นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สั่งเร่งระบายน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม เพื่อรองรับน้ำฝนในช่วงปลายเดือน ส.ค. นี้ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 กว่า 60 แห่ง รวมทั้งอาจจะมีพายุเข้าไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่จะไม่มีลมแรง เนื่องจากมีเวียดนาม และ สปป.ลาว รับไว้บางส่วนแล้ว คงเหลือเฉพาะน้ำฝนที่จะเพิ่มขึ้นในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม การพร่องน้ำออกจากเขื่อน ยังมีข้อจำกัด เช่น จำนวน-ขนาดประตูระบายน้ำ, ความสามารถในการรองรับของลำน้ำและระยะเวลาพร่องน้ำ บางครั้งต้องเลือกว่าจะยอมท่วมน้อยตอนนี้ หรือท่วมมากช่วงฝนตกหนัก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะหารือกันทันที เมื่อสถานการณ์ใกล้ขั้นวิกฤต
ด้าน นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงกลางฤดูฝน ยังได้รับผลกระทบจาก 2 ปัจจัย คือ ร่องมรสุม และร่องฝน ยังไม่มีพายุเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง เพราะที่ผ่านมามักจะเคลื่อนขึ้นเหนือ
ทั้งนี้ คาดว่า ประเทศไทยจะสิ้นฤดูฝนกลางเดือน ต.ค. นี้ แต่จะเริ่มฤดูฝนของภาคใต้ฝั่งตะวันออก อย่างไรก็ตาม ปลายปีนี้ (2561) คาดว่าจะเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ อ่อนๆ ทำให้ปริมาณฝนน้อย ลงกว่าปกติ อุณหภูมิอาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส แต่เชื่อว่าจะไม่ถึงขั้นขาดน้ำ เพราะแต่ละเขื่อนสำรองน้ำไว้แล้ว
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีว่า สถานการณ์ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ ทั้งปริมาณน้ำในเขื่อนแก่งกระจาน ระดับความสูงของน้ำล้นสปิลเวย์ และอัตราการไหลของน้ำ ซึ่งขณะนี้มวลน้ำสูงสุดกำลังเข้าสู่เขื่อนเพชร เจ้าหน้าที่จะควบคุมอัตราการไหลของน้ำ ไม่ให้กระทบต่อบ้านเรือนของประชาชน โดยเฉพาะตัวเมืองเพชรบุรี
ทั้งนี้เมื่อน้ำผ่านเขื่อนเพชร จะตัดยอดน้ำไปยังคลองชลประทานทั้งสองฝั่ง และพื้นที่รองรับน้ำท้ายเขื่อน ดังนั้น ผลกระทบจะไม่เกินเป้าหมายที่วางไว้ แต่จะบริหารจัดการให้มีผลกระทบน้อยลง เช่น ท่วมขังน้อยกว่า 5-7 วัน และระดับน้ำท่วมสูงไม่เกิน 50 เซนติเมตร
ข่าวเกี่ยวข้อง :