วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึง 3 รัฐมนตรี โดยเริ่มจากเผยสถิติการฉีดวัคซีนของประเทศต่างๆ ซึ่งประเทศไทยฉีดวัคซีน 2 เข็มครบไปแล้ว 70% แต่ใน 16.17% เป็นผู้ฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มไม่ควรนับรวมด้วย เพราะเหลือวัคซีนที่พอจะต่อกรกับสายพันธุ์โอไมครอนและเดลต้าได้เพียง กว่า 50% เท่านั้น และยังเหลือเศษของประชากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอยู่อีกกว่า 15% คือกลุ่มเด็กอายุ 5 ปี องค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติการฉีดวัคซีนในเด็กแล้ว 1 ยี่ห้อ คือไฟเซอร์ ตั้งแต่อายุ 5 ขวบขึ้นไป เริ่มฉีดแล้วเมื่อ 31 มีนาคม 2564
อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อสงสัย เมื่อกระทรวงสาธารณสุขภายใต้การนำโดย อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ประกาศว่าพร้อมจะนำวัคซีนสุนัขมาฉีดให้เด็ก 3 ขวบ ทันทีหาก อย. อนุมัติ โดยอ้างว่ามีหลายประเทศได้นำร่องฉีดแล้ว เช่น จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และกัมพูชา ทั้งที่ไฟเซอร์เป็นวัคซีนที่ใช้สำหรับฉีดในเด็ก 5 ขวบของหลายประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับคณะอนุกรรมการโควิช ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ออกประกาศว่า การฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย 2 เข็มหรือแม้แต่จะกระตุ้นเป็น 3 เข็ม ระดับภูมิคุ้มกันยังไม่พอต่อการป้องกันสายพันธุ์โอไมครอน แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ยังคงออกประกาศกำหนดให้ฉีดวัคซีนสูตรไขว้ในเด็ก
วาโย ยังกล่าวถึงการสอบทีแคส (TCAS) ซึ่งดำเนินการโดย ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ภายใต้การบัญชาการของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งปล่อยทิ้งและไม่แก้ปัญหาให้ผู้สมัครสอบที่ติดโรคโควิด-19 และมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสนามสอบก็ขาดประสิทธิภาพและยังคงเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งตนเสนอว่ามาตรการที่ควรจะเป็นคือ
- ส่ง SMS หรือ Email หรือการสื่อสารช่องทางอื่นๆ ที่ผู้สมัครแจ้งความประสงค์รับข้อมูลไว้ ให้ระมัดระวังตนเองมากขึ้น แยกตัวเอง 7 วันก่อนสอบ
- จัดส่ง ATK ให้ผู้สมัคร ตรวจตนเองก่อนวันสอบ 1-3 วัน
- จัดสนามสอบพิเศษกึ่งโรงพยาบาลสนาม
- จัดสอบครั้งที่ 2 ในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือนโดยมีการทดสอบทางสถิติว่าระดับความยากของข้อสอบทั้ง 2 ชุดไม่แตกต่างกัน
- ยกเลิกจุดคัดกรองอุณหภูมิ เพราะไม่มีผลจริงในทางปฏิบัติ
- กระจายสนามสอบ ลดความแออัด
- จัดโต๊ะสอบให้ห่างกันไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร
- ให้ผู้คุมสอบเป็นผู้สังเกตอาการของผู้สอบ
นอกจากนี้ วาโย ยังกล่าวถึงการจัดการปัญหาน้ำมันรั่วที่มาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งการชี้แจงโดย วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความไม่ชัดเจน ว่าน้ำมันรั่วกี่ลิตรและใช้สารเคมีในการละลายน้ำมันกี่ลิตรกันแน่ วาโย ระบุว่า เมื่อ 16 ม.ค. วราวุธ อนุมัติให้ใช้สาร Slikgone NS ปริมาณ 40,000 ลิตร ขณะที่มีน้ำมันรั่วลงสู่ทะเลประมาณ 400,000 ลิตร คิดเป็นสัดส่วน 1:10 แต่ผู้ผลิตสารเคมีได้แนะนำว่าอัตราส่วนที่มีประสิทธิภาพควรอยู่ที่ 1:20 อย่างไรก็ตาม วันต่อมากลับมีอนุมัติให้ใช้เพิ่มอีกกว่า 3 หมื่นลิตร ด้วยเหตุผลว่าควบคุมไม่ใหัน้ำมันเข้าสู่ชายฝั่ง จนสุดท้ายน้ำมันก็ยังคงเข้าสู่ชายฝั่ง ส่งผลกระทบต่อประชาชน ส.ส.เบญจา จึงนำปูจากพื้นที่ระยองมาให้ วราวุธ รับประทาน เมื่อ 5 ก.พ. แต่ในคลิปที่ วราวุธ เผยแพร่การรับประทานปูนั้น กลับเห็นว่าลายปูไม่เหมือนกัน ขณะที่ 2 วันต่อมา ก็อนุมัติใช้สารเคมีเพิ่มอีก 9,000 ลิตร คิดเป็นสารเคมี 80,000 กว่าลิตร ต่อน้ำมันรั่ว 50,000 ลิตร ตามที่เคยประกาศ
วาโย ตั้งข้อสังเกตว่ากรณีนี้คล้ายกับเหตุน้ำมันรั่วที่ จ.ระยอง เมื่อปี 2556 ซึ่งใช้สารเคมีชนิดเดียวกัน ซึ่งน้ำมันรั่ว 5-7 หมื่นลิตร แต่ใช้สารเคมีไปถึง 3 หมื่นลิตร ซึ่งขัดต่อคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญว่าหากใช้สารเคมีมากเกินไปก็จะขาดประสิทธิภาพ คำถามที่ต้องตอบคิอ สรุปว่าสารเคมีที่ใช้ปริมาณมากเกินที่คำนวณได้ เพราะปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลจริงนั้นมีปริมาณมากกว่าที่ชี้แจงใช่หรือไม่ แล้วปริมาณสารเคมีที่เทลงทะเลมากเกินไปนั้น ก่อให้เกิดผลเสียอย่างไร