หวงฟู่ นักธุรกิจชาวจีนวัย 22 ปี เป็นลูกค้าของบริษัท SinoGene ซึ่งให้บริการโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงในประเทศจีน เนื่องจากเขาทำใจไม่ได้ที่ 'การ์ลิก' แมวสายพันธุ์ 'บริติช ชอร์ตแฮร์' ซึ่งเลี้ยงมาได้ราว 2 ปี ป่วยตายจากการติดเชื้อเมื่อต้นปี และเขาตัดสินใจค้นหาข้อมูลบริษัทที่รับโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยง จนเจอกับบริษัทซิโนจีน
จนกระทั่งปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา บริษัทซิโนจีนได้ออกมาเปิดเผยกับสื่อว่า ขั้นตอนการโคลนนิ่ง 'การ์ลิก' ประสบความสำเร็จด้วยดี พร้อมทั้งอนุญาตให้สื่อมวลชนได้บันทึกภาพลูกแมวการ์ลิกที่เพิ่ง 'เกิดใหม่' ได้ไม่กี่เดือน เพื่อเป็นหลักฐานว่าลูกแมวตัวนี้มีสุขภาพแข็งแรงดีอีกด้วย
ผู้เชี่ยวชาญของบริษัทซิโนจีนเปิดเผยว่า ขั้นตอนการโคลนนิ่ง 'การ์ลิก' เริ่มจากการนำเซลล์ต้นแบบจากการ์ลิกที่เพิ่งตายไปเพาะเลี้ยงเป็นตัวอ่อน จากนั้นจึงนำตัวอ่อนไปฝังในแม่แมวที่ถูกเลือกให้มาอุ้มท้อง และกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 66 วัน จนการ์ลิกคลอดออกมาอย่างปลอดภัยเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม
บริษัทซิโนจีนระบุว่า ขั้นตอนทั้งหมดมีค่าใช้จ่ายรวม 250,000 หยวน หรือประมาณ 1 ล้าน 6 หมื่นบาท ขณะที่ผู้เลี้ยงแมวทั่วประเทศจีนมีจำนวนประมาณ 73 ล้านคน ทำให้บริษัทซิโนจีนมองว่า ช่องทางของธุรกิจโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงนี้ น่าจะมีอนาคตที่สดใสพอสมควร
ที่ผ่านมา บริษัทซิโนจีนเคยโคลนนิ่งแมวและสุนัขมาก่อน แต่ในอนาคต บริษัทตั้งเป้าว่าจะโคลนนิ่ง 'ม้า' ด้วย และอาจจะพัฒนาไปจนถึงการโคลนนิ่งสัตว์หายากหรือสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยระบุว่าน่าจะช่วยเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์เหล่านี้ได้
อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่วิตกกังวลว่าขั้นตอนการโคลนนิ่งสัตว์นั้นไม่เป็นธรรมกับสัตว์ที่ถูกเลือกมาเป็น 'แม่อุ้มบุญ' ซึ่งจะต้องถูกฝังตัวอ่อนลงไปในท้อง
ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ยกตัวอย่างการโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศอื่นๆ พบว่าแม่แมวซึ่งถูกฝังตัวอ่อนไม่ได้คลอดลูกออกมาได้สำเร็จเสมอไป แมวบางตัวตกเลือด และต้องแบกรับภาระตั้งท้องสัตว์โคลนนิ่ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ไร้ความปรานี และเป็นการให้ความสำคัญที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่าง 'สัตว์ทดลอง' กับ 'สัตว์เลี้ยง'
นอกจากนี้ การโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงไม่ได้เป็นการยืนยันว่าสัตว์ที่ได้จะมีลักษณะภายนอกเหมือนกับสัตว์ตัวเดิมทุกประการ เพราะกรณีของ 'การ์ลิก' จะพบว่าลูกแมวที่เกิดจากการโคลนนิ่ง มีลักษณะและสีขนแตกต่างจาก 'การ์ลิก' ที่เป็นตัวต้นแบบ แต่ทางบริษัทซิโนจีนยืนยันกับเจ้าของว่า นี่ไม่ใช่การ 'ย้อมแมว' แน่นอน เพราะได้นำผลเปรียบเทียบดีเอ็นเอของแมวการ์ลิกต้นแบบกับแมวการ์ลิกโคลนนิ่งมาแจกแจงให้เจ้าของแมวรับทราบว่าดีเอ็นเอแมวทั้งสองตัวนั้นเป็น 'สำเนาถูกต้อง'
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงกังวลว่าสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การทดลองโคลนนิ่งตัวอ่อนมนุษย์ในอนาคต ซึ่งเป็นวิธีที่ฝืนธรรมชาติ และอาจจะทำให้ต้องถกเถียงกันใหม่เรื่องสิทธิของมนุษย์โคลนนิ่ง ว่าพวกเขาจะมีสิทธิเหนือร่างกายหรือจิตใจของตนเองหรือไม่
ที่มา: AFP/ Forbes/ The Guardian