ไม่พบผลการค้นหา
เปิดข้อมูล 12 บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย ภายใต้ โครงการสานพลังประชารัฐ มีสิทธิลดหย่อนภาษี 5 % กับการสนับสนุนธุรกิจฐานราก

หลัง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ (12 ธ.ค.) มีมติอนุมัติในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ.... หรือมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐ โดยจะเป็นการกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนโครงการสานพลังประชารัฐ หรือเพื่อดำเนินการภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ

โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้มีการจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนโครงการสานพลังประชารัฐ หรือเพื่อดำเนินการภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ สามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 5% ของกำไรสุทธิหลังจากที่ได้หักรายจ่ายเป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา นั้น

กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี ออนไลน์ ได้ตรวจสอบ รายชื่อบริษัทเอกชน ที่เข้าข่ายสามารถยื่นลดหน่อยภาษีภายใต้โครงการประชารัฐได้ พบว่า มี12 องค์กรเอกชนที่เข้าร่วมโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ประกอบด้วย

1.ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

2. บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

3.บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

4.ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

5.บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด

6.บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

7.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

 8.บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด

9.บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)

 10.บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)

11.บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน)

12. บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

สำหรับคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐทำงานภายใต้ 1 เป้าหมาย 3 กลุ่มงาน 5 กระบวนการ 76 จังหวัด กับอีก 1 ส่วนกลาง(กรุงเทพฯ) เน้นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน 3 กลุ่มงาน ได้แก่ เกษตร แปรรูป (SMEs/OTOP) และท่องเที่ยวชุมชน เน้น 5 กระบวนการจัดการตลอด Value Chain ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง

ภายใต้โครงสร้างการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อชุมชน (Social Enterprise) เป็น Holding ระดับประเทศ หรือเรียกว่า บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย จำกัด ซึ่งจะมีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ระดับจังหวัด อีก 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี อุดรธานี เชียงใหม่ และบุรีรัมย์ รวมกับจังหวัดภูเก็ต โดยจะมีการจัดตั้งบริษัทประชารัฐให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ทั้งนี้โครงการประชารัฐ จัดตั้งในนาม บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย จำกัด จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือทุกภาคส่วน ทำงานช่วยชุมชนเรื่องการบริหารจัดการองค์ความรู้ ส่งเสริมการพัฒนาสินค้าและรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ การสร้างแบรนด์สินค้าและมาตรฐานการรับรองสินค้า จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา

รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน สร้างความต้องการและหาช่องทางทางการตลาด การจัดจำหน่ายและเชื่อมโยงการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป้าหมายการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ตลอดจนมีตัวชี้วัด (KPI) เพื่อประเมินผลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เน้นประชาชนที่ประสบความยากจนเพื่อเพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

นอกจากนี้ โดยโครงการดังกล่าวเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาในโรงเรียน 3,342 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ประเทศไทย ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้น 5 คนในสัดส่วนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนประกอบด้วย

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี จากไทยเบฟ ถือหุ้น 99,996 หุ้น จาก 100,000 หุ้น คิดเป็น 99.99% ราคาหุ้นละ 1,000 บาท ชำระแล้วหุ้นละ 250 บาท

 ขณะที่อีก 4 ผู้ถือหุ้น ที่ถือคนละ 1 หุ้น ได้แก่ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ กรรมการที่ปรึกษา บ. น้ำตาลมิตรผล จำกัด

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท และนายมีชัย วีระไวทยะ อดีตนักการเมือง และผู้ก่อตั้งสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนและมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม.เว้นภาษีเอกชนหนุนพลังประชารัฐ