วันที่ 2 เม.ย. สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงปัญหาความขัดข้องที่เกิดขึ้นกับการเดินรถรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ว่า เรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมรับไม่ได้ เพราะกระทบกับผู้โดยสารที่ใช้รถไฟฟ้าเอง รวมถึงผู้โดยสารที่จราจรใช้เส้นทางรถไฟฟ้าวิ่งผ่านจึงได้มีการหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อสั่งการให้ การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการ ตรวจสอบสัญญารวมถึงบทลงโทษต่างๆ ซึ่งเบื้องต้นตนได้มีการตรวจสอบแล้ว ว่าจะสามารถปรับเป็นเงินได้ 5% คือ 125 ล้านบาท
พร้อมยืนยันว่าเรื่องนี้จะดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรม แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือความปลอดภัยของประชาชน พร้อมโชว์ภาพรางรถไฟไฟฟ้าที่มีช่องว่างทำให้เศษโลหะตกลงได้จึงสั่งการให้ปิดช่องดังกล่าวให้เรียบร้อย
ส่วนสายสีชมพูช่วงต่อขยายที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างก็ได้มีการสั่งให้ทำโครงสร้างขึ้นมาเพื่อปิดไม่ให้มีวัสดุตกลงมา พร้อมขอให้เข้าใจว่ากระทรวงคมนาคมมีความห่วงใย ความปลอดภัยของประชาชนต้องมาเป็นลำดับแรก
เมื่อถามว่า รถไฟฟ้าระบบโมโนเรลซึ่งมีความปลอดภัยน้อยกว่าและล่าสุดหลายประเทศก็เลิกใช้ไปแล้ว ว่าตรงนี้ต้องมาดูเงื่อนไขข้อกำหนดตั้งแต่สมัยเดิมที่มีการอนุมัติซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้เคยสอบถามไปแล้วว่าจะใช้ระบบโมโนเรลหรือไลท์เรล แต่ก็ได้ข้อสรุปว่าใช้ระบบโมโนเร็ว ซึ่งในส่วนผู้สัมปทานต้องดูแลใส่ใจกันให้มากขึ้น และเจ้าหน้าที่เองก็ต้องกวดขันซึ่งหากช่วยกันเชื่อว่าความปลอดภัยจะเกิดขึ้นได้
สุริยะ เปิดเผยว่า ช่วงสงกรานต์จะมีการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทาง ให้เลี่ยงเส้นทางหลักและใช้บริการเส้นทางรอง พร้อมลดภาระการเดินทางโดยจะไม่มีการเก็บค่าผ่านทางต่างๆ ยกเว้นเส้นวงแหวนตะวันตกที่ไม่สามารถลดได้เนื่องจากติดสัญญาสัมปทานอยู่
ส่วนปัญหาการก่อสร้างที่ถนนพระราม 2 นั้น สุริยะยืนยันว่า ได้มีการวางกรอบไว้ว่าจะต้องก่อสร้างแล้วเสร็จภายในวันที่ 2 มิถุนายน 2568 พร้อมเปิดเผยว่าผู้ รับเหมาติดปัญหาสภาพคล่องซึ่งกระทรวงคมนาคม ได้เข้าไปร่วมกับธนาคารเพื่อจะปล่อยกู้ให้กับผู้รับเหมาซึ่งจะทำให้สภาพคล่องดีขึ้น
ขณะเดียวกันก็มีการหารือกับสำนักงบประมาณแล้วว่าจะมีการให้กรณีพิเศษในการจ่ายค่าเค (เงินชดเชยด้านการก่อสร้างที่ผู้รับเหมาได้รับผลกระทบ เช่น ค่าวัสดุที่สูงขึ้นกว่าตอนทำสัญญา หรือผลกระทบอื่นๆที่เกิดขึ้นภายหลัง ดำเนินโครงการไปแล้ว) ให้กับผู้รับเหมาเนื่องจากได้รับผลกระทบในส่วนนี้ รวมถึงได้รับผลกระทบเรื่องระยะเวลาการก่อสร้างที่กรมทางหลวงไม่อนุญาตให้ก่อสร้าง 24 ชั่วโมง ก่อสร้างได้เฉพาะกลางคืนจึงมีต้นทุนที่สูงขึ้น