ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการอาวุโส ชี้ ต้องปัดตกมติเห็นชอบ ครม. กลับไปเริ่มศึกษาผลดี-ผลเสียใหม่แต่ต้น เสริม รบ.ต้องมีความจริงใจกับ ปชช.

ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยว่า โดยรวมแล้วโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ควรดำเนินการต่อหรือไม่ ต้องกลับไปที่จุดเริ่มต้นว่าผลการศึกษาและเปรียบเทียบข้อมูลส่วนได้ส่วนเสียอันเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนเป็นอย่างไร มีส่วนได้มากกว่าส่วนเสียเพียงพอหรือไม่ 

นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอชี้ว่า ตั้งแต่ พ.ค. 2562 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ 'สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน' ไปสู่ เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 'เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต' ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ อาทิ กระทรวงการคลังที่ต้องประกาศให้พื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากร รวมถึงภาคเอกชนที่มีแผนงานโครงการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานไฟฟ้าทางเลือกหรือการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

ทว่าปัญหาสำคัญที่นำไปสู่การต่อต้านของประชาชนในพื้นที่ เป็นเพราะ ขณะที่รัฐบาลมีมติเห็นชอบรับหลักการนั้น กลับ "ปราศจากการศึกษาผลประโยชน์และต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง ตลอดจน กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง" 


คำถามไร้คนตอบ 

ดร.เสาวรัจ ชี้ว่า คำถามสำคัญที่รัฐบาลในฐานะผู้รับผิดชอบการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวต้องตอบแก่สังคมให้ได้หลายข้อกลับถูกเมินเฉย แม้จะมีมติเพื่อหวังพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น แต่ประชาชนในพื้นที่กลับไม่ได้รับการชี้แจงว่าผลประโยชน์ของโครงการต่อการจ้างงานทั้งหมดเป็นอย่างไร

ตามข้อมูลจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พบว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมรายใหญ่ประมาณ 50 ราย จะทำให้เกิดการจ้างงานโดยตรงประมาณ 25,000 ตำแหน่ง แต่ไม่ได้มีการพิจารณาจากภาครัฐว่า ตำแหน่งงานใหม่ที่ขึ้นมาจะมาแทนตำแหน่งงานเก่าที่เสียไปมากน้อยแค่ไหน รวมถึงกระบวนการเสริมทักษะและความรู้ต่างๆ ให้แรงงานจะมาจากแหล่งใด

ประชาชนท้องถิ่งยังไม่ได้รับการชี้แจงว่า โครงการของเอกชนทั้ง ท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ตลอดจนนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จะสามารถเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจท้องถิ่นได้อย่างไร 

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชี้ว่า เพื่อหาทางออกและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบทางลบจากโครงการดังกล่าว ครม.ควรพิจารณาทบทวนมติ 'เห็นชอบ' การเดินหน้าโครงการ โดยให้ศึกษาประเมินผลกระทบโครงการทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีความสมบูรณ์และรอบด้านมากขึ้น โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์หรือข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจนประกอบการตัดสินใจ ก่อนที่จะพิจารณาอย่างรอบคอบว่า ควรให้ดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไปหรือไม่

นอกจากนี้ ภาครัฐควรแสดงความจริงใจและสร้างความโปร่งใสของโครงการ โดยกำหนดให้มีตัวแทนจากทั้งฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายต่อต้าน และภาควิชาการ เข้ามาเป็นคณะทำงานศึกษาผลกระทบโครงการทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านและเป็นกลางให้มากที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;