ไม่พบผลการค้นหา
จากประเด็นเงินกู้ 45 ล้านของ ‘สถาบันการเงินชุมชนบัลลังก์’ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ซึ่งทำหน้าที่เป็น ‘ผู้บริหารการเงิน’ ให้กับ 16 หมู่บ้านในตำบล โดยมีธนาคารออมสิน สาขาโนนไทย เป็น ‘พี่เลี้ยง’ เมื่อปี 2554

จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกรณีกรรมการกองทุนหมู่บ้าน 16 ชุมชน ที่เป็นตัวแทนในการเซ็นสัญญากู้ยืม เริ่มทยอยถูกธนาคารออมสินฟ้องร้อง เนื่องจากเงินชำระหนี้ของชาวบ้านที่ผ่านตัวกลางคือ ‘สถาบันการเงินชุมชนบัลลังก์’ กับไม่ถึงธนาคาร โดยตัวสถาบันการเงินชุมชนอ้างว่าชาวบ้านไม่ได้ส่งเงินตามยอดชำระ 

ทว่าเมื่อ ‘วอยซ์’ สอบถามประชาชนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว ทำให้พบข้อมูลที่น่าสนใจคือเงินบางส่วนจากการกู้ยืมถูกนำไปปล่อยกู้ โดยกรรมการกองทุนแต่ละหมู่บ้านที่ถูกฟ้อง ไม่เคยแตะต้องเงินที่กู้ยืมมาแม้แต่บาทเดียว 

ธนาคารออมสิน

ขณะเดียวกัน ‘วอยซ์’ ได้ต่อสายตรงไปยัง ‘อดีตประธานสถาบันการเงินตำบลบังลังก์’ ซึ่งป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและอยู่ในห้วงที่เกิดปัญหา แต่คำตอบจากปลายสายกลับถูกปฏิเสธ โดยอดีตผู้ประธานเกรงว่าจะถูกตีความผิด และขอให้เป็นเรื่องของกฎหมาย

เหล่านี้ที่เกิดขึ้น’ วอยซ์’ ขยับประเด็นไปที่กรรมการกองทุนหมู่บ้านจาก 2 อำเภอในพื้นที่โนนไทยและพระทองคำ ซึ่งถูกฟ้องร้องโดยธนาคารออมสิน เพื่อเชื่อมร้อยเรื่องราวจากชะตา ‘คนกู้ไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้กู้’ 


“พี่เลี้ยงสถาบันการเงิน”

‘มุทิตา มาคา’ กรรมการกองทุนหมู่บ้าน อ.พระทองคำ จ.นครราชสีมา หนึ่งในผู้ตกเป็นจำเลยจากการถูกฟ้อง เล่ากับวอยซ์ว่าเมื่อปี 2554 ธนาคารออมสินได้จัดโครงการสินเชื่อพัฒนาชนบทให้กู้ในรูปแบบ OD หรือ 'สินเชื่อเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี' 

ต่อมาปี 2558 หลังการก่อตั้งสถาบันการเงินชุมชนในพื้นที่อำเภอพระทองคำ เธอและกรรมการกองทุนได้ยื่นเรื่องกู้กับธนาคารแต่ไม่ผ่านอนุมัติ โดยทางธนาคารออมสินได้แนะนำให้ไปกู้ยืมกับสถาบันการเงินชุมชน ซึ่งเธอก็เกิดคำถามตามมาว่า “ทำไมไม่ให้กู้ยืมกับธนาคารโดยตรง” และ “ทำไมกู้กับสถาบันถึงผ่านอนุมัติ” ซึ่งทั้ง 11 หมู่บ้านที่ถูกฟ้องจากวงเงินกู้ยืมรวมกัน 28 ล้านบาทนั้น ต่างได้รับคำแนะนำจากธนาคารออมสิน

ซึ่งบรรยากาศวันนั้นเธอเล่าว่าทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น ธนาคารผู้เปรียบเสมือน ‘พี่เลี้ยง’ ได้อำนวยความสะดวกอย่างเสร็จสรรพ ทว่าจากความเรียบง่าย กลับกลายเป็นความยุ่งเหยิง จนนำมาสู่ปัญหาจากการบริหารของสถาบันการเงินชุมชน

“พอสถาบันเอาเงินไปบริหาร โดยการปล่อยกู้ให้กับคนทั่วไปซึ่งกรรมการไม่รู้เลยว่าจะมีการบริหารแบบนี้ พอเกิดปัญหาขึ้นสถาบันก็อ้างว่าเก็บหนี้ไม่ได้ แต่ความจริงคือเก็บได้แต่ไม่ส่งคืนกับทางธนาคาร เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านเขาก็ทยอยส่งตามกำหนดชำระมาตลอด”

เธอยังชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ในการปล่อยกู้เงินของสถาบัน โดยเธอมองว่า ‘ง่ายเงินไป’ เพียงนำโฉนดที่ดินมาโดยไม่ต้องจำนอง พอเกิดปัญหาเรื่องเงินกับธนาคาร ประธานสถาบันการเงินชุมชนก็ชี้แจงว่า ‘เก็บเงินไม่ได้’ กระทั่งวันดีคืนดีก็มีหนังสือจากศาลประทับ ‘ฟ้องกรรมการหมู่บ้าน’ ทั้ง 9 คน 

“เงินที่กู้มาเราไม่ได้เอามาใช้เลยสักบาท กรรมการเป็นแค่ตัวแทนที่กู้มาให้สถาบันบริหารตามคำแนะนำของธนาคาร พอเกิดปัญหาธนาคารก็พูดเพียงว่า กรรมการเป็นคนลงนามก็ต้องรับผิดชอบ”

หลายสิ่งที่ถาโถมมาพร้อมการฟ้องร้องยังกระทบความสัมพันธ์ในครอบครัว เธอบอกหลายบ้านเกิดความแตกแยกกลายเป็นปัญหาครอบครัว หนำซ้ำการขึ้นศาลแต่ละครั้งก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับทั้งการเดินทางและการต่อสู้ทางคดี 

“ถ้าศาลมีคำสั่งว่าเราผิด กรรมการทั้ง 9 คนจะเอาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ จากเงินที่เราไม่ได้ใช้เลยสักบาท แต่ถ้าจะให้ยอมเราไม่ยอมหรอก จะสู้จนถึงที่สุด” มุทิตา เล่าความรู้สึก


เคียงข้างประชาชนอย่างไร?

“ฉันไปขึ้นศาลในฐานะพยานของหมู่ที่ 8 ศาลท่านก็พูดว่าก็เราไปเซ็นตอนนั้นฉันเครียดเลยนะว่า เราจะเอาอะไรไปสู้กับธนาคาร แล้วอยากถามถึงสโลแกนธนาคารที่ว่าเคียงข้างประชาชน มันเคียงข้างประชาชนตรงไหน ฉันก็คิดว่าเป็นธนาคารของรัฐ ก็คิดว่าเขาจะไม่ทำให้เราเดือดร้อน”

ด้วยเหตุนี้มุทิตาได้เรียกร้องให้ธนาคารสาขาใหญ่ลงมาตรวจสอบ เพราะไม่แน่ใจว่าแนวคิดเรื่องให้กู้กับสถาบันเป็นนโยบายจากส่วนกลางหรือว่าเฉพาะสาขาโนนไทย

“ช่วยมาแก้ปัญหาอย่างจริงใจ และตามหนี้คนที่คุณสนับสนุนให้กรรมการไปกู้ด้วย พอส่งเจ้าหน้าที่มาก็มีแต่การอ้างกฎหมายว่าเราต้องรับผิดชอบ แต่ในความจริงคือธนาคารเรียกแต่ละหมู่บ้านมาเซ็น แล้วไม่เคยบอกอะไรเลยว่าจะนำเงินที่กู้ไปบริหารอย่างไรต่อ”

ไทยติดหนึ่งในห้าประเทศคอร์รัปชัน

เช่นเดียว ‘เอื้อมพร’ หนึ่งในคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านที่ตกเป็นผู้ถูกฟ้องจากธนาคารออมสิน เธอได้บอกเล่าถึงความไม่เป็นธรรมกับ ‘วอยซ์’ ว่า หลังจากที่สถาบันการเงินชุมชนฯ ‘ยืมมือ’ คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านกู้เงินกับธนาคารออมสิน เงินทั้งหมดที่กู้มาราว 3 ล้านบาท ผู้กู้เองไม่ได้จับเงินแม้แต่บาทเดียว โดยเงินส่วนนี้สถาบันการเงินนำไปบริหารทั้งหมด ด้วยการนำไปปล่อยกู้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน

“ที่ผ่านมาไม่เคยรับรู้อะไรเลย มีแต่สถาบันการเงินและธนาคารบริหาร จนกระทั่งมีหนังสือฟ้องกรรมการกองทุนหมู่บ้านจากธนาคารออมสิน เพื่อทวงถามหนี้ โดยธนาคารบอกว่าผู้ที่ลงนามกู้คือกรรมการกองทุนหมู่บ้าน จึงต้องรับผิดชอบ” ผู้ถูกฟ้อง ฉายมูลเหตุ

ต่อมาเมื่อเรื่องถึงศาล 'เอื้อมพร' และกรรมการที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญายินยอมระหว่างกรรมการกับธนาคาร โดยมีสัญญาชดใช้เงิน 3.4 ล้านบาทภายใน 5 ปี แบ่งจ่ายปีแรก 100,000 บาท ปีที่ 2-4 จำนวน 350,000 บาท ปีสุดท้ายรวมทบต้นทบดอกต้องจ่ายกว่า 2 ล้านบาท

“พวกเราไม่มีปัญญาส่งแน่นอน และทุกวันนี้ธนาคารออมสินเขายังคิดดอกเบี้ยเราทุกวัน ตอนนี้ในหมู่บ้านแบกภาระไม่ไหวแล้ว เพราะเงินที่สถาบันการเงินชุมชนเก็บจากการปล่อยกู้ เขาไม่ได้ส่งคืนมา ตอนนี้ไม่รู้จะเอาเงินมาจากที่ไหน ตอนนี้ห่วงว่าจะถูกฟ้องจนไม่เหลือที่ทำกิน”

เมื่อครั้งที่กรรมการกองทุนหมู่บ้านสอบถามไปยังอดีตประธานสถาบันการเงินชุมชน ก็ได้รับคำตอบเช่นเดิมว่า ‘ลาออกแล้วไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง’ ทว่าชาวบ้านพบเอกสารที่น่าสนใจ ในปี 2564 ก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ ‘ร.ต.ฐนนท์ธรณ์’ ลงนามรับสภาพหนี้แต่ละกองทุน ‘เอื้อมพร’ จึงตั้งคำถามว่าหากไม่เกี่ยวข้องแล้วมาลงนามในเอกสารด้วยเหตุใด 

สุดท้ายแล้วสิ่งที่เกิดขึ้น หนึ่งในผู้ถูกฟ้องจากธนาคารออมสิน ได้เรียกร้องให้ธนาคารเปิดเผยเส้นทางการเงินทั้งหมด เนื่องจากเป็นกุญแจสำคัญที่จะคลี่คลายปมปัญหานี้ให้กระจ่าง และขอให้พักชะลอการชดใช้เงิน 3.4 ล้านบาทออกไปก่อน เนื่องจากตอนนี้หลายครอบครัวในคณะกรรมการกองทุนเดือดร้อนทางการเงินอย่างถ้วนหน้า

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog