ไม่พบผลการค้นหา
หลัง 'ใบเสร็จ' การแจกกล้าวยว่อนโซเชียลฯ และเป็นข่าวหลายระลอก 'วีระ สมความคิด' ประธานยุทธศาสตร์แผนงานต้านคอร์รัปชัน พรรคเสรีรวมไทย นักตรวจสอบคอร์รัปชั่นตัวยง แสบสุดออกมาโพสต์เฟซบุ๊กชวนให้ ร.อ.ธรรมนัส มาร่วมมือกันแฉว่าผู้ใด หัวหน้าพรรคการเมืองใด เป็นคนสั่งให้จ่ายเงินเดือน หรือแจกกล้วยให้แก่บรรดา ส.ส.พรรคเล็ก 9 คน หากให้ความร่วมมือ กกต. อาจไม่ดำเนินคดี ตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง แต่หากไม่ร่วมมือก็ไม่เป็นไร เพราะหลักฐานที่มีก็มากเกินพอจะเอาผิดกับทุกคนได้อยู่แล้ว และสามารถนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองนั้นได้

วีระระบุว่า คาดว่าต้นเดือน ส.ค. 2565 รอให้ข้อมูลและหลักฐานนิ่งสักระยะ จะรวบรวมหลักฐานทั้งหมดไปยื่นกล่าวหาต่อ กกต. และ ป.ป.ช. คราวนี้ต้องวัดใจ กกต. กับ ป.ป.ช. แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะช่วยเหลือกัน เพราะข้อมูลความจริงคนทั้งประเทศรู้เห็นกันหมดแล้ว ประชาชนตัดสินกันไปก่อนแล้ว วันใดประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน คดีเหล่านี้ยังอยู่ในอายุความที่จะเอาผิดได้ รื้อคดีขึ้นมาจัดการเอาผิดได้ทั้งหมด ไม่ต้องห่วง

นักตรวจสอบคนต่อมา ศรีสุวรรณ จรรยา โพสต์เฟซบุ๊กเบาๆ อธิบายว่าการรับเงินนั้นผิดอย่างไร 

"ส.ส.รับเงินกัน อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 128 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สิน หรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด” ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563 แล้ว กำหนดว่า “เจ้าพนักงานของรัฐจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาได้แต่ละโอกาสไม่เกิน 3,000 บาทเท่านั้น

ทั้งนี้ ส.ส.ที่ฝ่าฝืน จะมีความผิดตามมาตรา 169 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 10 และข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสองได้ ซึ่งหาก ป.ป.ช. ชี้มูลว่าฝ่าฝืนจริง ก็อาจยื่นคำร้องส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ ส.ส.ผู้นั้น และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 235 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 87

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจน สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะรวบรวมพยานหลักฐานจากแหล่งที่ปรากฏในสื่อสำนักต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย กลุ่มไลน์ต่างๆ และแหล่งข่าว เพื่อนำไปประมวลยื่นให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หากได้หลักฐานเพียงพอ คาดว่าจะนำไปยื่นได้ในสัปดาห์หน้านี้”

ส่วนโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน (ไอลอว์) ก็รีบพลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องดูหลังมีข่าวสลิปหลุด โดยระบุว่าตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 กำหนดว่า

"มิให้เจ้าพนักงานรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันใครได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่โดยอาศัย...กฎหมาย" 

นอกจากนี้ ประกาศ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563 ในข้อ 6 และข้อ 7 ยังกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมจากกฎหมายแม่ว่า 

"ผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. และ ส.ว. ห้ามรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นได้จากผู้ที่ไม่ใช่ญาติ ในแต่ละโอกาสไม่เกิน 3,000 บาท"

ทั้งนี้ หาก ส.ส. หรือ ส.ว. รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาท ให้แจ้งต่อประธานสภาที่เป็นสมาชิก ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้สิ่งนั้นไว้

จากนั้นประธานสภาจะวินิจฉัยว่า มีเหตุผลความจำเป็นว่า ส.ส. หรือ ส.ว.ที่แจ้งมาสมควรได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่เกิน 3,000 บาท หรือไม่ หากประธานสภามีคำสั่งว่าไม่สมควรได้รับสิ่งนั้น ก็ให้คืนสิ่งที่ได้รับแก่ผู้ให้ทันที

โดยการฝ่าฝืนรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาท มาตรา 128 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กำหนดโทษ "จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"