ไม่พบผลการค้นหา
มีการปล่อยข่าวจากฝ่ายการเมืองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม เคยปรารภ ‘ลาออก’ มาแล้ว 3 ครั้ง แต่ยังไม่สามารถออกได้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้สวมบท ‘อารมณ์ดี’ แต่กลับถูกมองว่า ‘หน้าชื่นอกตรม’ เพราะคำพูดสวนทางกับแววตาที่สื่อออกมา ในการชี้แจงถึงข่าวปล่อยนี้ แต่ยังคงยืนยันว่าจะทำงานจนกว่าจะไม่ได้ทำ

“ทำไม มารู้ใจฉันได้อย่างไร วันนี้ไม่ต้องมาอ่านใจฉันหรอก มันเป็นเรื่องของใจฉัน ก็ยังทำงานอยู่นี่ไง ทำงานอยู่นี่ ไม่มีคำว่าท้อแท้ แต่ก็ผอมลงหน่อยเท่านั้นแต่ไม่ได้เป็นโรคอะไรทั้งสิ้น ยังแข็งแรง ทั้งกายและใจ เพราะทำเพื่อคนอื่น และอย่างไรก็ต้องทำจนกว่าจะไม่ได้ทำก็เท่านั้นเอง” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ดังนั้นจึงต้องถามต่อว่า ‘ปัจจัย’ ใดบ้างที่จะทำให้ไม่ได้ทำงานต่อ ซึ่ง นายกฯ ตัดบทตอบกลับสั้นๆ ว่า “ไม่รู้ซิ” แทน ซึ่ง ‘คำตอบที่แท้จริง’ ก็เป็นที่คาดเดาในสังคมไปในทิศทางเดียวกัน

ท่ามกลางสถานการณ์ชุมนุมที่ ‘ยกระดับ’ มากขึ้น รวมทั้งมาตรการของ ตร. ก็ ‘ยกระดับ’ เช่นกัน โดยเฉพาะเหตุการณ์หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พ.ย. มีเหตุปะทะระหว่างกลุ่มราษฎรกับกลุ่มไทยภักดีเกิดขึ้น รวมทั้งในพื้นที่มีการใช้อาวุธปืนและสิ่งเทียมอาวุธใส่กัน และภาพพื้นที่หลังการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาและหน้า สตช. เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563

ประยุทธ์ -48E6-A621-E5FB153CDD84.jpeg

ในสถานการ์เช่นนี้ ‘เงื่อนไข’ การทำรัฐประหารยัง ‘ติดลบ’ หรือไม่ หลัง ‘บิ๊กบี้’ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “ติดลบ” แต่ผ่านมา 1 สัปดาห์ สถานการณ์เปลี่ยนอย่างรวดเร็วอีกครั้ง แต่ก็เชื่อกันว่า ‘โอกาส’ เกิดรัฐประหารยังไม่เกิดขึ้น ด้วยสถานการณ์ยังไม่สุกงอม รวมทั้งกลไก ‘รัฐสภา-รัฐบาล’ ยังคงเดินหน้าได้ ยังไม่เกิดสภาวะ ‘สุญญากาศ’ แต่การงัดข้อระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐบาล ยังคงดำเนินต่อไป จนกว่าการตั้ง ส.ส.ร. จะเกิดขึ้น ซึ่งต้องดูรูปร่างและที่มาของ ส.ส.ร. จะเป็น ‘ชนวนเงื่อนไขใหม่’ ในการชุมนุมอีกหรือไม่

ซึ่งตรงกับที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เชื่อว่าสถานการณ์ยังคง “มีทางออก” โดยชี้ว่าการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง ขอให้ทุกคนมีสติ มองกระจกให้รอบด้าน อย่ามองด้านเดียว ให้มองว่าตอนนี้ควรทำอะไร โดยในขณะนี้ ผบ.เหล่าทัพ ก็อย่างอยู่ในที่ตั้งและโลว์โปร์ไฟล์ตัวเอง ปฏิบัติภารกิจในหน่วยเท่านั้น

ในส่วนของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ หลังมีรายงานข่าวว่า ได้สั่งการหน่วยทหารใกล้รัฐสภาทั้ง ปตอ. , ม.พัน.4 รอ. และ ม.1 รอ. ทำการติดตามและระวังสถานการณ์ชุมนุม เมื่อวันที่ 17-18 พ.ย. ดูแลไม่ให้ผู้ชุมนุม 2 ฝ่ายเผชิญหน้ากัน แต่ พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก ทบ. ได้ออกมาปฏิเสธรายงานข่าวดังกล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เป็นข่าวบิดเบือน เพราะทหารไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดูแลการชุมนุม

ในส่วนหน่วยทหารที่อยู่ใกล้กับรัฐสภาที่สุด คือ ม.พัน.4 รอ. ที่อยู่ตรงข้ามอาคารรัฐสภา ซึ่งหน่วยได้ทำการป้องกันพื้นที่ทหาร โดยใช้ลวดหนามกั้นแนวประตูหน่วยทหาร และกั้นด้วยรถบรรทุกทหารอีกชั้น ด้านหลังรถบรรทุกมีกำลังพลนั่งอยู่ที่พื้นเป็นแถว สวมเสื้อขาว สวมหมวกนิรภัยสีขาว กางเกงลำลองสีดำ ไม่ได้สวมชุดเสื้อเหลือง-กางเกงดำเช่นเดิม

สำหรับหน่วยขุมกำลังปฏิวัติเดิมที่อยู่ในพื้นที่ กทม. ได้ถูกโอนออกจาก ทบ. รวมทั้งมีการปรับโครงสร้างหน่วย ทบ. ขึ้นใหม่ ที่เป็นขุมกำลังปฏิวัติเดิมด้วย ทั้งนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 แทน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่เกษียณฯจาก ผบ.ทบ. ไปเป็น รองเลขาธิการพระราชวัง

ม็อบ 17 พ.ย. เสื้อเหลืองปะทะคณะราษฎรม็อบ 17 พ.ย. ปะทะแยกเกียกกาย

ล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น ‘รองผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’ จากเดิมเป็นเพียง ‘กรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และ ที่ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’ ทั้งนี้ม็อบราษฎรได้นัดชุมนุมใหญ่ที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ หรือวังลดาวัลย์เดิม 25พ.ย.นี้ ด้วย หลังก่อนหน้านี้ม็อบราษฎรเคยจะไปยื่นจดหมายที่สำนักพระราชวัง แต่สุดท้ายจากการเจรจากับ ตร. ก็สุดเพียงหน้าศาลฎีกากับศาลหลักเมืองเท่านั้น

ทั้งนี้แกนนำผู้ชุมนุมได้ประกาศชุมนุมยืดเยื้อยาว 7 วัน ตั้งแต่ 25พ.ย.เป็นต้นไป ซึ่งจะไปจบที่ 2 ธ.ค.63 ถือเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยกรณีบ้านพักทหาร ใน ร.1 รอ. ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าขัดคุณสมบัตินายกฯ ตาม รธน. หรือไม่ ซึ่งจะมีผลทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งได้ นำมาซึ่ง ครม. ต้องพ้นสภาพไปด้วย

แต่ดูจากสัญญาณที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับ ก็พอจะเห็นบทสรุปได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ จึงต้องจับตาว่าม็อบราษฎรจะมาชุมนุมที่ดังกล่าวหรือไม่

สำหรับการชุมนุมยืดเยื้อ 7 วัน ที่แกนนำประกาศนั้น ในเบื้องต้นมีการมองว่าอาจเป็นการจัดกิจกรรม ‘แรลลี่’ หรือ ‘ชัตดาวน์’ พื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งยังอยู่ในการหารือของบรรดาแกนนำกลุ่มราษฎร เพราะที่ผ่านมากลุ่มราษฏรชุมนุมค้างคืนมาแล้ว 2 ครั้ง คือ วันที่ 19-20ก.ย. และวันที่ 14-15ต.ค. ที่ผ่านมา

รวมทั้งไปชุมนุม ‘พื้นที่เชิงสัญลักษณ์’ ในการต่อสู้ตาม 3 ข้อเรียกร้องมาหลายพื้นที่ ดังนั้น ‘โจทย์’ ของฝั่งผู้ชุมนุมจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกแถลงการณ์นายกฯ บังคับใช้กฎหมายเด็ดขาดทุกฉบับและทุกมาตรา เพื่อควบคุมการชุมนุมที่รุนแรงมากขึ้น อาจเกิดความเสียหายต่อประเทศและสถาบันฯ

ม็อบ 18 พ.ย. ไมค์ ระยอง

ซึ่งทั้ง ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ ล้วนมีประสบการณ์รับมือการชุมนุมมาตั้งแต่สมัย นปช. เมื่อ 10 ปีก่อน

โดยในขณะนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. และ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น รอง ผบ.ทบ. ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีการตั้ง ศอฉ. ขึ้นมา โดยในวันนี้ทั้ง 3ป. ขึ้นมาเป็น 3 ขุนพลหลัก

โดยเฉพาะชื่อ พล.อ.อนุพงษ์ แม้โลว์โปร์ไฟล์ ไม่ถูกผู้ชุมนุมโฟกัส แต่อย่าลืมว่า พล.อ.อนุพงษ์ เป็น รมว.หมาดไทย มายาวนานกว่า 6 ปี แน่นอนว่า ‘บารมี’ ย่อมแผ่ขยายในระดับท้องถิ่น ในส่วนกองทัพ-ตร. ก็อยู่ภายใต้การดูแลของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ในฐานะ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ทำหน้าที่คุมเกมในสภาด้วย

ดังนั้นโจทย์ต่อ ‘ม็อบราษฎร’ จึงเป็น ‘โจทย์หลัก’ ของทั้ง 3ป. ในการประคองสถานการณ์ต่างๆ ที่ยัง ‘ไร้ทางออก’ เพราะเดิมพันครั้งนี้ ของแต่ละฝ่ายสูงยิ่ง ยุทธวิธี ‘เจรจา’ ยังคงดำเนินต่อไป เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ ไม่ได้สู้กันเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่เป็นการสู้กันระยะยาว เพราะต่างสู้กันบนเงื่อนไขของเวลา

ปีศาจกาลเวลา !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog