ไม่พบผลการค้นหา
‘ศรีสุวรรณ’ ซัดนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย จวก ‘เศรษฐา’ หลอกลวงประชาชน ยกกฎหมายอ้างระบุ สินทรัพย์ดิจิทัลต้องถูกหักภาษี 15% เข้ากระเป๋าประชาชนเพียง 8,500 บาท พบอาจผิดทั้งทางแพ่ง และอาญา จี้ กกต. เร่งตรวจสอบ หวั่นสร้างผลกระทบเหมือนนโยบายจำนำข้าว

วันที่ 10 เม.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย โดยกล่าวว่า เป็นประเด็นที่ทำให้ประชาชนเกิดความสงสัย แม้ว่า กกต. จะระบุว่าไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา 73 อนุมาตรา 1 แต่ตนมองไปอนุมาตรา 5 ว่าอาจจะเข้าข่ายหลอกลวง หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยม เพราะเงินดิจิทัลไม่ใช่ว่าจะนำเงินมาแจกกันง่ายๆ แต่มีข้อกฎหมายระบุไว้ใน พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2561 กำกับดูแลอยู่ และยังมี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 19 ปี 2561 บัญญัติควบคุมอยู่ 

ซึ่งประมวลกฎหมายรัษฎากรระบุว่า ใครจะทำการซื้อขายถ่ายโอนสินทรัพย์ดิจิทัลต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% นั่นหมายความว่า หากพรรคเพื่อไทยแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะต้องถูกหักไปประมาณ 1,500 บาท และประชาชนจะได้รับจริงเพียงแค่ 8,500 บาท ทำให้เงินถึงมือประชาชนไม่ครบ ซึ่งข้อมูลนี้ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยไม่ได้แจ้งให้ประชาชนรู้ อีกทั้งผู้ที่รับเงินดังกล่าว และร้านค้าที่รับเงิน เมื่อถึงปีภาษีจะต้องมีการแจ้งต่อสรรพากรด้วยเช่นกัน เพราะหากไม่รายงานจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายรัษฎากรฯ 

นอกจากนี้ สิ่งที่ตนสงสัยมากกว่านั้นคือ ก่อนที่ เศรษฐาจะลาออกจาก บมจ.แสนสิริ และโอนหุ้นทั้งหมดให้กับลูกสาว เศรษฐาก็เป็นผู้ หรือเกี่ยวข้องกับบริษัทสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ด้วย ซึ่งบริษัทดังกล่าวล้มเหลว เพราะฉะนั้นการที่เศรษฐามากระตุ้นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้หลายคนเชื่อมโยงได้ว่า อาจมีการเอื้อกับธุรกิจตัวเองหรือไม่ เพราะใน พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2561 มาตรา 24 ระบุว่า ห้ามบุคคลวงใน หรือบุคคลที่มีข้อมูลเบื้องลึกดำเนินการ แม้เศรษฐาจะโอนหุ้นให้ลูกสาวแล้ว แต่ก็ถือว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน ย่อมรู้ข้อมูลเบื้องลึกอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องนี้จึงมีความผิดทั้งทางแพ่ง และอาญา ทำให้เรื่องทั้งหมดไม่เพียงเป็นเรื่องสัญญากับประชาชน และทาง กกต.มีหน้าที่ต้องตรวจสอบว่าที่มาของเงินมาจากไหน เกิดผลประโยชน์ หรือผลกระทบใดๆ กับสังคม 

หากทาง กกต. วินิจฉัยว่า เข้าข่ายผิดตามกฎหมาย ก็ต้องแจ้งไปทางคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 22 ระบุว่า ให้หยุดดำเนินการเรื่องดังกล่าว และแก้ไขให้ถูกต้อง 

ศรีสุวรรณ ยังย้ำว่า ในอดีตพรรคเพื่อไทยเคยใช้นโยบายประชานิยมแบบสุดขั้ว เช่นนโยบายจำนำข้าว ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในเมืองไทยมหาศาล และทาง กกต.ชุดนั้นก็ไม่ได้แสงความรับผิดชอบแต่อย่างใด วันนี้จึงต้องมาร้องให้ กกต. ดำเนินการตามกฎหมาย หากผิดก็ว่าไปตามผิด หากไม่ผิดก็ว่าไปตามไม่ผิด