จากกรณี ‘ชุติมา สีดาเสถียร’ ผู้ประสานงานกองทุนหมู่บ้านใน ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา เข้าร้องเรียนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ ‘ร.ต.ฐนนท์ธรณ์ กวีกิจรัตนา’ นายกเทศมนตรีตำบลบัลลังก์คนปัจจุบัน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานสถาบันการเงินชุมชนตำบลบัลลังก์ หลังคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน 16 ชุมชน ทยอยถูกธนาคารออมสินฟ้องหมู่บ้านละ 3.4 ล้านบาท จากยอดกู้รวมทั้ง 45 ล้านบาท
‘ชุติมา สีดาเสถียร’ เล่าจุดเริ่มต้นของปัญหาเงินกู้ยืมในต.บัลลังก์ อําเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีม กับ ’วอยซ์’ ว่าเธอได้ค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจ เมื่อปี 2554 ร.ต.ฐนนท์ธรณ์ กวีกิจวัฒนา ซึ่งดำรงตำแหน่งข้าราชการสังกัด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 2 ร่วมกับผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาโนนไทย เข้ามาชักชวนคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านทั้ง จัดตั้ง ‘สถาบันการเงินชุมชนตำบลบัลลังก์’ โดยให้กองทุนหมู่บ้านเป็นตัวแทนไปกู้เงินกับธนาคารออมสิน เพื่อนำเงินมาให้สถาบันการเงินบริหาร เนื่องจากสถาบันการเงินยังไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย
ทว่าตามระเบียบขั้นตอนต้องมีการตรวจสอบกลั่นกรองการกู้เงินโดยหน่วยงานรัฐตั้งแต่ระดับอำเภอจนถึงระดับหมู่บ้าน ปรากฎว่าไม่ได้ผ่านการตรวจสอบตามระเบียบดังกล่าว ต่อมาเธอได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินหมู่ที่ 12 ซึ่งกู้มา 3 ล้านบาท กลับพบความผิดปกติที่เงินบางส่วนราว 600,000 บาท ไม่เข้ากองทุนแต่ถูกสั่งจ่ายไปที่สถาบันการเงินชุมนุม บางส่วนผู้จัดการธนาคารออมสิน จึงตามมาด้วยข้อกังขาว่าทำไมเงินส่วนนี้ถึงเข้าไปที่บัญชีส่วนบุคคล
“มันมีคำถามว่าสถาบันการเงิน ที่จัดตั้งขึ้นมาโดยแนวคิดของ ร.ต.ฐนนท์ธรณ์ โดยมีธนาคารออมสินเป็นพี่เลี้ยง บริหารจัดการกันอย่างไรและเหตุใดธนาคารออมสินถึงเลือกฟ้องคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน ทำไมไม่ฟ้องคนที่บริหารจัดการเงิน โดยธนาคารออมสินทราบมาตลอดว่าใครเป็นผู้บริหารจัดการเงิน” ชุติมา ตั้งคำถาม
แน่นอนว่าที่ผ่านมาเธอและชาวบ้านพยายามติดต่อ เพื่อขอคำชี้แจงจาก ร.ต.ฐนนท์ธรณ์ เนื่องจากสถาบันการเงินเกิดขึ้นจากแนวคิดของอดีตนายทหารผู้นี้ แต่คำตอบที่ได้รับจาก ร.ต.ฐนนท์ธรณ์ คือ “ลาออกแล้วไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง” ซึ่งเธอมองว่าเป็นการโยนความผิดให้ชาวบ้านเพียงฝ่ายเดียว
“เรามีหลักฐานทุกอย่างที่ชาวบ้านส่งคืน และมีบางส่วนที่ไม่ได้รับใบเสร็จ แต่มีใบทวงหนี้จากธนาคารทั้งต้นและดอกเท่าเดิม เพราะเงินไปไม่ถึงธนาคาร ทำให้ชาวบ้านกลัวและไม่กล้าจ่ายชำระคืนอีก”
‘ชุติมา’ ยังเล่าอีกว่าธนาคารออมสินซึ่งมีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการกู้ยืมขณะนั้น กลับปฏิเสธที่จะชี้แจงข้อมูล โดยอ้างว่าไม่ทราบถึงกรณีที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีชุติมา ยืนยันว่าชาวบ้านมีหลักฐานสำคัญ คือสมุดเงินฝากที่เป็นของธนาคารออมสิน สาขาโนนไทย ทว่าเมื่อร้องเรียนไปยังสำนักงานใหญ่ มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งผู้รับผิดชอบก็คือผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับเอกสารในการกู้ยืม เมื่อปี 2554
“ชาวบ้านก็มีคำถามว่า ธนาคารออมสินจริงใจกับเขาหรือเปล่า เพราะชาวบ้านหวังให้ธนาคารช่วยตามหาเงินว่าหายไปไหน แม้กระทั่งเส้นทางการเงินหรือสำเนาเช็ค ก็ไม่เปิดเผยกับชาวบ้าน โดยอ้างเหตุผลว่าต้องไปเอาหมายศาลมาก่อน”
ดังนั้นสิ่งที่อยากเรียกร้องไปถึงธนาคารออมสิน ‘ชุติมา’ เสนอให้ทางธนาคารอำนวยความสะดวกชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ในฐานะลูกค้าธนาคารของรัฐ พร้อมกันนี้เธอยังตั้งคำถามอีกว่าการที่ฟ้องชาวบ้านและไล่บี้ให้ใช้หนี้ 3.4 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี มันคือการดำเนินธุรกิจโดยยุติธรรมหรือไม่
“คุณจะแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านอย่างไร ในเมื่อธนาคารออมสิน รู้อยู่เต็มอกว่าใครเป็นผู้ดูแลบริหารการเงินและเอาเงินไปใช้ และขอให้ธนาคารออมสินยอมรับความจริงกับชาวบ้านด้วยว่า ธนาคารและสถาบันการเงินชุมชนเป็นผู้แนะนำให้ชาวบ้านเอาเงินไปให้ใครบริหาร
“ธนาคารออมสินสามารถตรวจสอบว่าการปล่อยกู้ครั้งนี้เป็นไปตามระเบียบหรือไม่ หากพบว่าเจ้าหน้าที่ทำผิดระเบียบองค์กรจริง ขอให้ธนาคารดำเนินการไม่ว่าจะทางวินัยหรืออาญา เพื่อรักษาชื่อเสียงขององค์กร”
ในฐานะผู้ที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบัลลังก์ ‘ชุติมา’ มองว่าท้ายที่สุดแม้ปลายทางชาวบ้านจะชนะในกระบวนการยุติธรรม แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าคือความยุติธรรม เพราะความยุติธรรมที่มาถึงช้าก็คือความอยุติธรรม
“การที่ธนาคารออมสินปล่อยกู้อย่างหละหลวม ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านประเมินค่าไม่ได้ เงินและอำนาจที่พวกคุณมีมันได้ทำลายคุณค่าที่ไม่ใช่ตัวเงิน แต่คือชีวิตของคนในชุมชนที่ถูกทำลาย”
จากการลงพื้นที่เธอพบว่าสภาพจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่หลายคนตกอยู่ในความทุกข์ บางครอบครัวเกิดความแตกแยก หนำซ้ำยังต้องเจอกับคำพูดของเจ้าหน้าที่ธนาคารบั่นทอนโดยไม่คาดฝัน
“ใครจะไปรู้ว่าวันหนึ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารจะมาบอกกับชาวบ้านว่า ถ้าวันหนึ่งพบว่ามีเงินโอนเข้าบัญชีส่วนตัวผม ผมก็เข้าคุกไม่กี่ปีแต่ลูกเมียผมสบาย จึงอยากฝากถามเจ้าหน้าที่ธนาคารว่า คุณลงมาเพื่อแก้ไขปัญหาหรือมีวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งเหตุการณ์นี้เรามีเทปบันทึกเสียงไว้เป็นหลักฐานทั้งหมด”
เช่นเดียว ‘เอื้อมพร’ หนึ่งในคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านที่ตกเป็นผู้ถูกฟ้องจากธนาคารออมสิน เธอได้บอกเล่าถึงความไม่เป็นธรรมกับ ‘วอยซ์’ ว่า หลังจากที่สถาบันการเงินชุมชนฯ ‘ยืมมือ’ คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านกู้เงินกับธนาคารออมสิน เงินทั้งหมดที่กู้มาราว 3 ล้านบาท ผู้กู้เองไม่ได้จับเงินแม้แต่บาทเดียว โดยเงินส่วนนี้สถาบันการเงินนำไปบริหารทั้งหมด ด้วยการนำไปปล่อยกู้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน
“ที่ผ่านมาไม่เคยรับรู้อะไรเลย มีแต่สถาบันการเงินและธนาคารบริหาร จนกระทั่งมีหนังสือฟ้องกรรมการกองทุนหมู่บ้านจากธนาคารออมสิน เพื่อทวงถามหนี้ โดยธนาคารบอกว่าผู้ที่ลงนามกู้คือกรรมการกองทุนหมู่บ้าน จึงต้องรับผิดชอบ” ผู้ถูกฟ้อง ฉายมูลเหตุ
ต่อมาเมื่อเรื่องถึงศาล 'เอื้อมพร' และกรรมการที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญายินยอมระหว่างกรรมการกับธนาคาร โดยมีสัญญาชดใช้เงิน 3.4 ล้านบาทภายใน 5 ปี แบ่งจ่ายปีแรก 100,000 บาท ปีที่ 2-4 จำนวน 350,000 บาท ปีสุดท้ายรวมทบต้นทบดอกต้องจ่ายกว่า 2 ล้านบาท
“พวกเราไม่มีปัญญาส่งแน่นอน และทุกวันนี้ธนาคารออมสินเขายังคิดดอกเบี้ยเราทุกวัน ตอนนี้ในหมู่บ้านแบกภาระไม่ไหวแล้ว เพราะเงินที่สถาบันการเงินชุมชนเก็บจากการปล่อยกู้ เขาไม่ได้ส่งคืนมา ตอนนี้ไม่รู้จะเอาเงินมาจากที่ไหน ตอนนี้ห่วงว่าจะถูกฟ้องจนไม่เหลือที่ทำกิน”
เมื่อครั้งที่กรรมการกองทุนหมู่บ้านสอบถามไปยังอดีตประธานสถาบันการเงินชุมชน ก็ได้รับคำตอบเช่นเดิมว่า ‘ลาออกแล้วไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง’ ทว่าชาวบ้านพบเอกสารที่น่าสนใจ ในปี 2564 ก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ ‘ร.ต.ฐนนท์ธรณ์’ ลงนามรับสภาพหนี้แต่ละกองทุน ‘เอื้อมพร’ จึงตั้งคำถามว่าหากไม่เกี่ยวข้องแล้วมาลงนามในเอกสารด้วยเหตุใด
สุดท้ายแล้วสิ่งที่เกิดขึ้น หนึ่งในผู้ถูกฟ้องจากธนาคารออมสิน ได้เรียกร้องให้ธนาคารเปิดเผยเส้นทางการเงินทั้งหมด เนื่องจากเป็นกุญแจสำคัญที่จะคลี่คลายปมปัญหานี้ให้กระจ่าง และขอให้พักชะลอการชดใช้เงิน 3.4 ล้านบาทออกไปก่อน เนื่องจากตอนนี้หลายครอบครัวในคณะกรรมการกองทุนเดือดร้อนทางการเงินอย่างถ้วนหน้า
ทั้งนี้จากกรณีดังกล่าว ‘วอยซ์’ ได้พยายามติดต่อสัมภาษณ์ ‘ร.ต.ฐนนท์ธรณ์’ แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าไม่สะดวกให้ข้อมูล เนื่องจากเกิดความกังวลถึงการนำไปตีความผิดๆ และขอให้เป็นเรื่องทางกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ‘ร.ต.ฐนนท์ธรณ์’ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงข้อกล่าวหาดังกล่าวว่า แนวคิดการก่อตั้งสถาบันการเงินชุมชน เพื่อเป็นทางเลือกการกู้เงินของชาวบ้านและแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
หลังจากที่ยื่นลาออกจากตำแหน่งประธานสถาบันการเงิน เมื่อปี 2555 ก็ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการใดๆได้อีก อย่างไรก็ดีเมื่อปี 2557 ทราบว่าเกิดปัญหาสมาชิกที่กู้เงินไม่สามารถส่งเงินกู้ได้ จนเกิดการฟ้องร้องในเวลาต่อมา
พร้อมกันนี้ ร.ต.ฐนนท์ธรณ์ ยืนยันว่าแม้เขาเป็นผู้ชักชวนให้จัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน แต่เขาไม่ได้ทำตามลำพัง เพราะมีธนาคารออมสินทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และปฏิบัติตามกฎระเบียบ และยังเชื่อว่าการออกมาเคลื่อนไหวในการร้องเรียนให้ตรวจสอบเขา คือเกมการเมืองท้องถิ่น ที่ฝ่ายตรงข้ามต้องการทำให้เกิดมลทินจากการคอร์รัปชัน
ส่วนกรณีปรากฎชื่อในการลงนามเมื่อปี 2564 ร.ต.ฐนนท์ธรณ์ ชี้แจงว่าไม่ทราบเรื่องนี้ เพราะตอนที่มีคนนำเอกสารมาให้เซ็นในตอนนั้น เป็นการเซ็นกระดาษเปล่า และเมื่อมาพบเอกสารในภายหลังก็พบว่ามีการแก้ไขวันที่กันมั่วไปหมด จึงไม่ทราบว่าคนที่นำเอกสารมาให้เซ็นมีวัตถุประสงค์อะไร