'หนุ่ย' ภาณุวัฒน์ อภิวัฒนชัย ชายหนุ่มผิวขาว ร่างอวบ สวมเสื้อเชียร์กีฬาทีมชาติไทย กางเกงยีนส์ โน้มตัวลงนั่งด้วยท่าทีสบายๆ บนเก้าอี้ภายในสตูดิโอของ Voice Space สายตาของเขาจดจ่ออยู่กับไพ่ทาโรต์ ทั้งสำรับใหญ่ เมเจอร์อาคาน่า (Major Arcana) 22 ใบ และสำรับเล็ก ไมเนอร์อาคาน่า (Minor Arcana) 56 ใบ พร้อมแล้วที่จะให้สัมภาษณ์กับ ‘วอยซ์ออนไลน์’
พนักงานออฟฟิศ วัย 38 ปี เริ่มรู้จักไพ่ทาโรต์จากเพื่อนสนิท และเพราะความต้องการหารายได้เสริม บทบาท ‘หมอดู’ จึงกลายเป็นอาชีพที่เขายึดถือ
“การบอกเล่าชีวิตคนผ่านไพ่มันน่าสนุกและน่าสนใจ รวมถึงน่าจะตอบโจทย์กับสังคมไทยครับ” เขาเริ่มต้น
เวลา 3 ปี แม้ไม่นาน แต่น่าสนใจว่าเขาได้เรียนรู้อะไรจากการเป็นผู้คาดการณ์และที่ปรึกษาชีวิต..
ไพ่ทาโรต์ (Tarot card) มีลักษณะและความหมายเดียวกับไพ่ยิปซี รู้จักในฐานะเครื่องมือการทำนายโชคชะตามายาวนาน ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย ไพ่ชนิดนี้ไม่เคยล้าหลัง วิธีการทำนาย อธิบายง่ายๆ คือการเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายเลือกไพ่ หลังจากนั้นหมอดูจะอ่านความหมายโดยทั่วไปของหน้าไพ่ รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลตามประสบการณ์ และการสนทนาในเรื่องที่กำลังถูกถามไถ่ ต่อด้วยการเชื่อมโยงความหมายของไพ่แต่ละใบและอาจปิดท้ายด้วยวิธีการแก้ไขปัญหา
“ความสนใจกระหายใคร่รู้ถึงอนาคต เป็นสิ่งที่ไม่เคยล้าสมัย คนทุกยุคทุกรุ่นแสวงหาหนทางที่จะรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหรือความเป็นไปในอนาคตไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม ซึ่งไพ่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยหาคำตอบ ตัวไพ่อยู่ของมันเหมือนเดิม แต่ความอยากรู้อนาคต เป็นสิ่งที่ไม่เคยล้าสมัย” ภาณุวัฒน์ให้ความเห็น
“สังคมไทยอยู่คู่กับการหาที่พึ่งทางใจและการทำนายทายทักมาตลอด ฉะนั้นไม่แปลกที่ไพ่ทาโรต์ยังได้รับความนิยมอยู่เสมอ”
ชีวิตหลายคนไม่เคยยุติธรรมและความทุกข์ของมนุษย์ส่วนใหญ่ หนีไม่พ้นปัญหาพื้นฐานสามัญได้แก่ การเงิน การงาน และความรัก
“เป็นไปตามช่วงอายุครับ วัยหนึ่งเรื่องเรียนเป็นเรื่องใหญ่ วัยหนึ่งการเงินการงานเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่ปัญหาความรัก เกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย แม้แต่ละคนจะมีเนื้อเรื่องที่หลากหลาย แต่ประเด็นใหญ่อยู่บนพื้นฐานเหล่านี้ทั้งนั้น” หมอดูหนุ่มบอกถึงสิ่งที่เผชิญ
ทั้งนี้ งานวิจัยเรื่อง 'พฤติกรรมการดูดวงของคนเมืองในเขตกรุงเทพมหานคร' เมื่อปี 2560 โดย อัครกิตติ์ สินธุวงศ์ศรี สำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 385 คน พบว่า ผู้ใช้บริการดูดวง 2 ใน 3 เป็นกลุ่มวัยทํางานและเป็นเพศหญิงที่มีอายุระหว่าง 20-40 ปี ส่วนมากมีสถานภาพโสด สําหรับระดับการศึกษาผู้ใช้บริการดูดวง 2 ใน 3 เรียนจบระดับปริญญาตรี
การตัดสินใจเข้ารับบริการดูดวงค้นพบประเด็นที่น่าสนใจว่า ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ดูดวงเมื่อเกิดความรู้สึกคาดหวัง ร้อยละ 49.6 รองลงมา เกิดความรู้สึกเครียด ร้อยละ 32.0 และเกิดอารมณ์สนุกสนาน ร้อยละ 10.9
นอกเหนือจากการทำนายและวิเคราะห์ผ่านภาพในไพ่ที่ลูกค้าเป็นผู้เลือกแล้ว อีกหน้าที่สำคัญของหมอดูคือการรับฟังเพื่อแบ่งเบาความทุกข์ภายในใจ
“ส่วนใหญ่มาหาเราเพราะมีเรื่องซีเรียส กังวลใจ ไพ่ที่เปิดมาสะท้อนสิ่งที่อยู่ในใจเขา หรือพาสิ่งที่อยู่ในใจออกมาให้เห็นชัดขึ้น หน้าที่ของเราคือแปลสิ่งที่อยู่ในใจเขาและเป็นที่ปรึกษาหรือผู้ฟังที่ดี”
หมอดูวัย 38 ปี เปรียบเทียบว่าไพ่เป็นตัวบ่งชี้ว่าเส้นทางข้างหน้าคุณจะเจอกับอะไร แต่ตัวคุณเองคือผู้หาหนทางไปเจอสิ่งนั้น
“ผมอาจบอกได้แค่คุณจะเจอกับอะไร แต่คนที่กุมบังเหียนชีวิตคือตัวคุณเอง”
ต่อไปนี้คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จของไพ่ในการคลี่คลายปัญหาเกิดขึ้นพร้อมๆ กับคำแนะนำที่ดี
“ลูกค้าหลายคนมีปัญหากับครอบครัว หลังจากเปิดไพ่ ผมอ่านและแนะนำว่าสิ่งที่ควรทำที่สุดคือการเปิดใจพูดคุยกับพ่อ หลังจากวันนั้นเขากลับไปคุย และเห็นว่าปัญหาที่มีไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดมาตลอด นี่แหละคือสิ่งที่ไพ่ช่วยได้” เขาเล่า
สถานการณ์การเมือง สภาพเศรษฐกิจสังคม ตลอดจนอิทธิพลทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมในประเทศ มีผลบ้างไม่มากก็น้อย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมกับชีวิตของผู้คน อย่างไรก็ตาม เหตุผลในการเลือกมาดูดวง ภาณุวัฒน์เห็นว่าเกิดขึ้นเพราะความอยากรู้อนาคตเป็นหลัก
“สภาพสังคมมันมีผลอ้อมๆ กับการเข้ามาดูดวง เช่น บางคนมีปัญหาเรื่องงานและเงิน จากสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง แต่จริงๆ ไม่ว่าจะช่วงเวลาไหน สิ่งแวดล้อมเป็นยังไง ตราบใดที่เรายังมีความกระหายสงสัยใคร่รู้ เราก็ออกมาดูดวงอยู่แล้ว”
หมอดูรายนี้ยอมรับว่าการอธิบาย ‘การทำนายโชคชะตาผ่านไพ่’ ในทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องลำบากไม่น้อย
“สิ่งที่เราเห็นได้ชัดคือไพ่เป็นสื่อกลางที่ทำให้อีกฝ่ายได้พูดและเปิดใจ ขณะที่ฟังก์ชั่นของการทำนาย บางมุมก็เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติที่อธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ได้ยาก”
ในบทบาทผู้ทำนายโชคชะ���า เขาเรียนรู้ว่าด้านหนึ่งการมาหาหมอดูเสมือนการมาพบกับจิตแพทย์ ซึ่งสำหรับบางคน อาคารโรงพยาบาลที่แข็งทื่อและคู่สนทนาที่สวมชุดกาวน์สีขาว สร้างความอึดอัดให้แก่เขา โดยงานวิจัยเรื่อง 'พฤติกรรมการดูดวงของคนเมืองในเขตกรุงเทพมหานคร' พบว่า เมื่อพวกเขาเกิดปัญหาในชีวิต กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 15.6 เลือกขอคําปรึกษาหมอดูเพื่อให้ช่วยแนะนําทางออกของปัญหา มากกว่าปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยา จิตแพทย์ เพื่อรักษาและบําบัดแก้ไข ที่มีอยู่เพียง ร้อยละ 2.9 เท่านั้น
“กับบางคน หมอดูนั้นเข้าถึงง่ายกว่า สะดวกใจในการพูดคุยแลกเปลี่ยนมากกว่าจิตแพทย์”
การดูดวงแต่ละครั้งของเขาเหมือนการอ่านหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่า เรียนรู้ชีวิตของเพื่อนมนุษย์ที่แตกต่างกัน เห็นความเชื่อมโยงของปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เห็นวิธีคิด การเผชิญหน้าและการต่อสู้กับปัญหา ซึ่งให้บทเรียนแก่หมอดูในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเป็นอย่างมาก
“เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น อย่างน้อยมุมหนึ่ง เราก็รู้ว่าปัญหาบางอย่าง ไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่เจอ คนจำนวนมากก็กำลังต่อสู้ไปเหมือนกัน”
นอกเหนือจากความแม่นยำ ความสำเร็จของหมอดูยังอาจหมายถึงการรับฟังและทำให้อีกฝ่ายได้สติ จนทางออกที่เคยริบหรี่กลับมาสดใสอีกครั้ง
“นี่คืออีกหนึ่งหัวใจสำคัญ ซึ่งอาจพอๆ กับความแม่นยำ”
หนุ่ย ภาณุวัฒน์ ทิ้งท้ายว่าหากโลกใบนี้ยังไร้เครื่องมือท่องห้วงเวลาหรือ "ไทม์แมชชีน" (Time machine) ตราบนั้นความกระหายใคร่รู้ของมนุษย์ก็ยังไม่หมดสิ้น
“พรุ่งนี้ฉันจะเป็นอย่างไร คนที่เรารักจะตอบอย่างไร ตราบใดที่ยังมีคำถามแบบนี้อยู่ ไพ่มันก็ยังอยู่ต่อไป”