จากการรายงานข้อมูลของเพจ Beach for life ระบุว่า ได้เกิดเหตุการณ์ที่นักท่องเที่ยวชายอายุ 55 ปี ประสบอุบัติเหตุลื่นล้มบนกำแพงกันคลื่น บริเวณหาดชะอำใต้ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยภรรยาผู้ประสบอุบัติเล่าว่า สามีของตนได้ไปพักผ่อนที่ริมชายหาดชะอำ และได้เดินเล่นริมชายหาดบริเวณกำแพงกันคลื่นจนถึงช่วงใกล้ค่ำ ด้วยสภาพชายหาดชะอำที่กำแพงกันคลื่นมีตะไคร่น้ำปกคลุมหนาเเน่นตลอดแนว ประกอบกับบริเวณพื้นที่โครงการกำแพงกันคลื่นไม่มีไฟส่องสว่าง และ ไม่มีป้ายเตือนอันตรายจากเจ้าของโครงการ ทำให้สามีของตนลื่นล้มศรีษะกระแทกกับแพงกันคลื่น ทำให้กระดูกคอหัก ปัจจุบันได้รับการรักษา ณ โรงพยาบาลราชบุรี อาการปลอดภัยแล้ว
ภรรยาของผู้ประสบเหตุระบุเพิ่มเติมว่า สามีเป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่นนี้ ทำให้อนาคตของครอบครัวนั้นไม่รู้จะเป็นอย่างไรต่อ อีกทั้งจนถึงวันนี้ ยังไม่ได้รับการติดต่อเยียวยาจากหน่วยงานเจ้าของโครงการ ที่ทำให้สภาพแวดล้อมชายหาดชะอำเปลี่ยนไปเป็นกำแพงกันคลื่นที่เต็มไปด้วยตะไคร่น้ำและอันตราย จึงอยากให้หน่วยงานเจ้าของโครงการนั้นแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสามีตนเองนั้นเกิดกับคนอื่นต่อไป
โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยมี 3 ระยะโครงการ แล้วเสร็จไปแล้ว 2 ระยะ ยังไม่ส่งมอบงานแก่ท้องถิ่น โดยโครงการนี้ ก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในรูปแบบคอนกรีตเสริมเหล็กขั้นบันได ทำให้เมื่อน้ำกระทบกับกำแพงกันคลื่นจึงเกิดตะไคร่น้ำ และสาหร่ายเกาะตลอดแนวกำแพงกันคลื่นทั้ง 3 ระยะโครงการ
Beach for life ระบุว่า ที่ผ่านมา บริเวณพื้นที่โครงการไม่มีป้ายเตือนภัยอันตรายจากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น อีกยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะป้องกันให้ผู้ใช้ประโยชน์ริมชายหาดมีความปลอดภัยจากการใช้ประโยชน์ริมชายหาดชะอำใต้
ล่าสุดวันนี้ เพจ Beach for life ออกแถลงการณ์ถึงกรมโยธาธิการฯ ต่อคสามรับผิดชอบและคุ้มครองสวัสดิ์ภาพของประชาชน ดังนี้
“การดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในลักษณะขั้นบันไดของกรมโยธาฯ มักเกิดตะไคร่น้ำเกาะตามแนวกำแพงกันคลื่น เนื่องจากน้ำทะเลท่วมถึงขั้นบันไดของกำแพงกันคลื่น ก่อให้เกิดความอันตรายต่อการใช้ประโยชน์ชายหาด โดยเฉพาะสวัสดิภาพเเละความปลอดภัยของประชาชนในการเข้าถึงพื้นที่ชายหาดได้อย่างปลอดภัย ซึ่งถือเป็นการละเลยต่อการคุ้มครองสวัสดิภาพ ความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงขัดต่อหลักการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน” ตามที่กรมโยธาธิการฯกล่าวอ้างถือปฏิบัติมา Beach for life เล็งเห็นว่า กรมโยธาธิการต้องทบทวนแนวทางในการป้องกันชายฝั่ง และเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของกรมโยธาธิการที่ต้องดำเนินการ เพื่อไม้ให้เป็นที่ครหาว่ากรมโยธาฯเป็นกรมที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมและสารทุกข์สุขของประชาชน”
1. กรมโยธาธิการฯ ต้องออกมายอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา เเละเเสดงรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อันเป็นผลสืบเนื่องจากโครงการของกรม รวมถึงผลกระทบในมิติอื่นๆที่เกิดขึ้นจากการที่กรมโยธาฯไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดให้กลายสภาพเป็นกำแพงกันคลื่น
2. กรมโยธาธิการฯ ต้องเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับอุบัติเหตุจากการดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการอย่างเป็นธรรม และครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นทุกมิติโดยไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ
ที่มา https://www.facebook.com/Beachforlife.BFL/photos/2829542063847164