับแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงที่จะส่งผลกระทบเช่นกัน ส่งผลลบต่อความเป็นอยู่และภาวะเศรษฐกิจของ จ.นนทบุรี เป็นอย่างมาก