เมื่อวานนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทวิตข้อความในบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า สหรัฐฯ อาจจะกลับมาเข้าร่วมกลุ่ม TPP อีกครั้ง ถ้ามีข้อเสนอที่ดีกว่าข้อเสนอในสมัยประธานาธิบดีโอบามา และทุกวันนี้สหรัฐฯก็เปิดการค้าแบบทวิภาคีกับ 6 ชาติใน 11 ชาติสมาชิกกลุ่มนี้อยู่แล้ว และตอนนี้กำลังจะเปิดดีลการค้าที่ใหญ่ที่สุดกับญี่ปุ่น หลังจากมีการเจรจามานาน
แถลงการณ์ดังกล่าวของทรัมป์มีขึ้นหลังจากที่กรรมาธิการด้านการค้าของสหรัฐฯ โรเบิร์ต ไลทธ์ไทเซอร์และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ลาร์รี่ คูด์โลว์กล่าวประกาสทบทวนจุดยืนของสหรัฐฯในเวทีการค้า
"เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากการเข้าร่วมเขตข้อตกลงการค้าทรานส์-แปซิฟิก เพราะว่าข้อตกลงการค้าดังกล่าวสร้างผลกระทบที่ไม่ยุติธรรมสำหรับภาคแรงงานของคนอเมริกันและเกษตรกรในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามคำกล่าวของประธานาธิบดีที่กล่าวว่าอาจจะเปิดการค้าใหม่ ถ้ามีข้อเสนอและข้อตกลงที่ดีพอและอาจจะนำไปสู่การเจรจาครั้งใหม่ได้" ลินด์เซย์ วอลเตอร์ โฆษกทำเนียบขาวกล่าว
เอเอฟพีรายงานว่า ข่าวดังกล่าวสร้างความยินดีให้แก่วุฒิสมาชิกจากรัฐที่ทำการเกษตรเป็นหลักเป็นอย่างมาก
การถอนตัวของสหรัฐฯ จากการเจรจาร่วมเขตข้อตกลงการค้าทรานส์-แปซิฟิกนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่นายทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนแรก โดยนายทรัมป์มองว่าที่ผ่านมาข้อตกลงการค้าต่างๆนั้นต่างเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มคนร่ำรวยเท่านั้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมในสหรัฐฯกำลังเผชิญภาวะถดถอย
ขณะที่เมื่อต้นปีที่ผ่าน 11 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม สิงคโปร์ ชิลี เปรู และเม็กซิโก ได้ร่วมลงนามความร่วมมือใหม่โดยไม่มีสหรัฐฯ เพื่อแสดงจุดยืนตอบโต้การกีดกันการค้าของรัฐบาลทรัมป์ โดยมีสาระสำคัญคือ การขจัดกำแพงภาษีระหว่างชาติภาคี รวมถึงลดการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีลงให้มากที่สุด โดยเฉพาะกฎระเบียบที่ตั้งขึ้นเพื่อปกป้องธุรกิจภายในประเทศ