พรรคอนาคตใหม่จัดบรรยายสาธารณะความจริงประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 10 - 12 สิงหาคม 2562 โดยเวทีที่ 2 นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค บรรยายเรื่อง "การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม" ในหัวข้อ "คมนาคมไทย ใครมือยาวสาวได้สาวเอา" ว่า คือ ระบบในการเมืองยุคก่อน คสช.ที่ ส.ส.ต่างดึงงบประมาณแผ่นดินที่มีจำกัดไปพัฒนาจังหวัดตัวเองและจังหวัดไม่ได้รับงบประมาณการพัฒนาอย่างเพียงพอ ซึ่งระบบนี้ยังดำรงอยู่ในยุค คสช.ตลอด 5 ปีด้วย แต่รัฐบาล คสช.เกี่ยวเนื่องรัฐบาลปัจจุบัน "มีความฉลาดน้อย" ที่ไม่ได้มองภาพรวมการกำหนดโครงการพัฒนาด้านคมนาคม จึงเกิดความซ้ำซ้อนของโครงการและละเลยการเชื่อมต่อหรือ"เส้นเลือดฝอย" ในการพัฒนา
นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า การทุจริตเชิงนโยบายหรือนักการเมือง "หักค่าเปอร์เซ็นต์" ที่ถือว่าเลวร้ายและถูกใช้เป็นข้ออ้างในการรัฐประหารตลอดมา ขณะเดียวกัน การทำโครงการที่ไม่คุ้มค่าหรือไม่เกิดประโยชน์ก็เลวร้ายและเป็นการผลาญเงินภาษีที่มากกว่าด้วย พร้อมยกตัวอย่างการหัก 15 เปอร์เซ็นต์ ในบางโครงการถือว่ารัฐเสียเงินไปจากการทุจริต 15 เปอร์เซ็นต์ แต่หากใช้งบประมาณมหาศาลคิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ สร้างโครงการที่ไม่คุ้มค่าหรือไม่ควรทำซึ่งความจริงอาจใช้เพียง 15 เปอร์เซ็นต์ของงบทั้งหมดก็เพียงพอ ถือว่ารัฐผลาญเงินภาษีไปโดยเปล่าประโยชน์ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทางออกในเรื่องนี้ที่พรรคอนาคตใหม่เสนอคือ การกระจายอำนาจและงบประมาณให้ท้องถิ่นดำเนินการตามความต้องการและจำเป็นของแต่ละพื้นที่
นายสุรเชษฐ์ ยืนยันว่า โครงการพัฒนาระบบคมนาคมของ คสช.จากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซ้ำซ้อนกัน 3 โครงการ คือ รถไฟความเร็วสูง-มอร์เตอร์เวย์-ระบบรางคู่หรือทางคู่ที่จะทำ 2 ทางคู่หรือ 4 ราง ซึ่งเกินความจำเป็นและทั้ง 3 โครงการไม่ได้ส่งเสริมกัน แต่แข่งขันหรือแย่งลูกค้ากันเอง และนายสุรเชษฐ์ ไม่เห็นด้วยที่จะต้องมีรถไฟความเร็วสูงในเส้นกรุงเทพฯ-โคราช โดยเห็นด้วยที่จะต้องพัฒนาระบบทางคู่ แต่ควรทำเพียงคู่เดียวหรือ 2 รางก่อน หากมีผู้โดยสารจำนวนมากก็ค่อยขยาย พร้อมยืนยันว่า โครงการกรุงเทพฯ-โคราช มีหลายทางเลือก ทั้งทำบางโครงการเท่านั้นทำ 2 ใน 3 โครงการก็เพียงพอ ไม่ควรซ้ำซ้อนกัน ควรนำงบประมาณมหาศาลไปพัฒนาระบบคมนาคมพื้นที่อื่นๆอย่างเป็นระบบ แต่โครงการนี้ได้รับการอนุมัติแล้วตั้งแต่ยุค คสช.
นอกจากนี้นายสุรเชษฐ์ ยังตั้งข้อสังเกตโครงการรถไฟความเร็วสูงของ คสช.จาก "กรุงเทพฯ-เชียงใหม่" และ"กรุงเทพฯ-หนองคาย" ที่ให้ประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่นดำเนินการ โดยพบว่า มีเส้นทางทับซ้อนกันจากกรุงเทพฯ-อยุธยา ราว 100 กิโลเมตร คิดเป็นเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทที่ต้องสูญเปล่า เพราะแม้ว่าขนาดรางมาตรฐานเท่ากัน แต่ใช้ร่วมกันไม่ได้ เนื่องจากเป็นตัวรถไฟความเร็วสูงเป็นคนละประเภทกัน จึงต้องทำรางคู่ขนานกันไปนั่นเอง รวมถึงการทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินซึ่งเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเพราะคงไม่มีใครลงเครื่องบินจาก"ดอนเมือง แล้วต่อรถไฟไปขึ้นเครื่องที่สนามบิน"อู่ตะเภา"แน่นอน โดยโครงการนี้กับโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ยังไม่เซ็นต์สัญญา ซึ่งอาจยับยั้งได้ หากรัฐบาลนี้ไม่ดึงดันสานต่อยุค คสช.แม้ว่าคงเป็นไปได้ยากก็ตาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: