ก่อนหน้านี้ในวันที่ 13 ก.พ. เฟซบุ๊กซึ่งใช้ชื่อว่า SJC Inter Studies by P'Koi ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 3,000 คน เผยแพร่ข้อมูลว่า #มีการเปลี่ยนแปลงวีซ่าอเมริกา โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนคู่มือปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่กงสุลในส่วนที่เป็นวีซ่าชนิดชั่วคราว หรือ Non Immigrant Visa เช่น วีซ่าท่องเที่ยว วีซ่านักเรียน หรือวีซ่าทำงานชนิดชั่วคราว
ข้อมูลในเฟซบุ๊กดังกล่าวระบุว่า ได้ข้อมูลมาจาก The Law Office of Jing Yeophantong, Arlington, Virginia, USA ซึ่งเป็นสำนักงานด้านกฎหมายในเมืองอาร์ลิงตัน มลรัฐเวอร์จิเนียของสหรัฐฯ และกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงวีซ่าสหรัฐฯ ครั้งใหม่นี้รวมถึงการออกวีซ่าที่มีอายุสั้นกว่าเดิม จากระยะเวลาเดิม 10 ปี ก็จะลดลง และขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ และจะมีการระบุเมืองหรือสนามบินปลายทางในสหรัฐฯ เพิื่อให้ผู้ขอวีซ่าไม่สามารถเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ ในสหรัฐฯ นอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ในวีซ่า ทำให้มีผู้แชร์ข้อมูลในโพสต์ดังกล่าวต่อไปอีกกว่า 4,662 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม วอยซ์ออนไลน์ได้ติดต่อขอคำยืนยันกับทางศูนย์บริการข้อมูลวีซ่าสหรัฐอเมริกาสำหรับประเทศไทย ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมการกงสุลสหรัฐฯ ให้รับผิดชอบดำเนินการด้านต่างๆ เกี่ยวกับวีซ่าในประเทศไทย วันนี้ (16 ก.พ.) และเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ยืนยันว่า "ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อปฏิบัติใดๆ ทั้งสิ้น"
เจ้าหน้าที่ของศูนย์ข้อมูลวีซ่า ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ย้ำด้วยว่า ผู้ที่ต้องการขอวีซ่าประเภทต่างๆ สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของศูนย์ข้อมูล (ustraveldocs) และระบุว่าผู้ต้องการยื่นขอวีซ่าต้องยึดข้อมูลตามที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ที่เป็นทางการเท่านั้น
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงข้อปฏิบัติเรื่องวีซ่าสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด ไม่เกี่ยวกับประเทศไทยโดยตรง เพราะเป็นกรณีที่รัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ ออกคำสั่งห้ามพลเมืองจากประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมและประเทศที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ รวมทั้งหมด 8 ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน ลิเบีย โซมาเลีย ซีเรีย เยเมน ชาด เวเนซุเอลา และเกาหลีเหนือ เดินทางเข้าไปยังสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวถูกต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มสิทธิพลเมืองและประชาชนทั่วไป โดยหลายฝ่ายมองว่านี่เป็นการเลือกปฏิบัติ ส่งผลกระทบด้านมนุษยธรรมต่อกลุ่มผู้ลี้ภัยและประชาชนกลุ่มอื่นๆ และมีผู้ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้ยุติการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว แต่กระบวนการในชั้นศาลยังไม่สิ้นสุด
อ่านเพิ่มเติม: