วันที่ 24 ก.พ.นี้ จะเป็นวันครบรอบ 1 ปีเต็ม นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากการรุกรานยูเครนขนานใหญ่ อันเป็นการเริ่มสงครามภาคพื้นดินในยุโรป ซึ่งปูตินยังคงอ้างว่าเป็น “ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ” ทั้งนี้ การสู้รบที่เข้มข้นยังคงดำเนินต่อไปในพื้นที่ตะวันออกของยูเครน ซึ่งบอบช้ำอย่างรุนแรงจากสงคราม โดยปัจจุบันมีรายงานผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนกว่าหลายหมื่นคนแล้ว
ในการขึ้นพูดนานกว่าชั่วโมง ปูตินพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับการรุกรานของรัสเซีย โดยประธานาธิบดีรัสเซียอ้างว่า รัสเซียพยายามช่วยให้พลเมืองในภูมิภาคดอนบาสมีปากมีเสียงและพูดใน "ภาษาของตัวเอง" ในขณะที่รัสเซียในตอนนี้กำลังหาทางออกอย่างสันติจากความขัดแย้ง
ปูตินยังอ้างถึงการขยายตัวขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) และระบบป้องกันขีปนาวุธแบบใหม่ของยุโรปว่าเป็นการยั่วยุรัสเซีย และกล่าวว่าเป้าหมายของตะวันตกคือ "อำนาจที่ไม่มีที่สิ้นสุด" นอกจากนี้ ปูตินยังใช้คำปราศรัยเพื่อประกาศว่ารัสเซียกำลังระงับการเข้าร่วมในสนธิสัญญา New START กับสหรัฐฯ ที่มีเนื้อหาในข้อตกลงในการจำกัดคลังอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ของทั้งสองฝ่าย
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการ NATO กล่าวว่ากลุ่มพันธมิตรทางทหารของพวกเขาเรียกร้องให้รัสเซียพิจารณาการตัดสินใจดังกล่าวใหม่ ทั้งนี้ สโตลเตนเบิร์กยังเน้นย้ำว่ารัสเซียเป็นผู้รุกราน และกล่าวว่าปูตินแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า เขากำลังเตรียมทำสงครามเพิ่มขึ้นจากเดิม ทั้งนี้ เลขาธิการ NATO กล่าวย้ำว่าการสนับสนุนยูเครนจากกลุ่มพันธมิตรจะยังตงต้องดำเนินต่อไป และ NATO แสดงความกังวลว่าจีนกำลังวางแผนที่จะสนับสนุนรัสเซียในสงคราม
มิคาอิล อุลยานอฟ เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลรัสเซียกล่าวบนทวิตเตอร์ว่า การระงับการตกลงข้อตกลง New START กับสหรัฐฯ ของรัสเซีย “ไม่ได้หมายความว่า (รัสเซีย) จะถอนตัว” และการกลับเข้าสู่การพิจารณาสนธิสัญญาดังกล่าวนั้นยังคงเป็นไปได้ภายใต้ “สถานการณ์บางอย่าง” อย่างไรก็ดี ปูตินกล่าวเตือนเสริมในสุนทรพจน์ของเขาว่า รัสเซียอาจกลับมาทดสอบนิวเคลียร์อีกครั้ง
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (18 ก.พ.) รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่า รัสเซียได้ก่อ “อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ” ระหว่างการรุกรานยูเครนที่ดำเนินมาตลอดทั้งปี ทั้งนี้ นักวิเคราะห์การเมืองกล่าวว่า การตัดสินใจของปูตินในการรุกรานยูเครนเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดในอาชีพทางการเมืองของเขา และมันส่งผลให้รัสเซียอ่อนแอลงในอีกหลายปีข้างหน้า
ก่อนหน้านี้ รัสเซียผนวกไครเมียของยูเครนเข้าเป็นของตัวเองในปี 2557 หลังจากการลงประชามติปลอม การรุกรานในครั้งนั้นถูกประณามอย่างเป็นวงกว้างจากประชาคมระหว่างประเทศ และส่งผลให้เกิดการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกต่อเจ้าหน้าที่รัสเซีย ก่อนที่ในปีที่แล้ว รัสเซียจะได้ผนวกดินแดน 4 แห่งของยูเครน ทั้ง โดเนตสก์ และลูฮานสก์ ซึ่งครอบคลุมภูมิภาคดอนบาส และเคอร์ซอนและซาปอริซเซีย ซึ่งยูเครนและพันธมิตรยังประณามว่าผิดกฎหมายและไม่มีความชอบธรรม
ในการกล่าวสุนทรพจน์วันนี้ ปูตินยังได้กล่าวถึงกรณีของดอนบาส โดยประธานาธิบดีรัสเซียอ้างว่ารัสเซียเห็นภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคที่มีความขัดแย้ง ก่อนการรุกรานในวันที่ 24 ก.พ. “เราไม่สงสัยเลยว่าภายในเดือน ก.พ. 2565 ทุกอย่างถูกเตรียมพร้อมเพื่อการดำเนินการอันเป็นโทษต่อดอนบาส ซึ่งระบอบการปกครองของยูเครนได้จัดหาปืนใหญ่ และเครื่องบิน และอาวุธอื่น ๆ เพื่อโจมตีดอนบาสในปี 2557 ในปี 2558 พวกเขาพยายามโจมตีดอนบาสโดยตรงอีกครั้ง พวกเขายังคงระดมยิงด้วยความหวาดกลัว” ประธานาธิบดีรัสเซียกล่าว
“ทั้งหมดนี้ขัดแย้งกับเอกสารที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยอมรับโดยสิ้นเชิง ผมอยากจะพูดซ้ำอีกครั้งว่า พวกเขาเป็นคนเริ่มสงคราม และเราใช้กำลังเพื่อหยุดมัน” ปูตินอ้างว่ารัสเซียไม่มีส่วนรับผิดชอบจากสงครามยูเครนในครั้งนี้ การกล่าวสุนทรพจน์ "สถานะของชาติ" โดยปูตินเมื่อวันอังคารถูกส่งไปยังฝ่ายนิติบัญญัติและเจ้าหน้าที่ทหารในกรุงมอสโก และยังถูกนำมาออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐด้วย
ปูตินกล่าวว่า รัสเซียกำลังมองหาวิธีการสร้างถนนทางหลวงไปยังไครเมีย และออกกฎหมายโครงการ “ฟื้นฟูสังคม” ให้กับดินแดนของยูเครนที่ถูกอ้างสิทธิ์ในการควบคุมภายใต้อำนาจรัสเซีย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ยูเครนมีท่าทีท้าทายคำกล่าวของปูติน โดย โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ยืนกรานในหลายครั้งว่า ยูเครนจะไม่ยอมจำนนต่อสิ่งใดนอกจากการคืนสถานภาพทุกอย่าง ให้กลับไปเหมือนเดิมก่อนการรุกรานของรัสเซีย รวมถึงเงื่อนไขอื่นๆ
ปูตินยังประกาศอีกว่ารัสเซียกำลังดำเนินการเปิดตัวกองทุนของรัฐ เพื่อช่วยเหลือทหารผ่านศึกและครอบครัวของทหารที่เสียชีวิตในสงครามที่ยูเครน และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการลดภาษีสำหรับธุรกิจที่ซื้อสินค้าในประเทศ และโครงการเพื่อการส่งเสริมให้ประชาชนออมเงินและลงทุนภายในประเทศ
เมื่อวานนี้ (20 ก.พ.) โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เดินทางไปเยือนกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนโดยไม่มีการประกาศล่วงหน้า ซึ่งไบเดนได้พบกับเซเลนสกี ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นการ “ยืนยันความมุ่งมั่นที่แน่วแน่และไม่ย่อท้อของเราต่อประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน” นอกจากนี้ ไบเดนยังสัญญาว่าจะจัดส่งกระสุนปืนใหญ่และระบบต่อต้านยานเกราะให้แก่ยูเครนในจำนวนมากขึ้น และประกาศมาตรการคว่ำบาตรบริษัทรัสเซียและชนชั้นนำของรัสเซียเพิ่มเติม
ที่มา: