ไม่พบผลการค้นหา
อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ วิจารณ์ การร่างกฎหมายของนายมีชัย และ กรธ. อาจเป็นไปตามใบสั่งของ คสช. เพื่อสืบทอดอำนาจ และจะสร้างความขัดแย้งในอนาคต ด้านนายมีชัย หวัง ให้ประเทศสงบสุข ขอเป็น กรธ. ชุดสุดท้าย
วัชระ เพชรทอง  Template.jpg

นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่��ายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่ายกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ตามต้องการนั้น เข้าใจว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คงอยากจะเขียนให้รัฐธรรมนูญที่ดีเป็นประชาธิปไตยตามนานาอารยประเทศแก่ประชาชน หรืออย่างน้อยที่สุดต้องไม่ด้อยไปกว่า รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 หรือ 2550 ที่ผ่านมา แต่อาจมีใบสั่งจาก คสช. ทำให้ กรธ. จึงออกนอกกรอบใบสั่งไม่ได้ จึงกลายเป็นแค่หุ่นเชิด ซึ่งตัวนายมีชัยเองนอกจากเป็นประธาน กรธ. และยังเป็นสมาชิก คสช. อีกด้วย จึงเปรียบเสมือนรับคำสั่งตรงจาก คสช.ทุกครั้ง 

ทั้งนี้ นายวัชระ ยังแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2560 ย้อนยุคกลับสู่เผด็จการ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญปราบโกงอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อ แต่เป็นการสืบทอดอำนาจให้ คสช. โดยตรง ซึ่งตนคาดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในอนาคต ตนจึงไม่เชื่อคำกล่าวของนายมีชัย ที่บอกว่าในวันหน้าจะไม่มีเหตุให้มี กรธ.อีกและบ้านเมืองจะได้สงบสุข

อย่างไรก็ตาม นายวัชระ เห็นว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. และประธาน กรธ. มีข้อดีอย่างหนึ่งคือมีแนวคิดการปฏิรูปตำรวจที่ก้าวหน้ากว่าคนอื่นใน คสช. แต่กฎหมายปฏิรูปตำรวจที่นายมีชัยเป็นประธานร่างอาจจะล้มเหลวอีกครั้งหนึ่ง เพราะไม่ได้แยกอำนาจการสอบสวนออกจาก สตช. นั่นเอง


มีชัย ฤชุพันธุ์.jpg

ด้าน นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. ยืนยันอีกครั้งว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้ทำตามใจผู้มีอำนาจ แต่คำนึงถึงส่วนได้ส่วนเสียของทุกฝ่ายโดยเฉพาะความต้องการของประชาชน และครั้งหนึ่ง คสช. เคยส่งความเห็นขอเพิ่มเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 10 ข้อ ทำให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญบางคนบอกว่ารับไม่ได้ แต่ก็วางจุดยืนว่าอะไรให้ คสช. ไม่ได้ก็จะไม่ให้สุดท้ายก็แทบไม่ได้ให้อะไร คสช. เลย

'มีชัย' ขอบคุณสื่อ ช่วยเผยแพร่รัฐธรรมนูญ ขอเป็น กรธ.ชุดสุดท้าย

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวในงานเลี้ยงขอบคุณสื่อมวลชนของ กรธ. เมื่อวานนี้ ว่า การร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำได้ดั่งใจที่คิดไว้ โดยตั้งใจไว้อย่างหนึ่งก็ออกมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ก็ต้องขอบคุณสื่อมวลชนทุกคนที่ได้ช่วยทำให้สาระสําคัญของรัฐธรรมนูญถูกเผยแพร่ไปยังประชาชน ในรูปแบบที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ โดยลำพังให้ กรธ.ไปอธิบายก็จะติดถ้อยคำทางกฎหมายจะทำให้ประชาชนเข้าใจได้ยาก ดังนั้นประชาชนจะพึ่งการออกกฎหมายได้จากสื่อ โดยเฉพาะสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพราะในยามที่ถูกบิดเบือน สื่ออิเล็กทรอนิกส์จะช่วยได้มาก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก พร้อมกล่าวอำลาว่าภาระหน้าที่ของ กรธ.หมดแล้ว ในวันอนาคตหวังว่าจะไม่มี กรธ.อีก ขอให้ชุดนี้เป็นชุดสุดท้าย 

ทั้งนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะหมดหน้าที่แบบสมบูรณ์ เมื่อกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับถูกประกาศใช้ ซึ่งเหลือเพียง 2 ฉบับ คือ กฎหมายลูก ส.ส. และ ส.ว. เท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศใช้ในสัปดาห์หน้า