พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) กล่าวว่า ท่าอากาศยานทั่วทุกภูมิภาคในประเทศมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีนักท่องเที่ยวประมาณ 7 ล้านคน ที่สามารถขอยื่นเรื่องการตรวจลงตรา Visa On Arrival ในการเข้าประเทศ ซึ่งทำให้เกิดความแออัดของนักท่องเที่ยวในการเข้าคิวรอตรวจเอกสาร
สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจึงร่วมมือกับบริษัทภาคเอกชน วีเอฟเอส โกลเบิล (VFS Global) เข้ามาช่วยออกแบบ "ระบบทำการแทนเพื่อการให้บริการของภาครัฐ" ในการรับและส่งผ่านข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับระบบขอรับการตรวจลงตรา Electronic Visa On Arrival (E-VOA) รวมทั้งการชำระค่าธรรมเนียมออนไลน์ทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยจะเริ่มใช้ระบบดังกล่าวตั้งแต่ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป
พร้อมกันนี้ บริษัท วีเอฟเอส โกลเบิล ได้ดำเนินการพัฒนาโครงการ Fast Track เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการแก่ผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารชั้นหนึ่ง และชั้นธุรกิจอย่างเป็นระเบียบ โดยกองบังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 2 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะนำระบบ Fast Track มาช่วยเสริมในขั้นตอนการผ่านพิธีการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง
การดำเนินการในครั้งนี้เป็นไปเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลไปสู่ระบบราชการ 4.0 ตลอดจนสามารถเข้ามาติดตามและตรวจสอบการปฏิบัติงานได้
โดยโครงการเริ่มจาก 20 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย ราชรัฐอันดอร์รา สาธารณรัฐบัลกาเรีย ราชอาณาจักรภูฏาน สาธารณรัฐไซปรัส สหพันธ์สาธารณรัฐเอธิโอเปีย สาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ สาธารณรัฐคาซัคสถาน สาธารณรัฐลัตเวีย สาธารณรัฐลิทัวเนีย สาธารณรัฐมอลตา สาธารณรัฐมอริเชียส ปาปัวนิวกินี โรมาเนีย สาธารณรัฐมารีโน ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ยูเครน อุซเบกิสถาน รวมทั้ง 1 เขตเศรษฐกิจไต้หวัน
โดยนักท่องเที่ยวจากประเทศข้างต้นไม่ต้องกรอกเอกสารใดๆ เพียงใช้หนังสือเดินทางยื่นให้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อเข้ารับการตรวจลงตราได้ทุกช่องบริการ
ทั้งนี้ วันนี้ยังเป็นการเปิดตัวต่อเวลาการยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม มาตรา 12 (1) ประเภทนักท่องเที่ยวชนิดใช้ได้ครั้งเดียว เป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2561 โดยให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราของคนต่างด้าว จำนวน 20 ประเทศ และ 1 เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อการท่องเที่ยวเป็นเวลาไม่เกิน 15 วัน หลัง คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ให้ขยายเวลาออกไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2562
โดยช่วงแรกได้ร่วมกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะสายการบินแห่งชาติ ให้บริการผู้โดยสารของการบินไทย ที่สนามบินสุวรรณภูมิก่อน จากนั้น จะขยายไปสนามบินดอนเมืองและสนามบินอื่นๆ ซึ่งผู้โดยสารที่ลงทะเบียนผ่าน ระบบ E- VOA จะใช้เวลาหน้าเคาน์เตอร์ในการตรวจสอบก่อนเข้าประเทศไม่เกิน 40 วินาที โดยผู้โดยสารจะจ่ายค่าบริการ 600 บาท/ คนให้กับ บริษัท VFS Global ส่วนค่าธรรมเนียมการทำ Visa On Arrival 2,000 บาท ยกเว้นให้ไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2562
ขณะที่ รัฐบาลจะเสียรายได้จากการเก็บเงินค่าธรรมเนียมวีซ่า คิดเป็นมูลค่า 2,140 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคาดการณ์การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในช่วงเวลาที่มีการยกเลิกค่าธรรมเนียมวีซ่า คิดเป็นมูลค่า 6,420 ล้านบาท
ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ย้ำว่านโยบายและการดำเนินการครั้งนี้เป็นการพัฒนาเพื่อรองรับปริมาณนักท่องที่ยวกว่า 40 ล้านคน ที่นับเป็นร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี
"เป็นครั้งแรกและครั้งประวัติศาสตร์ในการดำเนินนโยบายรัฐบาล ไทยแลนด์ 4.0" พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวด้วย Thailand E-Visa On Arrival ครั้งนี้ มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม , นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและกีฬา, นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) นาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์ สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบช.สตม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธี บริเวณพื้นที่พรีเมียม (PREMIUM AREA) ชั้น 4 อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :