วันที่ 19 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 13 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ วาระพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล กูเฮง ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ อภิปรายไม่ไว้วางใจ อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นนโยบายกัญชาเสรี ที่มองว่ามีความสุดโต่ง ไม่ได้เป็นไปเพื่อการแพทย์ดังที่ประกาศนโยบายไว้ จนเกิดข้อสงสัยว่าอาจมีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากขยายจุดขายกัญชาในพื้นที่ต่างๆ โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเอาผิดไม่ได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงสุญญากาศของกฏหมาย
“ตอนนี้เราสามารถใช้สิบล้อขนกัญชาผ่านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ โดยมีมาตรการควบคุมปลอมๆ มาหลอกเด็ก” กูเฮง ระบุ
ขณะเดียวกัน กูเฮง ยังยกตัวอย่างผลกระทบของกัญชา โดยเปิดคลิปวิดีโอที่เป็นภาพของนักเรียนหญิงคนหนึ่งเดินโซเซ เพราะฤทธิ์กัญชาจนต้องล้มลงไปกองบนพื้น โดยระบุว่าเป็นภาพที่สังคมรับไม่ได้ ผู้ปกครองมาเห็นจะรู้สึกอย่างไร และได้เปิดคลิปการแข่งขันฟุตบอลนัดหนึ่งที่ จ.ปัตตานี ระหว่างทีมบุรีรัมย์ และทีมสิมิลัน จากมาเลเซีย ซึ่งมี ส.ส.พรรคภูมิใจไทย หลายท่านไปร่วมชม และในระหว่างการแข่งขันมีเสียงเชียร์ดังสนั่นจากผู้ชมเมื่อทีมมาเลเซียทำประตูได้ เนื่องจากผู้ชมไม่เชียร์บุรีรัมย์ เพราะไม่ชอบนโยบายกัญชาเสรีที่ขัดศาสนา การหาเสียงด้วยเรื่องนี้จะทำได้ยากมากในจังหวัดภาคใต้
“กัญชาอาจจะร้ายแรงกว่ากล้วยใน 3 จังหวัดภาคใต้ ผมขอฝากให้ท่านรัฐมนตรียุติหรือชะลอเรื่องนี้หรือดึงให้กัญชาอย่าเพิ่งแพร่ระบาดในสังคม แต่ผมเชื่อว่าน่าจะทำได้ยาก” กูเฮง กล่าว
กูเฮง ระบุว่า การใช้กัญชาเสรีอย่างสุดโต่ง จะทำให้คน 3 จังหวัดภาคใต้ มองว่าจะกลายเป็นแลนด์สไลด์พาวเวอร์ของพรรคใด ตนเชื่อว่าท่านคงคิดเองได้ จากนั้นได้เปิดคลิปเสียงของ อนุทิน ที่กล่าวขณะหาเสียงว่าสามารถปลูกกัญชามีพี้กันเองได้เลย สำหรับชาว 3 จังหวัดภาคใต้ ที่เป็นมุสลิมนับถือศาสนาอิสลาม ถือว่าขัดหลักศาสนาอย่างรุนแรง ทั้งยังมีการตักเตือนประชาชนชาวมุสลิมทุกท่านเกี่ยวกับข้อเสียของกัญชาในการเทศนาทุกวันศุกร์
ระหว่างการอภิปราย ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ประท้วงการทำหน้าที่ของ ศุภชัย โพธิ์ศุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น โดยถามประธานฯได้หันซ้ายหันขวาบ้างหรือไม่ ว่าขณะนี้ในที่ประชุมไม่เหลือรัฐมนตรีคนใดอยู่เลย ทั้ง 11 ท่านที่ถูกอภิปราย หรือแม้แต่ท่านใดท่านหนึ่งใน 36 ท่าน
“ตกลงนี่ท่านไปหารือลาออกหรือยุบสภา พวกผมจะได้รู้ว่าต้องอภิปรายให้ท่านใดฟัง ต้องขออนุญาตให้ท่านประธานฯ กรุณากำชับให้รัฐมนตรีอย่างน้อยมีตัวแทนอยู่สัก 1 ท่าน ในห้องประชุม ก็จะทำให้การอภิปรายดำเนินไปด้วยดี” ณัฐวุฒิ ระบุ
โดย ศุภชัย ชี้แจงว่า เมื่อสักครู่นี้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้แจ้งตนว่าขออนุญาตไปรับประทานอาหาร แต่จะฟังการอภิปรายของสมาชิกอยู่ และเชื่อว่ารัฐมนตรีท่านอื่นๆ จะติดตามฟังการอภิปรายโดยตลอด จากนั้นจึงให้ กูเฮง อภิปรายต่อไป
ส.ส.ภูมิใจไทยแอบงีบหลับคาสภาฯ ระหว่างซักฟอก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่งการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษ วาระพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวมจำนวน 11 คน เป็นวันแรก (19 ก.ค. 2565) ในระหว่างที่ กูเฮง ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ อภิปรายไม่ไว้วางใจ อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นนโยบายกัญชาเสรี มี ส.ส.ในซีกของพรรคภูมิใจไทย นั่งฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่กันพร้อมเพรียง แต่ทันใดนั้นมี ส.ส.บางส่วนแอบงีบหลับพักสายตาอยู่เป็นเวลา 2-3 นาที อาทิ มณฑล โพธิ์คาย ส.ส.กทม. พรรคภูมิใจไทย สวาป เผ่าประทาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย วิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อับดุลบาซิม อาบู ส.ส.ปัตตานี พรรคภูมิใจไทย
‘หมอเก่ง’ แย้งกัญชาเสรีมีวาระแฝงไม่ใช่หนุนทางการแพทย์
ด้าน นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นการออกนโยบายเสรีกัญชาว่า วิดีโอหาเสียงของ อนุทิน ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยที่ระบุว่า กัญชาสามารถใช้เสพเพื่อสันทนาการ และทำเป็นอาหารกินได้นั้น ไม่่ใช่การสนับสนุนเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์อย่างแน่นอน
นพ.วาโย กล่าวต่อว่า การใช้ประโยชน์ของกัญชาในทางการแพทย์นั้น ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขประกาศว่า มีประโยชน์ทางการแพทย์ต่อโรคในกลุ่มประสาท และอายุรแพทย์ ซึ่งขัดแย้งกับแถลงการณ์ของสมาคมประสาทอายุรแพทย์ที่ระบุว่า ไม่มีหลักฐานงานวิจัยรักษาโรคตามที่กล่าวอ้าง แม้จะมีการอนุโลมจากแพทยสภาให้ใช้ได้ตามปริมาณที่กำหนดแล้วก็ตาม และห้ามใช้เป็นยาหลักในการรักษา
โดย นพ.วาโย กล่าวว่า แม้จะมีงานวิจัยอ้างถึงโอกาสการติดกัญชาที่มีน้อยกว่าสารเสพติดชนิดอื่นเช่น เหล้า และบุหรี่ แต่อย่าลืมว่า ในงานวิจัยมักจะมีข้อโต้แย้งในตัวของมันเองเสมอ และได้แสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากกัญชาต่อเด็กที่มีโอกาสได้รับกัญชามือสอง ที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็ก และเยาวชนในระยะยาวอย่างมาก
ขณะที่สถานะทางกฎหมายกัญชาในไทยระบุว่า กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษตั้งแต่ปี 2477 จนกระทั่งปี 2562 ก่อนที่ อนุทิน จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และมีการออกประกาศให้มีการใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้ ดังนั้น อนุทิน ไม่ใช่ผู้เริ่มนโยบายกัญชาทางการแพทย์ แต่วันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศให้กัญชาพ้นจากสภาพยาเสพติดก่อนจะประกาศให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมในวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยฯ มาตรา 46 ระบุว่า ห้ามไม่ให้มีการวิจัย ส่งออก จำหน่าย และแปรรูปเพื่อการค้าโดยไม่มีใบอนุญาต ซึ่งไม่เคยมีการประกาศให้ประชาชนขอใบอนุญาต โดยต้องส่งแผนที่ถิ่นกำเนิดของสมุนไพรตามระบบนิเวศน์ และมีข้อตกลงระหว่างนายทะเบียนว่าจะปลูกทดแทนถิ่นกำเนินของสมุนไพรนั้นๆ ซึ่งขัดต่อข้อตกลงระหว่างประเทศ Single Convention On Nacrotic Drug ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเมื่อปี 2518 ที่ระบุว่า หากประเทศภาคีจะปลูกกัญชาได้ต้องตั้งองค์กรสถาบันกัญชาแห่งชาติ และหากละเมิดข้อตกลง สมาชิกที่เหลือก็สามารถมีมาตรการปิดกั้นการนำเข้าส่งออกได้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก
นพ.วาโย เสริมว่า การอ้างว่ากฎหมายออกไม่ทันนั้น ทำให้เกิดสุญญากาศทางกฎหมายจริงหรือไม่ พร้อมทั้งได้มีการแจงรายละเอียดถึงการการจงจงใจให้เกิดสูญญากาศทางกฎหมาย เนื่องจากมีการส่งร่างพิจารณากฎหมายที่จะปลดล็อกกัญชาในช่วงใกล้ปิดสมัยประชุมสภาฯ ซึ่งทราบอยู่แล้วว่าพ.ร.บ.กัญชา กัญชง นั้น จะออกไม่ทันวันปลดล็อกกัญชา และได้ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมจึงไม่ออกประกาศกระทรวงชั่วคราวมาควบคุมก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง