ทั้งนี้ สำนักการระบายน้ำดำเนินโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอุโมงค์ระบายน้ำดังกล่าวมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ม. ความยาว 9,106 ม. ความลึก 30 ม. โดยแนวอุโมงค์เริ่มจากอาคารรับน้ำบริเวณบึงหนองบอน ลอดใต้แนวคลองหนองบอน แนวคลองตาช้าง ถนนศรีนครินทร์ ถนนอุดมสุข ซอยอุดมสุข 29 ถนนสุขุมวิท 101/1 ลอดใต้แนวคลองบางอ้อ ผ่านสถานีสูบน้ำบางอ้อและออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางอ้อ โดยมีอาคารรับน้ำ 7 แห่ง เพื่อรวบรวมน้ำในคลองต่างๆ ที่อุโมงค์ลอดผ่าน ให้ระบายลงสู่ระบบอุโมงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประกอบด้วย อาคารรับน้ำบึงหนองบอน อาคารรับน้ำคลองหนองบอน อาคารรับน้ำคลองเคล็ด อาคารรับน้ำคลองหลอด กม.3 (ปล่องรับน้ำอุดมสุข 56) อาคารรับน้ำคลองหลอด กม.2 (ปล่องรับน้ำอุดมสุข 42) อาคารรับน้ำซอยสุขุมวิท 101/1 อาคารรับน้ำถนนสุขุมวิท 66/1 สถานีสูบน้ำอุโมงค์บางอ้อ ขนาดกำลังสูบ 60 ลบ.ม./วินาที และอาคารทิ้งน้ำ 1 แห่ง ปัจจุบันผลงานความก้าวหน้าทั้งโครงการทำได้ 91.44 % เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณถนนอ่อนนุช ถนนอุดมสุข ถนนสุขุมวิท เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 85 ตร.กม. ในพื้นที่เขตประเวศ เขตสวนหลวง เขตพระโขนง เขตบางนา และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง
นอกจากนี้อุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงการแก้มลิงบึงหนองบอน ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำตั้งอยู่ในเขตประเวศ มีพื้นที่ทั้งหมด 644 ไร่ 1 งาน 37.5 ตร.ว. เริ่มขุดบึงเมื่อปี 36 ใช้พื้นที่ประมาณ 500 ไร่ โดยขุดลึกประมาณ 10 ม. แล้วเสร็จเมื่อปี 42 สามารถเก็บกักน้ำได้ 7 ล้านลบ.ม. (ความจุของอ่างเก็บน้ำส่วนที่ต่ำกว่าระดับน้ำต่ำสุดที่กำหนด 2 ล้านลบ.ม. พร่องน้ำเป็นแก้มลิงได้ 5 ล้านลบ.ม.) สามารถบริหารจัดการน้ำในแก้มลิงบึงหนองบอน จำนวน 5 ล้านลบ.ม. โดยใช้เวลาระบายน้ำ 1 วัน ทำให้สามารถรองรับน้ำฝนจากพายุลูกต่อไป
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 26 ก.พ.65 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุน้ำใต้ดินไหลเข้ามายังภายใน Shaft ซึ่งอยู่ใต้สะพานคลองเคล็ด บริเวณด้านล่างของจุดเชื่อมต่อระหว่าง Segment ของอุโมงค์ กับ D-wall ทำให้น้ำพัดทรายใต้อุโมงค์เข้ามาใน Shaft และไหลเข้าไปในอุโมงค์ ซึ่งทรายที่ไหลเข้ามานั้น ทำให้ชั้นดินบริเวณด้านบนอุโมงค์เกิดการทรุดตัว รวมถึงเสาเข็มสะพานข้ามคลองเคล็ดที่ปลายเสาเข็มระดับอยู่เหนืออุโมงค์พังทลายลงมา ผู้รับจ้างได้เสนอแนวทางการแก้ไขอุโมงค์ระบายน้ำที่เสียหายบริเวณสะพานคลองเคล็ด ดังนี้
แนวทางแก้ไขที่ 1 ก่อสร้าง Pile Wall คร่อมแนวอุโมงค์เดิมที่เสียหายและขุดดินติดตั้งค้ำยัน เพื่อรื้อถอนและก่อสร้างอุโมงค์ใหม่ โดยรักษาแนวอุโมงค์เดิม เพื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิมให้มากที่สุด จึงก่อสร้างกำแพงกันดินครอบแนวอุโมงค์ที่เสียหาย และขุดเปิดจากผิวดินลงไปถึงระดับอุโมงค์เดิม เพื่อรื้อถอนและติดตั้งอุโมงค์ใหม่ ใช้เวลาก่อสร้าง 35 เดือน
แนวทางแก้ไขที่ 2 ทำการก่อสร้างปล่องใหม่ และก่อสร้างระบบกำแพงกันดินตามแนวอุโมงค์ เพื่อขุดดินก่อสร้างอุโมงค์ใหม่ยกระดับขึ้นมาอยู่เหนือแนวอุโมงค์เดิม ก่อสร้าง Shaft ใหม่ เพื่อเชื่อมต่อแนวอุโมงค์ที่ไม่เกิดความเสียหายและแนวอุโมงค์ระดับใหม่ระยะห่างจาก Shaft ก่อสร้างโดยขุดเปิดหน้าดิน เทคอนกรีตพื้น หลังคาอุโมงค์ และถมดินคืนสภาพถนน ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน
ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางแก้ไข คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 24 เดือน พร้อมทั้งก่อสร้างอุโมงค์ชั่วคราวตั้งแต่ปล่องอุโมงค์รับน้ำคลองเคล็ดถึงอาคารสถานีสูบบางอ้อ โดยปิดกั้นปากอุโมงค์ปล่องรับน้ำคลองเคล็ดด้วยการก่อสร้าง Pile wall จากนั้นสูบน้ำออกจากอุโมงค์และทำความสะอาดด้านในอุโมงค์ คาดว่าจะสามารถใช้อุโมงค์สูบระบายน้ำช่วงอาคารรับน้ำคลองเคล็ดถึงอาคารรับน้ำสุขุมวิท 66/1 ได้ในเดือน พ.ย.65
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จุดแรกที่มาตรวจคือพื้นที่ก่อสร้างอาคารรับน้ำคลองเคล็ด ที่ผ่านมาได้เกิดการทรุดตัวเนื่องจากน้ำใต้ดินไหลเข้ามาภายใน Shaft บริเวณด้านล่างของจุดเชื่อมต่อระหว่าง Segment ของอุโมงค์กับ D-wall ทำให้น้ำพัดทรายใต้อุโมงค์เข้ามาใน Shaft และไหลเข้าไปตามตัวอุโมงค์ ทำให้ชั้นดินด้านบนอุโมงค์และสะพานข้ามคลองเกิดการทรุดตัว ซึ่งผู้รับจ้างได้หาแนวทางในการแก้ไขอุโมงค์ที่เสียหาย อาจต้องใช้ระยะเวลาซ่อมแซม อีกทั้งการทำงานที่ยากเนื่องจากอยู่ใต้ดินลึก 30 ม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการชั่งน้ำหนักเพื่อหาทางเลือกในจุดที่คุ้มค่าที่สุด และเกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด นอกจากนี้ผู้รับจ้างได้ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ชั่วคราว ตั้งแต่ปล่องอุโมงค์รับน้ำคลองเคล็ดถึงอาคารสถานีสูบบางอ้อ คาดว่าจะสามารถใช้งานได้ในเดือน พ.ย.65 จุดต่อมาคือสถานีสูบน้ำบางอ้อ ผู้รับจ้างได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดกำลังสูบ 60 ลบ.ม./วินาที พร้อมทั้งเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าแล้ว
“ในส่วนของอุโมงค์ระบายน้ำที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ จะพิจารณาหาแนวทางเพื่อเปิดใช้งานให้เกิดประโยชน์ อย่างน้อยจะช่วยระบายน้ำในช่วงฤดูฝนปีนี้ ซึ่งจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ 85 ตร.กม. ในพื้นที่เขตประเวศ เขตบางนา และพื้นที่ใกล้เคียง” รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าว