ระหว่างที่แฟนฟุตบอลโลกหลายล้านคนเนื้อเต้นรอคอยการแข่งขันรอบรองชนะเลิศของทีมชาติอังกฤษ ซึ่งกำลังเตรียมฟาดแข้งกับทีมชาติโครเอเชีย ทว่าอีกมุมหนึ่งผู้คนนับพันต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวอยู่อย่างทุกข์ทรมาน และมันเป็นภาพความจริงอันแสนโหดร้าย ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นกับใครสักคน
ที่ผ่านมา สถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมักพุ่งสูงมาก ช่วงเกมการแข่งขันกีฬานัดสำคัญๆ เช่น ฟุตบอลโลก ทำให้บริการช่วยเหลือฉุกเฉินของอังกฤษออกมาคาดการณ์ว่า การละเมิดอาจพุ่งสูงหลังจากวันพฤหัสบดีที่ 12 ก.ค. โดยเฉพาะหากทีมชาติอังกฤษพ่ายแพ้ศึกฟุตบอลโลก 2018
ด้าน ‘เนชั่นแนล เซ็นเตอร์ ฟอร์ โดเมสติก ไวโอเลนซ์’ (National Centre for Domestic Violence: NCDV) องค์การที่คอยช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว จึงทำแคมเปญชื่อว่า “If England gets beaten, so will she.” ออกมาก่อนการแข่งขันระหว่างทีมชาติอังกฤษกับทีมชาติโครเอเชีย เพื่อสะท้อนพฤติกรรมการทำร้ายสมาชิกครอบครัวที่พุ่งสูงขึ้นช่วงฟุตบอลโลก
แคมเปญดังกล่าวอ้างอิงผลงานการวิจัยของด็อกเตอร์สตวร์ต เคอร์บี้ (Dr. Stuart Kirby) และศาสตาตารย์เบรียน ฟรานซิส (Brian Francis) จากมหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ (Lancaster University) สหราชอาณาจักร โดยใช้ข้อมูลจากคดีการละเมิดที่รายงานกับตำรวจอังกฤษ
พวกเขาค้นพบตัวเลขปัญหาการล่วงละเมิด บังคับ ขู่เข็ญ และทำร้ายร่างกายสมาชิกครอบครัว ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2002, 2006 และ 2010 ซึ่งพุ่งสูงขึ้นร้อยละ 38 เมื่อทีมชาติอังกฤษแพ้ และร้อยละ 26 เมื่อทีมชาติอังกฤษชนะ หากเทียบกับวันธรรมดาที่ปราศจากการแข่งขัน
ขณะเดียวกัน ในวันรุ่งขึ้นของการแข่งขันเหตุการณ์ความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ ก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยร้อยละ 11 และที่สำคัญคือ รายงานการวิจัยยังระบุด้วยว่า สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัววันที่ทีมอังกฤษลงแข่งขันเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 79.3 เมื่อเทียบกับร้อยละ 58.2 ในวันที่อังกฤษไม่ได้ลงแข่งขัน
นอกจากนั้น โปสเตอร์อันทรงพลังที่จุดประกายความสนใจคนทั่วโลกเป็นผลงานการออกแบบของเจดับบลิวที (J. Walter Thompson: JWT) ซึ่งขยายขอบเขตยังประเทศอื่นๆ ที่ลงแข่งขันฟุตบอลโลกด้วย เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เบลเยียม และฝรั่งเศส ทำให้หลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นการสรุปข้อมูลง่ายเกินไป โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกันระหว่างเกมการแข่งขันกีฬาขนาดใหญ่ และความรุนแรงในครอบครัว
“ตลกอ่ะ โทษการแข่งขันฟุตบอลเป็นเหตุความรุนแรงในครอบครัว” ข้อความแสดงความคิดเห็นของผู้ชายคนหนึ่งบนหน้าเพจเฟสบุ๊กขององค์กร
อย่างไรก็ตาม เพื่อต่อสู้กับข้อสงสัยระหว่างการรณรงค์ ผู้มีประสบการณ์ตรงกับการถูกรุกรานหลังเกมการการแข่งขันกีฬาแพ้ ได้ออกมาแบ่งปันเรื่องราวของตัวเองลงบนโลกออนไลน์ โดยผู้หญิงคนหนึ่งเรียกตนเองว่า ‘ลูซี่’ แบ่งปันเรื่องราวของเธอกับนิตยสารแอลว่า เธอกับน้องชายออทิสติกชื่อ ‘จอนนี่’ ถูกพ่อทารุณช่วงฟุตบอลโลกปี 2006 หลังจากอังกฤษแพ้ให้โปรตุเกสรอบก่อนรองชนะเลิศ ซึ่งตอนนั้นลูซีอายุ 10 ขวบ และจอนนีอายุเพียงแค่ 8 ขวบเท่านั้น
"ลูซี่ไม่ได้หวาดกลัวแค่ความพ่ายแพ้ของอังกฤษเท่านั้น แต่เธอต้องขวัญผวากับชีวิตของตนเอง"
ข้อมูลใหม่ของสำนักงานสถิติอาชญากรรมและการวิจัย (Bureau of Crime Statistics and Research) นิวเซาท์เวลส์ แสดงตัวเลขตลอด 6 ปีตั้งแต่ 2012-2017 พร้อมกับระบุว่า ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.7 ขณะเดียวกัน คนทั่วไปอีกร้อยละ 71.8 ถูกทำร้ายร่างกายในวันที่เกิดการแข่งขันการแข่งขันที่วัดกันด้วยเชื้อชาติ
ด้านประเทศไทย แม้การแข่งขันฟุตบอลโลกอาจยังดูห่างไกล ทว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาใหญ่ไม่น้อย กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ เผยรายงานสถานการณ์รายไตรมาสแรกของปี 2561 ว่าความรุนแรงต่อต่อเด็ก สตรี และสมาชิกครอบครัวพุ่งสูงกว่าร้อยละ 83.6 โดยกว่าร้อยละ 55.5 เป็นความรุนแรงทางร่างกายที่ผู้กระทำร้อยละ 87.5 เป็นผู้ชาย
สอดคล้องกับสถิติของบริการผ่านสายด่วน 1300 ที่พบความรุนแรงในครอบครัวเฉลี่ย 5 รายต่อวัน ส่วนใหญ่เด็ก และสตรี ถูกคนในครอบครัวทำร้าย โดยมีสุราเป็นปัจจัยแห่งความรุนแรง
ทางด้าน นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงฟุตบอลโลกประชาชนมักมีพฤติกรรมดูบอลไม่ปลอดภัย ก่อให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมา ทั้งเรื่องสุขภาพ เสี่ยงเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด ส่วนความรุนแรงในครอบครัวมาจากการต้องการนำเงินไปเล่นพนัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: