นางสาวเกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติกล่าวว่าหลังจากอ่านรายงานความยุติธรรมเพื่อคนทั้งมวล (Justice for All) โดยคณะทำงานเพื่อความยุติธรรม (Task Force on Justice) รายงานฉบับนี้ระบุ ชี้ว่า 5.1 พันล้านคน คิดเป็นจำนวนเกือบ 2 ใน 3 ของประชากรโลกทั้งหมด ขาดหนทางที่จะเข้าถึงความยุติธรรม ในจำนวนนี้มี 1.5 พันล้านคน หรือราว 1 ใน 5 ของประชากรโลกที่ถูกทิ้งให้เผชิญกับปัญหาความยุติธรรมที่พวกเขาไม่สามารถแก้ไขได้ โดยตกเป็นเหยื่อ
ขณะที่อีก 4.5 พันล้านคน ถูกกีดกันจากโอกาสต่างๆ ตามกฎหมาย นำไปสู่การไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ บริการสาธารณะ หรือการคุ้มครองโดยกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีการประมาณการณ์ว่ามีอย่างน้อย 253 ล้านคน อยู่ในสถานะที่เผชิญกับความอยุติธรรมอย่างร้ายแรง เช่น การไร้สัญชาติ การตกเป็นทาสสมัยใหม่ หรืออาศัยอยู่ในชุมชนหรือประเทศที่มีความไม่ปลอดภัยอย่างยิ่งยวด กระทั่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะแสวงหาความยุติธรรม ทำให้ตนหันมามองการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งในขณะนี้ว่า ความยุติธรรมที่ผู้สมัครทุกพรรคได้รับจาก กกต. เท่าเทียมกันหรือไม่
หลังการเลือกตั้ง กกต. ตัดสิทธิผู้สมัคร ส.ส. และว่าที่ ส.ส. โดยไม่นำคะแนนผู้ถูกตัดสิทธิมาคิด ส.ส. ประเภทบัญชีรายชื่อ 18 รายดังนี้ พรรคเพื่อไทย 1 ราย พรรคประชาชาติ 6 ราย พรรคเสรีรวมไทย 1 ราย พรรคชาติพัฒนา 1 ราย พรรครวมใจไทย 1 ราย พรรคพลังชาติไทย 2 ราย พรรคพลังไทยรักไทย 4 ราย พรรคพลังชาติไทย 2 ราย พรรคพลังปวงชนไทย 1 ราย พรรคประชาธรรมไทย 1 ราย และมีการรับแจ้งข้อกล่าวหาหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นที่น่าสังเกตว่าพรรคที่ประกาศตัวสืบทอดอำนาจอย่างพรรครวมพลังประชารัฐ และรวมพลังประชาชาติไทย ที่มีคะแนนผลการเลือกตั้งรวม 8,325,665 เสียง ไม่มีผู้ถูกตัดสิทธิและยังไม่ มีการแจ้งข้อกล่าวหากับพรรค พปชร. จนมีการล้อกันทั่วโลกโซเชียลว่า "กกต. ตัดสิทธิ แต่แน่นอนว่าไม่มี พปชร." อีกทั้งมีแฮชแท็กในโซเชียลว่า #พปชรอยู่เหนือกฎหมาย โดยพรรคที่หาเสียงว่าไม่สนับสนุนสืบทอดอำนาจได้คะแนนรวมทั้งสิ้นจากผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ร้อยละ 94 คือ 19,257,765 เสียง แสดงว่าเจตนารมณ์การเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมาประชาชนประมาณ ร้อยละ 71 ไม่ต้องการให้มีการสืบทอดอำนาจ และประชาชนกลุ่มนี้ได้รับรู้ถึงความยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียม
นางสาวเกศปรียา กล่าวว่า ตนอยากฝากคำถามถึง เผด็จการอนุรักษ์นิยมที่เพิ่งประกาศกอดติดอำนาจต่อหลังจากอยู่ในอำนาจมา 5 ปีว่า ต้องการให้สังคมไทยหมดความน่าเชื่อด้วยการมีความยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียมเช่นนี้คงอยู่ในสังคมไทยใช่หรือไม่ ตัวอย่างใกล้ๆ คือการตัดสิทธิผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2562 ถึงกรณีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ที่ 1706/2562 ระหว่างผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 จ.สกลนคร ยื่นคำร้องว่า นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ขาดคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง หรือเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นหุ้นส่วนในกิจการสื่อมวลชน จะถือเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคดีหุ้นสื่อฯ ของผู้สมัคร ส.ส.คนอื่นหรือไม่ ว่า "ก็ต้องเข้าไปสู่กระบวนการที่ขอให้ศาลเป็นคนสั่งให้พ้น เรื่องนี้จึงตอบลำบาก เพราะเป็นคดีอยู่ ผมไม่อยากลงลึก ดังนั้น 2 คดีดังกล่าวจะเป็นบรรทัดฐาน คงพูดอย่างนั้นไม่ได้ ต้องร้องศาลก่อน ซึ่งอาจจะมีการเปรียบเทียบแบบคดีต่อคดีเพียงไม่กี่คดีก็รู้แล้ว แต่วันนี้ คดีที่ต่างจากจ.สกลนครยังไม่มีบรรทัดฐาน"
จากการเลือกตั้งครั้งนี้สิ่งที่สังคมรับรู้คือ การนับคะแนนที่นับแต่ละครั้งจำนวนผู้มาใช้สิทธิไม่เท่ากันสักครั้งที่จังหวัดนครปฐม อีกทั้งการตีความวิธีคำณวนคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ที่หาข้อสรุปไม่ได้ ต้องไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญช่วยตีความ ด้วยเกรงว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ ตนอยากทราบว่าความสับสนวุ่นวายเหล่านี้เนื่องมาจากธงที่ต้องการให้พรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจได้คะแนนมากที่สุด โดยฝั่งตรงข้ามต้องหาวิธีคำนวณเพื่อให้ได้คะแนนน้อยที่สุดใช่หรือไม่ ประเด็นนี้ถ้าต้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของประเทศ เมื่อรู้ทั้งรู้หรือสงสัยว่าจะขัดรัฐธรรมนูญก็ควรพิจารณาเปลี่ยนวิธีการคำนวณที่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มิใช่ยืนกรานจะทำตามธง อีกทั้งการห้ามประชาชนแสดงความคิดเห็นในความน่าสงสัยนี้ ถ้าใครแสดงความคิดเห็นก็จะดำเนินการแจ้งความว่าดูหมิ่น พร้อมมีการออกมาให้ข่าวกล่าวหาผู้ที่สงสัยในความยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียมนี้ว่าอย่าสร้างความแตกแยก
แท้จริงแล้วความยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียมต่างหากที่เป็นปัจจัยหลักในการทำให้ประเทศชาติแตกแยก รวมทั้งเป็นการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ไปกับค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย รายได้ที่ประชาชนสูญเสียไปจากความไม่มีมาตราฐานทางยุติธรรมทำให้ประเทศขาดความเชื่อมั่น รวมทั้งค่ารักษาพยาบาลความเจ็บป่วยที่เกิดจากความเครียด ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินการเพื่อเรียกร้องการชดเชยความเสียหายจากความยุติธรรมตามกฎหมาย อันอาจส่งผลกระทบให้จีดีพีในแต่ละปีของประเทศตกลง ร้อยละ 0.5 - 3 เป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ในภาวะการเจริญเติบโตเศรษฐกิจที่รั้งท้ายอาเซี่ยนของประเทศในวันนี้ รายงาน Justice for All ฉบับข้างต้นได้สรุปไว้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง