ไม่พบผลการค้นหา
แพทย์ได้ลงความเห็นให้ วิเชียร ทักพุก นักท่องเที่ยวที่ลื่นตะไคร่บนกำแพงจนกระดูกคอหัก กลายเป็น 'เป็นผู้พิการ' ครอบครัววอนกรมโยธาธิการฯ เจ้าของโครงการเข้ามาเยี่ยวยาและแสดงความรับผิดชอบ

จากกรณี วิเชียร ทักพุก อายุ 55 ปี ผู้ประสบอุบัติเหตุจากการลื่นล้มบนกำแพงกันคลื่นหาดชะอำใต้ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากบริเวณกำแพงกันคลื่นที่กรมโยธาธิการฯ ดำเนินการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งนั้นมีตะไคร่น้ำเกาะตลอดแนวชายหาด ไม่มีป้ายเตือนและไฟส่องสว่างที่เพียงพอทำให้ วิเชียร ทักพุก นักท่องเที่ยวที่ไปพักผ่อนบริเวณริมชายหาดชะอำลื่นล้มบนกำแพงกันคลื่น จนกระดูกดอหัก

ล่าสุด ภรรยาของนายวิเชียร ทักพุก ได้ให้ข้อมูลว่า ภายหลังการรักษาตัว เกือบ 1 เดือนเต็ม จนออกจากโรงพยาบาลได้แล้วนั้น วันนี้ (8 พฤษภาคม 2566) แพทย์ได้ลงความเห็นให้ วิเชียร ทักพุก เป็นผู้พิการ ภรรยาของวิเชียร ได้กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ อยากให้กรมโยธาธิการฯ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการที่ดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น จนทำให้วิเชียร ได้รับอุบัติเหตุนั้นได้เข้ามาเยียวยาครอบครัวของตนอย่างเป็นธรรม และแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสามีตนเองนั้นเกิดกับคนอื่นต่อไป

โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดชะอำ จ.เพชรบุรี ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยมี 3 ระยะโครงการ แล้วเสร็จไปแล้ว 2 ระยะ ยังไม่ส่งมอบงานแก่ท้องถิ่น โครงการดังกล่าวนั้นเป็นโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นรูปแบบคอนกรีตเสริมเหล็กขั้นบันไดทำให้เมื่อน้ำกระทบกับกำแพงกันคลื่นจึงเกิดตะไคร่น้ำ และสาหร่ายเกาะตลอดแนวกำแพงกันคลื่นทั้ง 3 ระยะโครงการ ถึงแม้หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวกรมโยธาธิการฯ ได้ให้ท้องถิ่นและผู้ประกอบการริมชายหาดชะอำ ช่วยกันขัดตะไคร่น้ำและทำความสะอาดกำแพงกันคลื่น รวมถึงติดป้ายแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวลื่นล้มบนบันไดกำแพงกันคลื่น แต่อย่างไรก็ตาม ความเสียหาต่อครอบครัวของผู้ประสบอุบัติเหตุจากกำแพงกันคลื่น และการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนที่เข้าใช้ประโยชน์ริมชายหาดชะอำใต้ ในพื้นที่โครงการของกรมโยธาธิการฯ จะต้องได้รับการคุ้มครองและปลอดภัย รวมถึงเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งต่อตัวผู้ประสบอุบัติเหตุ และ ต่อผู้ใช้ชายหาดอย่างเป็นธรรม

และขอให้กรมโยธาธิการฯ พิจารณาทบทวนการนำเอามาตรการกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน มาใช้ในการป้องกันชายฝั่ง เพราะจากกรณีที่เกิดการลื่นล้มจากตะไคร่น้ำนั้นพิสูจน์แล้วว่า กำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดไม่มีความเหมาะสมในการป้องกันชายฝั่งในพื้นที่หาดท่องเที่ยวที่มีประชาชนใช้ประโยชน์ชายหาดจำนวนมาก