ไม่พบผลการค้นหา
ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล เขียนบทความเผยเหตุผล 8 ข้อที่ไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีก

เว็บไซต์ไทยพับลิก้า เผยแพร่บทความของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ให้เหตุผล 8 ข้อที่ไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีก

1. ใน 3 ปีหลังของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาลได้ขาดวินัยทางการคลังอยู่ตลอด งบรายจ่ายเพิ่มขึ้นกว่ารายได้ ขาดดุลเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อขาดดุลประจำปีเพิ่มอีกไม่ได้ก็ใช้วิธีอนุมัติงบประมาณที่มีผลผูกพันในอนาคต เท่ากับนำเงินรายได้ในอนาคตมารองรับโครงการจ่ายเงินที่อนุมัติ จนถึงปีงบประมาณปัจจุบันมีการผูกพันงบประมาณไปในระยะ 5 ปีข้างหน้าถึง 1,178,275 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ งบผูกพันที่สูงที่สุดเป็นของกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการคมนาคมของประเทศที่ต้องใช้เวลาในการก่อสร้างหลายปี จึงต้องตั้งเป็นงบผูกพันไว้ ก็เป็นที่ยอมรับได้

แต่งบผูกพันที่สูงเป็นอันดับสองเป็นของกระทรวงกลาโหม จำนวนสูงถึง 177,294 ล้านบาท (ในขณะที่งบประจำปีเป็นเพียง 227,000 ล้านบาท) เป็นเรื่องที่ดูแล้วขาดวินัยการคลัง นอกจากการสร้างเรือดำน้ำซึ่งต้องใช้เวลาหลายปี (ประมาณ 30,000 ล้านบาทเศษ) และยานยนต์บางประเภทแล้ว อาวุธต่างๆ ไม่ได้ใช้เวลานานในการสร้าง ไม่จำเป็นต้องตั้งเป็นงบผูกพันแต่อย่างใด สามารถรอตั้งเป็นงบประจำปีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาวะที่การคลังขาดดุลต่อเนื่องมานับสิบปีแล้ว จำเป็นที่เราต้องประหยัดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และทยอยจัดซื้อเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ถ้าไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่าก็ไม่น่าจะซื้อ เช่น กรณีเรือดำน้ำ เป็นต้น

หากพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีกครั้ง งบประมาณคงจะขาดดุลเพิ่มขึ้นและผูกพันมากขึ้น หนี้สินจะพอกพูนขึ้นจนทำให้ฐานะการคลังของประเทศอ่อนแอ

2. พล.อ.ประยุทธ์ และเพื่อนร่วมรุ่น 6-7 คน ได้ร่วมกันตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมา ด้วยวิธีการเพิ่มบทบัญญัติจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในการพิจารณาพระราชบัญญัติปิโตรเลียม วาระที่ 2 ของกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งๆ ที่ในการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ.นี้ในขั้นหลักการในวาระที่ 1 ไม่มีหลักการในเรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไว้เลย แต่ได้ใช้กลเม็ดทางกฎหมายเพิ่มเรื่องใหม่เพิ่มเติมขึ้นในวาระที่ 2 จนสำเร็จ มีมติลับให้เพิ่มบทบัญญัติที่เป็นหลักการใหม่นี้ เป็นวิธีการกระทำโดยไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยมีความตั้งใจจะให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ และในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงาน จะให้กรมพลังงานทหารเป็นผู้บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ 

ถ้ามีบรรษัทน้ำมันแห่งใหม่เกิดขึ้น และใช้อำนาจที่มีกฎหมายรองรับดึงกรรมสิทธิ์ของพลังงานทุกชนิดมาอยู่ที่บรรษัทแห่งใหม่นี้ วิสาหกิจและกิจการของบริษัทพลังงานต่างๆ หลายแห่งจะดำเนินอยู่ต่อไปอย่างไร กิจการเหล่านี้เป็นกิจการขนาดใหญ่ หากต้องหยุดปัญหาอาจลุกลามจนเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจได้ และบรรษัทใหม่ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์จะพัฒนาตนเองให้สามารถรองรับความเจริญทางเศรษฐกิจได้เพียงพอหรือ จะสามารถรับมือกับปัญหาและพัฒนาการใหม่ๆ ของกิจการพลังงานได้หรือ กิจการพลังงานของเราซึ่งรุดหน้ามาด้วยดี คงจะสะดุดจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้

ก่อนที่จะถึงการพิจารณาวาระที่ 3 ของ สนช. เพื่อรับรองร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่ผ่านการพิจารณาวาระที่ 2 มาแล้ว ผมได้ใช้โอกาสในช่วงเวลาที่เหลือไม่กี่วันทำหนังสือเปิดผนึกถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในเรื่องนี้ ตลอดถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ หากอนุมัติให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติได้ ปรากฏว่าสมาชิก สนช. ส่วนใหญ่เข้าใจและเห็นถึงผลเสียที่จะตามมา จึงมีมติให้ตัดบทบัญญัติส่วนที่เพิ่มใน พ.ร.บ.ฯ ที่เกี่ยวกับบรรษัทน้ำมันแห่งชาติออกไปทั้งหมด นับว่าเป็นบุญของประเทศชาติ

หาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีกสมัย เมื่อมีพลังทางการเมืองเพิ่มขึ้น ก็อาจจะผลักดันเรื่องนี้เป็นผลสำเร็จได้ ซึ่งจะมีผลเสียอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติ 

3. ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนโยบายต่างประเทศที่ถ่วงดุลอำนาจระหว่างประเทศมหามิตรหลายฝ่ายที่มีอำนาจในโลกมาได้เป็นอย่างดีเสมอมา แต่รัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์ ดำเนินนโยบายผูกมิตรกับประเทศมหามิตรฝ่ายหนึ่งมากเกินไป ไม่มีการถ่วงดุลที่เหมาะสม อาจเป็นปัญหาสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยได้ในอนาคต

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินนโยบายที่เอาใจประเทศจีนมากกว่าประเทศมหามิตรอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ, อียู และญี่ปุ่น เห็นได้ชัดจากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพฯ - หนองคายซึ่งรัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายให้ใช้รถไฟฟ้าความเร็วสูงของจีน เพื่อวิ่งบนเส้นทางดังกล่าว และให้บริษัทจีนเป็นผู้ออกแบบและคุมงาน โดยไม่เปิดโอกาสให้ประเทศอื่นที่มีความสามารถเท่ากันหรือดีกว่าจีนเข้าเสนอโครงการเพื่อเปรียบเทียบแต่ประการใด และเงื่อนไขของจีนก็ไม่ได้มีเงื่อนไขใดที่ให้ประโยชน์แก่ประเทศไทยเป็นพิเศษแต่อย่างใด 

อีกเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการเอาใจประเทศจีน เป็นพิเศษคือ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ด้วยการบรรจุข้อความที่เปิดโอกาสอย่างเต็มที่ให้ต่างชาติเข้ามาเป็นผู้อยู่อาศัยและถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินประเทศไทยได้โดยง่าย จึงกลัวว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ อีกหลังเลือกตั้ง เมื่อมีอำนาจทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้นก็อาจยินยิมให้แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.EEC ให้เพิ่มเรื่องอนุญาตให้นำผู้อยู่อาศัยเข้ามาถือครองที่ดินได้อีก พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่รู้ว่าประเทศเพื่อนบ้านที่คนจีนเพิ่งเข้าไปถือครองที่ดินและอยู่อาศัยถึงแสนครอบครัวนั้น ได้แทรกแซงการทำการค้าในเมืองต่างๆ ของประเทศนั้นในวงกว้าง จึงเชื่อว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีกคงไม่มีนโยบายที่จะดูแลแก้ปัญหาในเรื่องนี้ด้วยความที่ไม่อยากขัดใจจีน 

4. 4 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ และคสช. ได้ทำการหลายอย่างเป็นประจำที่ทำให้คนไทยโดยทั่วไปเห็นว่าทหารมีอภิสิทธิ์เหนือพลเรือน เช่น โครงการราชภักดิ์ที่หัวหินของมูลนิธิราชภักดิ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบพบว่ามีความไม่ถูกต้องหลายประการ

นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ และ คสช. ยังพยายามให้เห็นว่าทหารคือฝ่ายปกครองในขณะที่พลเรือนคือผู้ถูกปกครอง การเรียกตัวเอกชนไปให้ทหารเป็นผู้ปรับทัศนคติในกรมทหารก็ดี การใช้ทหารกำกับการทำงานของข้าราชการกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรในท้องถิ่นก็ดี ทำให้เกิดความรู้สึกว่าทหารคือผู้ปกครองและพลเรือนอยู่ใต้การปกครองของทหาร

นานไปมีผลให้ประชาชนทั่วไปไม่ชอบทหารมากขึ้น ไม่พอใจทหารไม่ต่างจากช่วงเวลา พ.ศ.2510 - 2516 หากปล่อยให้สะสมจะเป็นอันตรายกับบ้านเมือง

แต่ในวันนี้ ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อทหารได้เปลี่ยนไปแล้ว ยังไม่สายเกินไปที่จะแก้ เพราะเกิดจากการกระทำของทหารเพียงกลุ่มเดียวที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่ความคิดของทหารส่วนใหญ่ หากพลเอก ประยุทธ์ ลงจากตำแหน่งไม่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก และหาก คสช. ยุติบทบาท ปล่อยให้เป็นเรื่องของระบอบประชาธิปไตย และไม่พยายามแฝงตัวเพื่อมีอำนาจในการบริหาร ประเทศนอกระบอบประชาธิปไตย ทำหน้าที่ดูแลประเทศชาติอย่างที่เคยทำมาในช่วงก่อน พฤษภาคม 2557 ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อทหารก็จะค่อยๆ ดีขึ้น และเปลี่ยนจากความไม่พอใจความมีอภิสิทธิ์ของทหารมาเป็นความสบายใจที่มีทหารเป็นที่พึ่งในยามคับขันต่อไป

5. ในระหว่างหนึ่งปีที่ตนทำงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ สนิทสนมใกล้ชิดกับนายทุนที่เป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่บางราย นอกจากนี้ ยังเคยเอ่ยปากให้ตนจัดให้กลุ่มธุรกิจกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งเป็นผู้ลงทุนและดำเนินการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน โดยไม่ต้องมีการประมูล เคยเอ่ยปากให้ตนจัดให้กรมธนารักษ์ให้เช่าที่ดินในเขตทหารบริเวณกาญจนบุรีให้เอกชนรายหนึ่งเช่าโดยให้คิดค่าเช่าในราคาถูก

ความสัมพันธ์เช่นนี้ไม่เหมาะสมสำหรับผู้ที่เป็นนายกฯ ของประเทศ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยเข้าใจนัยสำคัญของเรื่องนี้

6. พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนที่ไม่กล้าตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องเพราะกลัวเสียคะแนนนิยม รัฐมนตรีที่เคยร่วมงานในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สามารถเป็นพยานได้ว่า เมื่อมีเรื่องใดที่รัฐบาลต้องอนุมัติเพื่อแก้ปัญหาหรือเพื่อปฏิรูป หากมีผู้ออกความเห็นคัดค้านในโซเชียลมีเดียบ่อยๆ พล.อ.ประยุทธ์ จะสั่งให้ถอยเสมอ ด้วยความกลัวจะเสียคะแนน 

บุคคลที่ไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวจะเสียคะแนนนิยมเช่นนี้ หากได้กลับมาเป็นนายกฯ อีก การปฏิรูปในเรื่องต่างๆ ที่เตรียมกันไว้จะเดินหน้าต่อไปยาก เพราะมาตรการเพื่อการปฏิรูปทุกเรื่องย่อมจะมีผลกระทบประชาชนบางกลุ่มอย่างแน่นอน ถ้าขาดความกล้าที่จะยืนหยัดเพื่อความถูกต้อง การปฏิรูปก็จะไม่เกิดขึ้น

7. ในปีหน้าประเทศไทยจะเป็นประธานของการประชุม ASEAN ตลอดทั้งปี หากพล.อ. ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและทำหน้าที่ประธานของที่ประชุมระหว่างประเทศสมาชิก ASEAN รวมทั้งประเทศอื่นที่เข้าสังเกตการณ์ มีความเสี่ยงที่คนไทยจะต้องอับอายขายหน้าประเทศสมาชิกอื่นจากพฤฒิปฏิบัติของประธานที่ประชุมได้ ดังที่เคยเกิดมาแล้วในปี 2558 เมื่อครั้งที่ประเทศไทยได้เป็นประธานของการประชุมประเทศกำลังพัฒนา G77 ของสหประชาชาติที่สิงคโปร์ ในการประชุมครั้งนั้นมีกำหนดให้นายกรัฐมนตรีของประเทศที่เป็นประธานกล่าวสุนทรพจน์ให้มวลชนสมาชิกทั้งหมดฟัง เจ้าหน้าที่ได้ยกร่างสุนทรพจน์ให้พลเอก ประยุทธ์ พูดในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายสนใจใคร่รู้

