ไม่พบผลการค้นหา
นับตั้งแต่เมื่อวานนี้ (23 ส.ค.) หลังจากการมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ เศรษฐา ทวีสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย ภายหลังจากสถานการณ์การเลือกนายกรัฐมนตรีที่ชะงักงันของไทย นับตั้งแต่การเลือกตั้งที่สิ้นสุดลงไปตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ ตลอดจนสถานเอกอัคราชทูตในไทยจากนานาชาติ ต่างออกมาแสดงความยินดีต่อประเทศไทย ที่ได้มีนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อันมีรายละเอียดของแถลงการณ์ ได้แก่

สหรัฐฯ โดย แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

“คำแถลงโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี เจ. บลิงเคน

สหรัฐอเมริกาขอแสดงความยินดีกับคุณเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย ในปีนี้ เราเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างสหรัฐฯ และไทย ซึ่งนับเป็นไมตรีที่เก่าแก่อันดับต้น ๆ ที่เรามีกับนานาประเทศทั่วโลก ด้วยการผนึกกำลังกันในฐานะเพื่อนและพันธมิตร สหรัฐฯ และไทยได้เสริมสร้างความมั่งคั่งร่วมกัน ส่งเสริมเสถียรภาพในภูมิภาค เผชิญหน้ากับความท้าทายด้านสาธารณสุขระดับโลก และสานสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของเราให้แน่นแฟ้นขึ้น

เราตั้งตารอที่จะได้ทำงานกับนายกรัฐมนตรีเศรษฐา เพื่อต่อยอดจากแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ในปีที่แล้ว อีกทั้งเสริมสร้างพันธไมตรีอันยืนนานของเราสองประเทศต่อไป เราจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลชุดใหม่ของไทย เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนค่านิยมที่มีร่วมกัน ตลอดจนสร้างเสริมภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง เชื่อมโยง สงบสุข และเข้มแข็งต่อไป”


สหรัฐฯ โดย โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

“ขอแสดงความยินดีแก่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน สหรัฐฯ หวังว่าจะได้ร่วมงานกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และรัฐบาลไทย และประชาชน เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันยาวนานของเราต่อไป #190ปีไทยสหรัฐฯ”


สหราชอาณาจักร โดย มาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

“นายมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยแสดงความยินดีกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยระบุว่า

สหราชอาณาจักรตั้งตารอที่จะทำงานร่วมกับไทยในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนการพัฒนาเศรษฐกิจ ความมั่นคงในภูมิภาค รวมถึงการรับมือกับความท้าทายระดับโลกร่วมกัน”


สหภาพยุโรป โดย โจเซพ บอเรลล์ ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรป และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป

“แถลงการณ์ของผู้แทนระดับสูงฯ เรื่องการเลือกตั้ง โดย นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี

สหภาพยุโรป (อียู) ขอแสดงความยินดีกับ นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

สหภาพยุโรปตั้งตารอที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยในการผลักดันระเบียบระหว่างประเทศที่อยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย เสถียรภาพในระดับภูมิภาค การพัฒนาที่ยั่งยืน ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ความเจริญรุ่งเรือง และการค้าที่เสรีและเป็นธรรม

ข้อตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย ซึ่งลงนามไปเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 คือโอกาสในการกระชับความร่วมมือของเราในทุกด้านที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน สหภาพยุโรปตั้งตารอที่จะดำเนินการในขั้นตอนต้นตามข้อตกลกนี้ภายใต้รัฐบาลใหม่ของไทย

แถลงการณ์ของนายโจเซพ บอเรลล์ ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรป และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป”


อินเดีย โดย นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย

“ขอแสดงความยินดีอย่างยิ่ง ต่อ เศรษฐา ทวีสิน ที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ผมหวังว่าจะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับคุณ ในการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีอินเดีย-ไทยให้สูงขึ้น”


สาธารณรัฐเช็ก โดย สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย

“ขอแสดงความยินดีกับ เศรษฐา ทวีสิน ที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย! สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย ขออวยพรให้ท่านนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่สดใส”


อิสราเอล โดย ออร์นา ซากีฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย

“ขอแสดงความยินดีอย่างอบอุ่นกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย เศรษฐา ทวีสิน เราหวังว่าจะกระชับความสัมพันธ์ อิสราเอล-ไทย ไปด้วยกัน”


มาเลเซีย โดย อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ต่อสายโทรศัพท์แสดงความยินดีต่อนายกรัฐมนตรีไทย

“นายกรัฐมนตรี เศรษฐ ทวีสิน ขอแสดงความยินดี เรายินดีกับคุณมาก ประเทศไทยเป็นประเทศที่สำคัญกับเรามาก ผมหวังว่าเราจะได้ประกาศความสัมพันธ์ การลงทุน การค้า การทูต และความสัมพันธ์ในทุกๆ ด้านเท่าที่เป็นไปได้”