กระแสการใช้แร่ธาตุแรร์เอิร์ธเป็นเงื่อนไขในการต่อรองของจีนท่ามกลางความไม่ลงตัวของการเจรจายุติข้อพิพาททางการค้าระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนรายหนึ่งออกมากล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แร่แรร์เอิร์ธเป็นวัตถุดิบในการผลิตไม่ควรนำมาใช้เพื่อทำร้ายการพัฒนาของจีน ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (ซีซีทีวี)
เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนกล่าวว่า "คุณแนะนำให้นำแร่แรร์เอิร์ธมาใช้ในการโจมตีกลับต่อการแบนสินค้าจีนของสหรัฐฯ สิ่งที่ผมพูดได้ก็คือใครก็ตามที่ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากแร่แรร์เอิร์ธเพื่อมาบั่นทอนการเติบโตของจีน คงทำให้ผู้คน (ที่มณฑลเจียงซีซึ่งเป็นที่ขุดแร่) และประชาชนจีนที่เหลือทั้งหมดไม่พอใจ"
นอกจากนี้ บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ประชาชน (People Daily) หนังสือพิมพ์อย่างเป็นทางการของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ในวันพุธ (29 พ.ค.) เตือนว่า สหรัฐฯไม่ควรประมาทความสามารถในการต่อสู้ของจีน โดยใช้ภาษาจากประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจีนที่มีความรุนแรงซ่อนอยู่
บทความตอนหนึ่งในหนังสือพิมพ์มีการใช้ประโยคที่มีความหมายว่า "อย่ามาพูดว่าเราไม่ได้เตือนคุณ" ซึ่งเป็นประโยคที่ใช้ในปี 2505 ก่อนที่จีนจะทำสงครามกับอินเดีย และ "ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับแวดวงภาษาที่ใช้ทางการฑูตของจีนรู้ดีว่าประโยคนี้มีน้ำหนักมากแค่ไหน" โดยประโยคดังกล่าวยังเคยถูกใช้ก่อนจะเกิดความขัดแย้งระหว่างจีนและเวียดนามในปี 2522
'แรร์เอิร์ธ' แร่ที่ 'สหรัฐฯ' ขาดไม่ได้
สัดส่วนการนำเข้าแร่ธาตุแรร์เอิร์ธของสหรัฐฯอาจไม่ได้มีมูลค่ามากนักในเม็ดเงินเกินดุลการค้าสหรัฐฯ 4.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯของจีน หรือประมาณ 13.3 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามแรร์เอิร์ธมีความหมายมากกว่าเงินดอลลาร์มากสำหรับบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ เนื่องจากแร่นี้ถูกใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายอย่าง เช่น ไอโฟน ยานพาหนะอิเล็กทรอนิกส์ และอาวุธที่มีความแม่นยำระดับสูง
ล่าสุดผู้ประกอบการบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ออกมาประท้วงการตัดสินใจของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อการแบนหัวเว่ย ที่ยิ่งทำให้การเจรจายุติสงครามการค้าห่างไกลกับคำว่าทางออก สอดคล้องกับที่ ไมเคิล แคทซ์ หุ้นส่วนจากบริษัทเซเว่นพอยท์แคปิตอล กล่าวว่า นักลงทุนในสหรัฐฯ จะเผชิญความท้าทายและแบกภาระเพิ่มอีกมากจากปัญหาตรงนี้
"ด้วยข่าวแร่แรร์เอิร์ธ ผมคิดว่านักลงทุนหลายคนคงตระหนักได้ว่าสิ่งนี้มันมากแค่เรื่องสงครามการค้า" ไมเคิล กล่าว
นักวิเคราะห์จากสำนักข่าวบลูมเบิร์กมองว่า สหรัฐฯยังคงต้องพึ่งพาแร่แรร์เอิร์ธจากจีน ซึ่งเป็นผู้ครอบครองกว่าร้อยละ 80 จากแร่แรร์เอิร์ธทั่วโลก อย่างไม่มีทางเลือก
ขณะที่จีนก็ทราบถึงไพ่ในมือที่เหนือกว่าสหรัฐฯในประเด็นนี้ หลัง สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนพร้อมด้วยหวัหน้าฝ่ายเจรจาสงครามการค้ากับสหรัฐฯของจีน ร่วมเดินทางไปยังเหมืองขุดแร่แรร์เอิร์ธในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ตอกย้ำกระแสกลยุทธ์โต้ตอบสหรัฐฯ ด้วยแร่ชนิดนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :