เจ้าหน้าที่ยูเครนกล่าวหารัสเซียเมื่อวันอังคาร (6 มิ.ย.) ว่า รัสเซียได้ทำลายเขื่อนด้วยความ "ตื่นตระหนก" เพื่อชะลอการโจมตีตอบโต้ของยูเครนที่กำลังจะเกิดขึ้น พร้อมระบุว่าการกระทำของรัสเซียนั้นทำให้เกิด "หายนะที่มีแต่เดิมอยู่แล้ว"
พร้อมกันนี้ มีไคโล โปโดลยัก ที่ปรึกษาสำนักงานประธานาธิบดียูเครนระบุว่า “เป้าหมายของผู้ก่อการร้ายนั้นชัดเจน เพื่อสร้างอุปสรรคสำหรับปฏิบัติการตอบโต้ของกองทัพ” พร้อมระบุเสริมว่า “ในพื้นที่ดินแดนอันกว้างใหญ่ ทุกชีวิตจะถูกทำลาย บ้านที่ตั้งถิ่นฐานจำนวนมากจะถูกทำลาย ความเสียหายมหาศาลจะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม”
ผู้บัญชาการกองกำลังทางตอนใต้ของยูเครนกล่าวว่า ทางการยูเครนกำลังอยู่ในระหว่างการประเมิน "ระดับของการทำลายล้าง" ในขณะที่ฝ่ายบริหารทางทหารของยูเครนในภูมิภาคเคอร์ซอน ได้เรียกร้องให้ประชาชนเตรียมพร้อมที่จะอพยพออกจากหมู่บ้านบนฝั่งขวาของแม่น้ำดนิโปรก่อนที่จะเกิดเหตุน้ำท่วม
“ระดับน้ำสูงขึ้นและทุกคนที่อยู่ในเขตอันตรายต้อง ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด รับเอกสารและข้อมูลสำคัญ ดูแลคนที่คุณรักและสัตว์เลี้ยง ปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยกู้ภัยและเจ้าหน้าที่ตำรวจ” ฝ่ายบริหารในเคอร์ซอนกล่าวผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน Telegram ทั้งนี้ มีประชาชนจำนวน 16,000 คนที่ตกอยู่ในพื้นที่อันตรายจากเหตุระเบิดเขื่อนในครั้งนี้
โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้เรียกประชุมฉุกเฉินต่อสภาความมั่นคงของยูเครน เพื่อตอบรับต่อสถานการณ์ระเบิดเขื่อนในครั้งนี้ ทั้งนี้ เซเลนสกีกล่าวหา “ผู้ก่อการร้ายรัสเซีย” ในการทำลายเขื่อน และชี้ว่าการกระทำอันอุกอาจในครั้งนี้ “ยืนยันต่อคนทั้งโลกว่า พวกเขาจะต้องถูกขับออกไปให้พ้นจากทุกมุมเมืองของดินแดนยูเครน ไม่มีแม้แต่เมตรเดียวที่จะถูกทิ้งไว้ให้พวกเขา เพราะพวกเขาใช้ทุกเมตรในการก่อการร้าย พวกก่อการร้ายจะไม่มีวันหยุดยูเครนได้โดยการใช้น้ำ ขีปนาวุธ หรืออะไรก็ตาม”
สำนักข่าว RIA Novosti รายงานอ้างคำพูดของ วลาดิเมียร์ ลีออนเทียฟ นายกเทศมนตรีของเมืองโนวา คาคอฟกา ที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางการรัสเซีย อ้างว่าเขื่อนดังกล่าวถูกกระสุนโจมตี ซึ่งเขากล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของฝ่ายยูเครน “มีการถล่มยิงหลายครั้ง” ใส่เขื่อนในภูมิภาคเคอร์ซอนนี้
เขื่อนดังกล่าวมีความสำคัญในการจัดหาน้ำและการชลประทานสำหรับพื้นที่ไครเมีย ที่ถูกยึดครองโดยรัสเซียไปจากยูเครน ในขณะที่รัสเซียมองว่าการทำลายเขื่อน อาจเป็นวิธีที่ทำให้กองกำลังยูเครนข้ามแม่น้ำดนิโปร และเข้าสู่ไครเมียได้ยากขึ้นในการรุกคืนภาคพื้นดิน
เขื่อนดังกล่าวถูกสร้างในยุคโซเวียตเมื่อปี 2499 บนพื้นที่เขตเคอร์ซอน โดยปัจจุบันนี้ เขื่อนนี้ถูกควบคุมโดยรัสเซีย ซึ่งอาจจะปล่อยให้เกิดน้ำท่วมไปทั่วเขตสงคราม ทั้งนี้ เขื่อนดังกล่าวมีความสูง 30 เมตร และยาว 3.2 กิโลเมตรบนแม่น้ำดนิโปร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถานีไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟกา
ยูเครนควบคุมเขื่อน 5 ใน 6 แห่งตามแม่น้ำดนิโปร ซึ่งไหลจากชายแดนทางเหนือของประเทศที่ติดกับเบลารุสลงไปยังทะเลดำ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลิตน้ำดื่มและไฟฟ้าของประเทศ อย่างไรก็ดี เขื่อนคาคอฟกาซึ่งเป็นเขื่อนที่อยู่ไกลที่สุดแห่งหนึ่ง ถูกควบคุมโดยกองกำลังรัสเซีย และมีอ่างเก็บน้ำขนาด 18 ลูกบาศก์กิโลเมตร ซึ่งส่งน้ำไปยังคาบสมุทรไครเมียที่ถูกผนวกโดยรัสเซียในปี 2557 และไปยังโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ซาปอริซเซีย ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซียเช่นกัน โดยเหตุน้ำท่วมอาจก่อให้เกิดหายนะทางนิวเคลียร์ตามมาอีก
ที่มา: