ไม่พบผลการค้นหา
ทนายความ 'วรเจตน์' ชี้ประกาศ คสช.เรียกบุคคลรายงานตัวช่วงรัฐประหารเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน นำบทลงโทษแรงไปบังคับใช้ลงราชกิจจานุเบกษา เผยรอคำพิพากษาศาลแขวงดุสิต เชื่อ 'วรเจตน์' จะชนะคดี เป็นบรรทัดฐานให้กับคดีอื่น

จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญประชุมเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2563 วินิจฉัยคำร้องที่ศาลแขวงดุสิตได้ส่งคำโต้แย้งของจำเลย (วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์) เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่องกำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิด ลงวันที่ 26 พ.ค. 2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 29/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่องกำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิด ลงวันที่ 26 พ.ค. 2557 เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา โดยมติเอกฉันท์ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และเฉพาะประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 โดยมติเสียงข้างมากว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2563 วิญญัติ ชาติมนตรี นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) และทนายความของวรเจตน์ กล่าวกับ ‘วอยซ์’ ว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ลงวันที่ 24 พ.ค.2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิด ลงวันที่ 26 พ.ค. 2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง เมื่อลงรายละเอียดพบว่า ตัวประกาศไม่ไปรายงานตัวฉบับที่มีความผิดเป็นบทลงโทษทางกฎหมายอาญา 2 ปี ปรับ 40,000 บาท นั้น ถือว่าเป็นประกาศที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญว่าด้วยขัดต่อหลักนิติธรรม เรียกว่าหลักกฎหมายที่ไม่มีผลย้อนหลัง ตามบทบัญญัติกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคแรก

วิญญัติ ระบุว่า 1. เรื่องว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 ถูกประกาศลงราชกิจจานุเบกษา วันที่ 29 พ.ค. 2557

2. ประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พ.ค. 2557 ถูกประกาศลงราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 พ.ค. 2557 เพราะฉะนั้นกรณีนี้ คสช.ประกาศให้ วรเจตน์ ไปรายงานตัว 2 ครั้ง แล้ว วรเจตน์ไม่ไปรายงานตัวนั้นเกิดขึ้นในปี 2557 แต่หลังจากนั้น คสช. ได้นำประกาศดังกล่าวที่มีโทษทางอาญาไปลงราชกิจจานุเบกษาหลังจากที่พ้นระยะเวลาให้วรเจตน์ไปรายงานตัว

“พูดง่ายๆ คสช. ให้อาจารย์ไปรายงานตัว แต่อาจารย์ไม่ไปเพราะอ้างว่าติดภารกิจต่างประเทศ หลังจากนั้น คสช. ก็นำไปประกาศไปลงราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย ดังนั้นเท่ากับว่า เป็นกฎหมายที่มีผลย้อนหลัง ใช้บังคับกับอาจารย์ไม่ได้” วิญญัติกล่าว

วิญญัติ กล่าวอีกว่า ประกาศที่กลายเป็นกฎหมายที่ว่า หากไม่ไปรายงานมีความผิดเป็นบทลงโทษทางกฎหมายอาญาทั้งจำคุกและปรับนั้นศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า เป็นลงโทษที่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 26 ที่เพิ่มภาระและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

“พูดง่ายๆ โทษมันแรงไป ตามที่เรายื่นเรื่องให้ศาลวินิจฉัย” วิญญัติกล่าว

วิญญัติกล่าวอีกว่า หลังจากนี้ต้องรอฟังคำพิพากษาของศาลแขวงดุสิต ก่อนว่าจะตัดสินคดีนี้อย่างไร หากศาลเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไปใช้แล้ว คำพิพากษาจะออกเป็นผลอย่างไร

“คิดว่าคงออกมาในทางที่ดี ทำให้เราชนะคดี แต่หลังจากชนะคดีเราก็คงไม่ฟ้อง คสช.ต่อ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 รับรองความชอบด้วยกฎหมายของ คสช. ไม่ให้ฟ้องคดีต่อได้ แต่ที่สำคัญคือเราต่อสู้ว่าเราไม่ผิด ประกาศหรือคำสั่ง คสช. แค่นั้น” วิญญัติกล่าว

ทนายความของ วรเจตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ดังนั้นหากศาลแขวงดุสิตพิพากษาให้ วรเจตน์ชนะคดีนี้จริง ก็จะเป็นบรรทัดฐานในหลักกฎหมายและคดีที่มีลักษณะเดียวกันเหมือน วรเจตน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง