ทว่าช่วงที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวที่มี ‘นัยสำคัญ’ อยู่ตลอด เป็นช่วงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นิ่งเงียบ ซุ่มทำงานที่กระทรวงกลาโหม เปิดกระทรวงให้บุคคลต่างๆ เข้าพบปะพูดคุย ลงพื้นที่เป็นครั้งคราวให้มีชื่อบนหน้าสื่อ แต่เลี่ยงเจอสื่อเพื่อไม่ให้เกิด ‘คำพูด’ ที่อาจเป็น ‘เงื่อนไข-ผลลบ’ ต่อสถานการณ์มากขึ้น
เริ่มจากที่มี ‘เอกสารหลุด’ ที่อ้างเป็นคำชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญ ของ พล.อ.ประยุทธ์ และ มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีต ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปี 2560 ที่ชี้ถึงวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มต้นจากปี 2560 หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ใช้คำว่า ‘ขาดตอน’ จาก รธน. ชั่วคราว 2557 ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 2 ฝ่าย ก็ไม่เคยออกมา ‘คอนเฟิร์ม’ เลยว่าเอกสารจริงหรือไม่
การที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว แง่หนึ่งก็เสมือนเป็นการ ‘โยนหินถามทาง’ ที่สามารถ ‘หยั่งกระแส’ จากสังคม หรืออีกด้านก็เป็น ‘โหมกระแส’ ได้ให้ลุกฮือได้เช่นกัน ซึ่งต้องเช็คต้นทางว่าที่มา ‘เอกสารหลุด’ ที่อ้างเป็นคำชี้แจงมาจากฝั่งใดกันแน่
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีเอกสารหลุด โดยแสดงความ ‘ไม่สบายใจ’ พร้อมสั่งสอบหาสาเหตุถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนความเห็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ศาลรับฟัง แต่ไม่ได้เอามาเป็นเกณฑ์พิจารณา ศาลจะยึดสำนวนคดีเป็นหลัก และตุลาการทั้ง 9 คน ล้วนเป็นอิสระ
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุม และรายงานการประชุม กรธ. ครั้งที่ 501 เมื่อครั้ง 11 ก.ย. 2561 ซึ่งมีวาระการประชุม รับรองบันทึกการประชุม ครั้งที่ 500 วันที่ 7 ก.ย. 2561 ให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการถกเถียงเรื่องสาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัย โดยให้จัดส่งภายใน 13 ก.ย.ที่ผ่านมา จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมนัดพิเศษ พิจารณาหลักฐานที่มีว่าเพียงพอแล้ว พร้อมนัดวันลงมติวินิจฉัย 30 ก.ย.นี้
ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลและเชิงสะพานมัฆวานฯ ตรงข้าม บก.ทบ.ราชดำเนิน มีการชุมนุมของกลุ่มสภาเครือข่ายประชาชนอีสาน (สอส.) สภาประชาชน 4 ภาค ได้นำป้ายไวนิลพิมพ์ข้อความ “ขอกอดลุงป้อมหน่อย นายกฯของประชาชน” พร้อมรูป พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทนนายกฯ ติดตั้ง
ซึ่งการขึ้นป้ายเช่นนี้ถูกตีความอย่างมากว่าเป็นการชุมนุมสนับสนุนฝั่งรัฐบาล หรือ ‘เสี้ยม’ ให้ พล.อ.ประวิตร เป็น นายกฯ หรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังติดหล่มวาระ 8 ปีอยู่
แต่อีกแง่หนึ่งก็มีการมองว่าเป็นมา ‘ยึดพื้นที่’ ก่อนกลุ่มอื่นๆ ช่วงก่อนวันที่ 30 ก.ย.นี้ ที่ศาล รธน. จะชี้ชะตา พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ โดยเฉพาะบริเวณหน้าทำเนียบฯ ที่เป็น ‘จุดสำคัญ’ ในการชุมนุม
ซึ่งในขณะนี้มีกลุ่มนัดเคลื่อนไหวเบื้องต้น คือ คณะหลอมรวมประชาชน นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์ นัดชุมนุมแยกราชประสงค์ และบางกลุ่มได้นัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ช่วงเย็น 30 ก.ย.นี้ ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อ ‘ยกเลิก’ การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะมีผล 1 ต.ค.นี้ ทำให้กลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ส่งสัญญาณเริ่มขยับมากขึ้น
ล่าสุด กกต. ได้ออก ‘ระเบียบหาเสียง’ ช่วงกรอบเวลา 180 วัน ก่อนที่รัฐบาลจะครบวาระ 23มี.ค.66 อีกทั้งเปิดปฏิทินเตรียมเลือกตั้ง หากไม่มีการ ‘ยุบสภา’ เล็งเปิดคูหา 7 พ.ค. 2566 เว้นแต่มีการยุบสภา จะต้องจัดเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน
ซึ่งการออก ‘ปฏิทินเลือกตั้ง-ระเบียบหาเสียง’ ของ กกต. ก็เท่ากับเป็นการ ‘เข้าโหมดเลือกตั้ง’ แล้ว ในแง่หนึ่งก็ช่วย ‘ลดแรงกระแทก’ ต่อเหตุการณ์ 30 ก.ย.นี้ ที่จะชี้ชะตา พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งฝั่ง ‘ทีมไทยคู่ฟ้า’ ที่อยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต่างเชื่อว่าจะได้ไปต่อ เพื่อจัดการประชุมเอเปคช่วงกลางเดือน พ.ย.นี้ จากนั้นก็เตรียมเข้าสู่ช่วงยุบสภา ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นหลังประชุมเอเปค 2022 หรือหลังเทศกาลปีใหม่ 2566 ไปแล้ว
ล่าสุดเจ้าหน้าที่กองยานพาหนะ ทำเนียบรัฐบาล ได้เข้ามาตรวจเช็ครถประจำตำแหน่งนายกฯ ตามวงรอบ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ส่งคืนรถ หลังถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เมื่อ 5ก.ย. ที่ผ่านมา โดยเป็นการตรวจเช็คตามวงรอบ ที่ปกติจะทำทุกวันจันทร์ แต่ในสัปดาห์นี้มาตรวจเช็ควันศุกร์ 23ก.ย. ช่วง 1 สัปดาห์ ก่อนถึงวันชี้ชะตา พล.อ.ประยุทธ์ จึงถูกตีความเป็นการ ‘อุ่นเครื่องรอ’ หรือไม่
จะเห็นได้ว่าช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นถึงเหตุการณ์ ‘ลดแรงกระแทก-ลดอารมณ์’ ต่างๆ รวมทั้งติดกันชนให้กับ ‘รัฐ(บาล)นาวา’ ต่อเหตุการณ์ชี้ชะตา พล.อ.ประยุทธ์ 30 ก.ย.นี้ ที่ถือเป็น ‘หมุดหมายสำคัญ’ ของประเทศหมากเกมการเมืองจะเปลี่ยนไปด้วย
ไม่ว่าผลจะออกเป็นอย่างไร ทั้งการเมือง ‘ในระบบ’ และ ‘บนถนน’ ที่จะมาควบคู่กัน เป็นช่วง ‘ทางแพร่ง’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะตัดสินใจว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้