พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้รับ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว โดยให้ฝ่ายกฏหมายพิจารณาอยู่ ซึ่งมีเวลาถึงวันที่ 12 เม.ย.นี้ เพื่อตรวจสอบว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทบโรดแมป ซึ่งแต่ละฝ่ายมีเจตนาดี และหากยื่นก็ขอให้ศาลช่วยพิจารณาให้อยู่ในกรอบโรดแมปด้วย สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีปัญหาสองประเด็น คือการช่วยผู้พิการเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง และการตัดสิทธิผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยืนยันต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่อยากให้มีปัญหาในขั้นตอนการขึ้นทูลเกล้าฯ พร้อมกันนี้บอกด้วยว่า ถ้าร่างกฎหมายดังกล่าวชัดเจนการเลือกตั้งก็ไม่เป็นโมฆะ แต่จะเป็นโมฆะหรือไม่ อยู่ที่คนทุกคน ไม่ใช่อยู่ที่นายกรัฐมนตรี เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ผู้วิเศษ
ส่วนการตัดสินใจเป็นนายกฯ คนนอกหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ตัดสินใจ ขอดูนโยบายพรรคและทำงานก่อน ซึ่งโครงการต่างๆ ที่ทำ ไม่ได้หวังผลทางการเมือง และอยากให้พรรคที่จะเสนอตนไปพิจารณาคนอื่นก่อน ถ้าไม่มีแล้วค่อยมาเสนอตน
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ระบุว่า นายกรัฐมนตรีกำลังพิจารณาอยู่ว่าหากมีการยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะกระทบกับโรดแมปหรือไม่ แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทบกับโรดแมปการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 2562 เพราะเคยยืนยันไปแล้วว่าจะทำอะไรก็ต้องให้อยู่ในกรอบ แต่หากศาลเห็นว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายนี้ก็ต้องตกไปและต้องเข้าสู่กระบวนการยกร่างกันใหม่ แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะยื่นร่างกฎหมายให้กับศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะต้องคุยกับหลายๆส่วน ซึ่งทาง คสช. เกรงว่าข้อทักท้วงในร่างกฎหมายดังกล่าวอาจจะส่งผลต่อการเลือกตั้ง จึงต้องนำมาพิจารณาโดยมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาอย่างชัดเจนว่าที่ สนช. ทำมาขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
'ประธาน กรธ.' สนช. - นายกฯ ท้วงก่อนยื่นศาล รธน.ในกรอบ 25 วัน
ส่วน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงหลังมีข่าวว่านายกรัฐมนตรีส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลับมาให้ สนช. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ส่วนตัวยังไม่ได้พูดคุยเรื่องนี้กับนายกรัฐมนตรี และไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน แต่หากตอบตามข้อกฎหมาย ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 145 ที่บัญญัติว่า “ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ 5 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา ถ้าไม่มีกรณีต้องดำเนินการตามมาตรา 148 คือให้นายกรัฐมนตรี หรือหนึ่งใน 10 ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ให้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 20 วันนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว” หมายความว่า สนช. หรือ นายกรัฐมนตรี สามารถทักท้วงและยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายได้ภายใน 25 วัน ที่ร่างกฎหมายยังอยู่ในมือนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ที่กำหนด 5 วันแรกไว้เพื่อป้องกันฝ่ายบริหารชิงทูลเกล้าฯร่างกฎหมายไปก่อนจะมีการทักท้วงแก้ไข อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
ทั้งนี้หากมีการยื่นร่างกฎหมายดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายมีชัย กล่าวว่า อาจจะไม่กระทบต่อโรดแมป หากมีการขอร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีช่วงเวลา 150 วัน ที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถจัดการเลือกตั้งก่อนครบกำหนดได้
ส่วนเรื่องคำทำนายที่ 7 ของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ที่คาดการณ์ว่าปมในรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 เรื่องให้ กกต. จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หมายถึงการหย่อนบัตร หรือการประกาศผลการเลือกตั้ง นายมีชัย ตอบเพียงว่าให้ไปถาม กกต. เพราะเป็นหน้าที่ของ กกต. ต้องตีความ ส่วนที่ กกต. เคยส่งหนังสือถามมานั้น กรธ.ตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้มีหน้าที่ในการวินิจฉัยกฎหมาย วันหลังถ้าไม่มีคนพูดเรื่องนี้แล้วค่อยมาถาม เวลานี้ยังตอบไม่ได้ ส่วนจะมองว่าเป็นกักดักทางการเมืองเพื่อให้ คสช. ได้เปรียบหรือเปล่า นายมีชัย ตอบเพียงว่า “แล้วแต่คนคิด”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามเรื่อง การใช้มาตรา 44 ปลดนายสมชัย ออกจากตำแหน่ง กกต. นายมีชัย ยืนยันว่า ตนไม่ได้เป็นคนเสนอให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งดังกล่าว ส่วนวัตถุประสงค์ในการใช้มาตรา 44 นี้จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ ต้องไปอ่านรัฐธรรมนูญ แต่มาตรา 44 สามารถจำกัดสิทธิบุคคลคนๆเดียวได้ หรือแม้กระทั่งสั่งประหารชีวิตบุคคลก็สามารถทำได้ เพราะที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างให้เห็น แต่มาตรา 44 จะมีผลถึงการถ่วงดุลอำนาจและความเป็นอิสระขององค์กรอิสระหรือไม่นั้น นายมีชัย บอกว่าแม้ตนไม่ใช่องค์กรอิสระแต่ก็ยังสามารถแสดงความคิดเห็นได้อยู่เป็นประจำ แต่ในกรณีของนายสมชัย ต้องไปถามผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่ามาถามตนเอง ส่วนมาตรา 44 ที่ให้อำนาจบุคคลเดียวมากเกินไป จะสร้างปัญหาอะไรหรือไม่ นายมีชัยตอบเพียงว่า ผมไม่ใช่คนชี้ขาด คนชี้ขาดเขามีอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องอะไร “ผู้สื่อข่าว: ไม่ได้เป็นคนเสนอปลดนายสมชัยใช่หรือไม่ นายมีชัย: แน่นอน”
วิป สนช. ยันยังไม่ล่าชื่อสมาชิกชง ศาล รธน.
ขณะที่ นพ. เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ยืนยันยังไม่มีการล่ารายชื่อสมาชิก สนช. เพื่อส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะร่างกฎหมายดังกล่าวส่งไปให้กับนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยที่ไม่มีสมาชิกแสดงตนเพื่อรวบรวมรายชื่อทักท้วง ดังนั้น ในทางปฏิบัติหากจะมีการรวบรวมรายชื่อสมาชิก สนช. ตอนนี้ เพื่อยื่นร่างกฏหมายลูกให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะต้องมีหนังสือมาจากนายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ที่ประชุมวิป สนช. ยืนยันว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ได้รับสัญญาณจากนายกรัฐมนตรีให้รวบรวมรายชื่อด้วย
'อภิสิทธิ์' หนุน 'ประยุทธ์' ส่งตีความกฎหมาย ส.ส.
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วย กับการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อความชัดเจน โดยมองว่าจะไม่กระทบโรดแมป เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์ มีความจริงใจ ไม่เลื่อนการเลือกตั้ง ก็สามารถดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อไม่ให้โรดแมปขยายออกไปได้
อ่านเพิ่มเติม