11 ประเทศที่ลงนามในความตกลงฉบับปรับปรุงซึ่งได้ถูกตั้งชื่อใหม่ว่าความตกลงแบบรวบยอดว่าด้วยหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ได้แก่แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม สิงคโปร์ ชิลี เปรู และเม็กซิโก มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน โดยข้อตกลงใหม่ที่มีการลงนามกันที่กรุงซานติอาโกของชิลีนี้ มีสาระสำคัญคือการขจัดกำแพงภาษีระหว่างชาติภาคี รวมถึงลดการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีลงให้มากที่สุด โดยเฉพาะกฎระเบียบที่ตั้งขึ้นเพื่อปกป้องธุรกิจภายในประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีการแสดงจุดยืนในการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของแรงงานและการดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมกันระหว่างชาติภาคี และกำหนดกลไกไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งอนุญาตให้เอกชนที่ลงทุนในกิจการข้ามชาติฟ้องร้องรัฐบาลได้หากมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่กระทบกับผลกำไรของตนเอง
การลงนามความตกลงดังกล่าวในวันเดียวกับที่นายทรัมป์ลงนามกฎหมายตั้งกำแพงภาษี เป็นการแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนของ 11 ประเทศเหล่านี้ในการต่อต้านการทำสงครามการค้าของสหรัฐฯ แม้ว่าสุดท้ายนายทรัมป์จะงดเว้นไม่ใช้มาตรการทางภาษีกับแคนาดาและเม็กซิโก เนื่องจากอ้างว่าทั้งสองประเทศอยู่ในระหว่างการเจรจาเงื่อนไขสนธิสัญญาเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือนาฟตาก็ตาม
ผู้ที่ถูกมองว่าจะได้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าใหม่นี้มากที่สุด คือประเทศในเอเชีย ขณะที่สหภาพแรงงานในประเทศที่ร่ำรวยกลับวิจารณ์ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะทำลายการจ้างงานในประเทศ เนื่องจากไม่สามารถสู้กับแรงงานราคาถูกในเอเชียได้
สถาบันเศรษฐกิจระหว่างประเทศปีเตอร์สันประเมินว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม จะมีจีดีพีเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 2 จาก CPTPP ภายในปี 2030 ขณะที่ประเทศร่ำรวยอย่างญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย จะมีจีดีพีเพิ่มเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น นอกจากนี้ สหรัฐฯยังจะเป็นผู้ที่เสียโอกาสมากที่สุดในการตกขบวน CPTPP โดยประเมินว่าผลประโยชน์ที่สหรัฐฯจะได้หากเข้าร่วมข้อตกลงนี้ อยู่ที่ประมาณ 4 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การที่สหรัฐฯถอนตัวจาก TPP ในยุคของนายทรัมป์ ทำให้ CPTPP ไม่มีพลังต่อรองเท่ากับ TPP เดิม โดย 11 ประเทศภาคี CPTPP มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเพียงร้อยละ 13 ของโลก แต่ขนาดเศรษฐกิจของชาติภาคี TPP เดิม ที่มีสหรัฐฯอยู่ คิดเป็นร้อยละ 40 ของเศรษฐกิจโลก