ไม่พบผลการค้นหา
มีการประมาณการณ์ว่าทั่วโลกมีคนราว 5.1 พันล้านคน หรือเกือบ 2 ใน 3 ของประชากรโลกทั้งหมด ไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ โดยผู้หญิง เด็ก ผู้พิการ ชนกลุ่มน้อย และผู้มีรายได้ต่ำพบกับความอยุติธรรมกว่าคนกลุ่มอื่น

รายงานความยุติธรรมเพื่อคนทั้งมวล (Justice for All) โดยคณะทำงานเพื่อความยุติธรรม (Task Force on Justice) กลุ่มริเริ่มแก้ปัญหาเพื่อสันติสุข ความเท่าเทียม และสังคมที่คนมีส่วนร่วม ชี้ว่าการที่คนทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมขั้นพื้นฐานได้ จะลดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจโลกได้นับพันล้านดอลลาร์ต่อปี โดยจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย รายได้ที่ประชาชนสูญเสียไป และความเจ็บป่วยที่เกิดจากความเครียด ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินการเพื่อเรียกร้องการชดเชยความเสียหายตามกฎหมาย อันอาจส่งผลกระทบให้จีดีพีในแต่ละปีของประเทศนั้นๆ ตกลง 0.5 ถึง 3 เปอร์เซ็นต์


กว่า 5 พันล้านคนทั่วโลก เข้าไม่ถึงความยุติธรรม

รายงานฉบับนี้ระบุ ชี้ว่า 5.1 พันล้านคน คิดเป็นจำนวนเกือบ 2 ใน 3 ของประชากรโลกทั้งหมด ขาดหนทางที่จะเข้าถึงความยุติธรรม ในจำนวนนี้มี 1.5 พันล้านคน หรือราว 1 ใน 5 ของประชากรโลกที่ถูกทิ้งให้เผชิญกับปัญหาความยุติธรรมที่พวกเขาไม่สามารถแก้ไขได้ โดยตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมซึ่งไม่ได้รายงานต่อเจ้าหน้าที่ หรือเผชิญกับปัญหาเชิงกระบวนการทางกฎหมายที่ไม่สามารถหาทางออกได้ เช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน หรือการถูกปฏิเสธการให้บริการสาธารณะ

ขณะที่อีก 4.5 พันล้านคน ถูกกีดกันจากโอกาสต่างๆ ตามกฎหมาย เพราะขาดเอกสารยืนยันตัวตนทางกฎหมาย หรือเอกสารต่างๆ เช่น สัญญาจ้างหรือโฉนดที่ดิน ก็อาจนำไปสู่การไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ บริการสาธารณะ หรือการคุ้มครองโดยกฎหมาย

นอกจากนี้ยังมีการประมาณการณ์ว่ามีอย่างน้อย 253 ล้านคน อยู่ในสถานะที่เผชิญกับความอยุติธรรมอย่างร้ายแรง เช่น การไร้สัญชาติ การตกเป็นทาสสมัยใหม่ หรืออาศัยอยู่ในชุมชนหรือประเทศที่มีความไม่ปลอดภัยอย่างยิ่งยวดกระทั่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะแสวงหาความยุติธรรม


ความอยุติธรรม ในการเข้าถึงระบบยุติธรรม

รายงานฉบับนี้พบว่าความอยุติธรรมเกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก แต่ผู้หญิง เด็ก ผู้พิการ ชนกลุ่มน้อย และผู้มีรายได้ต่ำ ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีการสอบถามผู้หญิงจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่าครึ่งหนึ่งของผู้หญิงในการศึกษานี้ เชื่อว่าการแจ้งความกับตำรวจว่าถูกคุกคามทางเพศนั้นไม่มีประโยชน์ ขณะที่เยาวชนที่ตกเป็นทาสสมัยใหม่ คิดเป็น 2 ใน 3 ของทาสสมัยใหม่ทั้งหมด และเด็กจำนวน 1 พันล้านคนตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง

ฮีนา จีลานี (Hina Jilani) นักรณรงค์สิทธิมนุษยชนชาวปากีสถาน และประธานร่วมของคณะทำงานเพื่อความยุติธรรม กล่าวว่า ช่องว่างด้านความยุติธรรมนี้สะท้อนความไม่เท่าเทียมเชิงโครงสร้าง ความไม่เสมอภาคของอำนาจ และปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมนี้

"ผู้หญิง เด็ก และคนในกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ที่เผชิญกับการดิ้นรนอย่างยากลำบากเพื่อจะเข้าถึงระบบยุติธรรม และใช้สิทธิของตัวเอง พวกเขาแบกรับความอยุติธรรมไว้มากเกินไป" จีลานี กล่าว

ชุมนุม-บริการทางเพศ-สิทธิ.jpg
  • กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องสิทธิของพนักงานบริการทางเพศในไนจีเรีย

นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรมเองก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนยากจะได้รับการเยียวยาทางกฎหมาย เดวิด สตีเฟน (David Steven) เลขาธิการคณะทำงานเพื่อความยุติธรรม กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่อาจอนุมานจากรายงานนี้ได้ก็คือ ระบบความยุติธรรมในโลกนี้มีคนจำนวนน้อยมากที่สามารถเข้าถึงได้ และชี้ว่าความยุติธรรมเป็นบริการสาธารณะที่ไม่ได้ถูกดำเนินการในฐานะบริการสาธารณะเลย

รายงานฉบับนี้ได้ประมาณไว้ว่าค่าใช้จ่ายเพื่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศต่างๆ นั้น สูงเกินกว่าผู้มีรายได้ต่ำจะเข้าถึงได้ โดยค่าใช้จ่ายเหล่านั้นคิดเป็นเงินราว 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (ประมาณ 638 บาท) ในประเทศรายได้ต่ำ 64 ดอลลาร์ฯ ต่อปี (ประมาณ 2,041 บาท) สำหรับประเทศรายได้ปานกลาง และ 190 ดอลลาร์ฯ ต่อปี (ประมาณ 6,060 บาท) สำหรับประเทศรายได้สูง ขณะที่เงินจำนวนนี้อาจเป็นราคาที่ที่ชนชั้นกลางขึ้นไปในประเทศนั้นๆ สามารถเอื้อมถึงได้


ความคุ้มค่าของความยุติธรรมที่เข้าถึงได้โดยคนทุกคน

พริสซิลลา ชวาร์ตซ์ (Priscilla Schwartz) ประธานร่วมคณะทำงานเพื่อความยุติธรรม ผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและอัยการสูงสุดหญิงคนแรกของเซียร์ราลีโอน กล่าวว่า การขาดความยุติธรรมเป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้ประเทศต่างๆ บรรลุถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของตัวเองได้

"ความอยุติธรรมก่อให้เกิดความอยุติธรรมตามมาอีก (...) สถาบันทางกฎหมายที่เป็นแบบแผนทางการนั้นสำคัญ แต่มันก็ช้าและแพงเกินไปที่จะบรรเทาความขาดแคลนความยุติธรรมซึ่งนานาประเทศเผชิญ" เธอกล่าว

ชวาร์ตซ์ ยกตัวอย่างปัญหาและความสำคัญของการให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบระบบยุติธรรม โดยเล่าถึงประเทศของเธอว่ายังคงมีโลกสองใบแยกขาดกันอยู่ในมุมมองของกฎหมาย ในเซียร์ราลีโอน ประชากร 60 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่ในเมืองอื่นๆ นอกเมืองฟรีทาวน์ซึ่งเป็นเมืองหลวง และยังคงมีศาลท้องถิ่นที่หัวหน้าเผ่าตัดสินด้วยกฎหมายจารีตอยู่ ขณะที่ในเมืองหลวงมีนักกฎหมาย ผู้พิพากษาสวมชุดและวิกตามแบบศาลของอังกฤษ

"เราจะส่งนักวิจัยที่ได้รับหมอบหมายไปยังเมืองต่างๆ เพื่อสอบถามผู้คน เอ็นจีโอ และชุมชนต่างๆ ว่าพวกเขาต้องการอะไร เขาต้องการศาลท้องถิ่นซึ่งมีความรวดเร็วกว่า หรือต้องการผู้พิพากษา ความเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา ดังนั้นเราจึงต้องรับฟังมุมมองของพวกเขาด้วย" ชวาร์ตซ์ กล่าว

ความเปลี่ยนแปลงในการลงทุนกับระบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางนั้น เห็นได้ชัดที่สุดในพื้นที่อาศัยของผู้ที่ยากจนและขาดโอกาสมากที่สุดในสังคม โดยเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ อย่างการในปี 2017 บริการ ซิติเซนส์แอดไวซ์ (Citizens Advice) เครือข่ายอาสาสมัครให้คำปรึกษาทางกฎหมายตัวต่อตัวผ่านระบบออนไลน์ในประเทศอังกฤษและเวลส์ ให้ความช่วยเหลือคนกว่าสองล้านคน ประหยัดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นต่อรัฐบาลถึง 435 ล้านปอนด์ (ประมาณ 18,126 ล้านบาท) กล่าวคือช่วยประหยัดงบประมาณได้เกือบ 2 ปอนด์ ต่อทุกๆ 1 ปอนด์ที่ลงทุนไปกับการให้คำปรึกษา

ทาง���้านสหรัฐฯ เองให้คำปรึกษาด้านกฎหมายกับผู้มีรายได้น้อยในนิวยอร์กซึ่งเสี่ยงต่อการสูญเสียที่พักอาศัย ทำให้รอดพ้นจากการถูกศาลไล่ที่ ช่วยลดค่าใช้จ่ายต่าง เช่น ค่าใช้จ่ายในการสร้างที่พักพิงผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ทำให้เมืองประหยัดงบประมาณได้ถึง 320 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 10,206 ล้านบาท)

ที่มา: The Guardian, reliefweb, NYU