วันนี้ (10 มี.ค. 2561) เมื่อเวลา 16.00 น. กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นำโดยนายรังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ 'จ่านิว' น.ส.ณัฎฐา หรือโบว์ มหัทธนา แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หรือกลุ่ม MBK39 และแกนนำคนอื่น ๆ อ่านแถลงการณ์ในระหว่างการจัดกิจกรรม "ปลุกพลังคนอยากเลือกตั้ง On tour" เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นรูปธรรม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ตามที่กลุ่มประชาชนในนาม 'กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง' ได้เคยเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้ประกาศไว้ ปรากฏว่าในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ได้ประกาศอีกครั้งว่าจะจัดการเลือกตั้งภายในเดือน ก.พ. 2562 แต่พวกเรายังคงยืนยันว่า "การจัดการเลือกตั้งภายในเดือน พ.ย.2561 สามารถเป็นไปได้จริง"
สถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นข้ออ้างให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนประกาศใช้ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือการไม่รับรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่ง กกต. ที่ถูกเสนอมา ล้วนแต่เป็นเหตุที่จงใจสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเพิ่มเวลาหาเสียงสืบทอดอำนาจของ คสช.เอง และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ คสช. กระทำการราวกับว่าตนดำเนินการตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ทว่ากรอบระยะเวลาดังกล่าวนั้นกลับขยายออกไปเรื่อยๆ โดยไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด
เพราะฉะนั้นแล้ว แค่เพียงคำพูดของ คสช. ว่าจะจัดการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเมื่อใดก็ตาม ไม่มีค่าเพียงพอที่จะให้ประชาชนเชื่อถือได้อีกต่อไป หากแต่ต้องมีการกระทำของ คสช. ที่แสดงถึงความจริงใจในการจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด และความไม่ประสงค์ที่จะสืบทอดอำนาจต่อไปประกอบกันด้วย
ในการที่จะไปสู่การเลือกตั้งได้นั้น จำเป็นที่จะต้องสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นและพรรคการเมืองสามารถนำเสนอนโยบายได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อการคุกคามจากผู้มีอำนาจ รวมถึงต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนด้วยว่าจะไม่มีการใช้อำนาจรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมืองใดเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยในสภาวการณ์ที่ทหารมีอำนาจสูงสุดครอบงำประเทศเช่นในปัจจุบันนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำทหารออกจากการเมืองไทย
ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงขอเรียกร้องให้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้
1. คสช. จะต้องยุติการดำรงอยู่ของตัวเอง
คสช. เป็นองค์กรหนึ่งที่ดำรงอยู่แยกต่างหากจาก ครม. สนช. หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ และมีอำนาจสูงสุดที่จะสั่งการใดๆ ก็ได้ ทว่าผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช. หลายคนกลับดำรงตำแหน่งในองค์กรทางการเมือง หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ด้วย และรับค่าตอบแทนในทุกตำแหน่งที่ดำรงอยู่ตลอดมา
การดำรงอยู่ของ คสช. หาได้มีความจำเป็นต่อการจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จลุล่วงแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา สามารถจัดขึ้นได้โดยรัฐบาลปกติ ในทางกลับกัน การดำรงอยู่ของ คสช. กลับเป็นเครื่องหมายตอกย้ำว่าการเลือกตั้งอาจถูกเลื่อนออกไปได้อีกตามอำเภอใจของ คสช. เอง และการสืบทอดอำนาจเผด็จการอาจเกิดขึ้นได้ด้วยเช่นกัน การยุติการดำรงอยู่ของ คสช. จึงเป็นหลักประกันในลำดับแรกสุดที่จะทำให้เกิดการเลือกตั้งและไม่เกิดการสืบทอดอำนาจได้จริง
2. ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการ มีภารกิจในการจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จเท่านั้น โดยต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไขดังนี้
(1) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม. ชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี
(2) ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน
(3) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน
(4) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใด อันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่ กกต. กำหนด
3. จะต้องยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งรวมถึงประกาศ คสช. ที่ 57/2557 ที่ห้ามการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยทันที เนื่องจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทั้งหลายนั้น เป็นอุปสรรคต่อการสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่เหมาะสมต่อการนำไปสู่การเลือกตั้ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีประกาศ คสช. ที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่มีส่วนเกี่ยวพันกับกรอบระยะเวลาในการเลือกตั้ง หากถูกยกเลิกโดยล่าช้าแล้ว ย่อมเป็นเหตุอ้างให้เกิดการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้อีก
ทั้งนี้ในแถลงการณ์ยังระบุอีกว่า ทางกลุ่มจะยกระดับข้อเรียกร้องของประชาชนมิให้หยุดอยู่ที่เพียงมีการเลือกตั้งเท่านั้น แต่จะต้องสร้างหลักประกันว่าจะต้องไม่มีการสืบทอดอำนาจของ คสช. และจะต้องรื้อถอนรากเหง้าแห่งเผด็จการที่ คสช. พยายามปลูกฝังไว้ด้วย
ขณะที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับนางเฟเดอรีกา โมเกรินิ ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป พร้อมคณะ ที่ กรุงบรัสเซลส์ ซึ่งการพบหารือดังกล่าวได้หารือถึงพัฒนาการความสัมพันธ์ไทย – สหภาพยุโรป โดยนางโมเกรินิฯ ได้ย้ำถึงความสำคัญของไทยในฐานะหุ้นส่วนที่สำคัญของสหภาพยุโรป ขณะเดียวกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้อธิบายถึงพัฒนาการด้านการเมืองของไทย ตลอดจนการกำหนดวันเลือกตั้ง