แต่ปรากฏว่า หลังจากที่พูดตามร่างในเรื่องที่เตรียมไว้ไปได้ไม่นาน พล.อ. ประยุทธ์ ได้หันไปพูดนอกบทโดยใช้เวทีที่สิงคโปร์ด่าทอสื่อมวลชน นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม และนักวิชาการในประเทศ อันเป็นการด่าคนไทยด้วยกันเองให้คนต่างชาติฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไร้สาระสำหรับตัวแทนจาก 130 ประเทศที่เข้าร่วมรับฟังในวันนั้น การพูดนอกบทที่เป็นไปอย่างก้าวร้าวและไม่สุภาพ ไปกลบเนื้อหาสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สื่อมวลชนควรได้รับรู้และนำไปเผยแพร่ต่อ ดังนั้น บนหน้าหนังสือพิมพ์ในวันถัดมาจึงให้ความสนใจกับลีลาที่เกรี้ยวกราดและดุดันอย่างไร้กาลเทศะของ พล.อ. ประยุทธ์ จนเข้าขั้นที่สื่อมวลชนต่างประเทศเรียกว่าเป็นตัวตลก สื่อต่างประเทศพาดหัว ในวันถัดไปว่า “Thailand’s military junta is led by a clown”

หาก พล.อ. ประยุทธ์ ได้กลับมาเป็นนายกฯ ในปีหน้า ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ประธานของที่ประชุมผู้นำ ASEAN ด้วย ก็มีโอกาสที่คนไทยจะต้องอับอายขายหน้าอีกครั้ง เพราะพล.อ. ประยุทธ์ เป็นคนที่ไม่มีวุฒิภาวะในการควบคุมอารมณ์ และเมื่ออารมณ์เสียแล้วก็จะบุ่มบ่ามและมุทะลุ นอกจากนี้ ยังเป็นคนที่ต้องการแสดงออกให้คนรู้ว่าตนเองเก่งและรอบรู้ ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นภายในที่มักจะทำให้เกิดการแสดงออกที่พลาดท่าได้

8. ในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา นักข่าวมีโอกาสได้ฟังนายกฯแถลงข่าวทุกวันประชุม ครม. และนำบทแถลงข่าวและบทสัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ออกให้ชมทางโทรทัศน์ ทุกคนจะได้เห็นถึงการพูดด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว ก้าวร้าว และบางครั้งใช้คำหยาบคายที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะออกปากของคนที่เป็นนายกฯ ของประเทศ ซึ่งอาจกลายเป็นตัวอย่างที่เยาวชนจะทำตาม เด็กๆ ย่อมมองเห็นบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นแบบอย่างสำหรับทำตามอยู่แล้ว เมื่อนายกรัฐมนตรีพูดก้าวร้าวได้และพูดหยาบคายได้ เยาวชนก็จะคิดว่าเขาน่าจะมีสิทธิทำได้เช่นกัน พล.อ. ประยุทธ์ ไม่เคยระวังตัวในการใช้คำพูดเลย ไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีควรวางตัวอย่างไรหรือพูดจาอย่างไรจึงจะเหมาะสมและเป็นตัวอย่างที่ดีของเยาวชน

นอกจากนี้ คนไทยทุกคนยังมีโอกาสได้ฟังคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรีทางโทรทัศน์ทุกเย็นวันศุกร์ คือ การใช้ภาษาไทยในการพูดของพลเอก ประยุทธ์ ไม่เหมาะสม สำหรับผู้ที่เป็นถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศในหลายประการ

โดยสรุป ตนเห็นว่าหาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ อีก การปฏิรูปที่เตรียมไว้ก็คงจะไม่สำเร็จเพราะความไม่กล้าตัดสินใจ เนื่องจากกลัวเสียคะแนนนิยม แม้ว่าจะมีผู้คัดค้านเพียงหยิบมือเดียว ฐานะการคลังของประเทศก็คงจะเสื่อมลงไปอีกเพราะขาดวินัยที่ดี คนไทยก็คงต้องทนฟังการพูดภาษาไทยที่ขัดหู รวบคำ และแข็งกระด้าง และต้องนั่งเป็นห่วงว่าเยาวชนอาจเลียนแบบตัวอย่างที่ไม่ดี ต้องนั่งใจเต้นว่านายกฯ จะไปทำให้ประเทศไทยขายหน้าในการเป็นประธานการประชุมในเวทีโลกอีกหรือไม่ ต้องเป็นห่วงว่าจะมีการผลักดันให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติซึ่งจะมีผลเสียต่อเศรษฐกิจอีกหรือไม่ และจะหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องเป็นห่วงว่าประเทศไทยจะถูกแทรกซึมในธุรกิจการค้าโดยประเทศมหาอำนาจบางประเทศหรือไม่ การให้ประโยชน์แก่กลุ่มธุรกิจที่ใกล้ชิดจะมีส่วนสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชน และหากรวมเข้ากับความไม่พอใจในการที่ทหารมีอภิสิทธิ์เหนือพลเรือน ก็อาจจะทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองได้ ด้วยเหตุเหล่านี้ ผมจึงไม่ต้องการให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเลย