ไม่พบผลการค้นหา
นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษกำลังถูกกดดันอย่างหนักว่าอาจไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับสหภาพยุโรปได้ เพราะทางเลือกที่แต่ละฝ่ายต้องการล้วนเป็นไปได้ยาก

นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษเพิ่งจะออกมาเต้นเพลง Dancing Queen ของ ABBA ในงานประชุมพรรคอนุรักษ์นิยม เพื่อล้อเลียนตัวเอง หลังโซเชียลมีเดียวิจารณ์การเต้นของเธอระหว่างการเดินทางเยือนแอฟริกาว่าเธอเต้นเหมือนหุ่นยนต์ แต่ในทางหนึ่งก็ทำให้เห็นว่า เมย์พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้การนำอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า เบร็กซิต (Brexit) ผ่านไปอย่างราบรื่นที่สุด

การเต้นเพื่อทำตัว "กลมกลืน" กับวัฒนธรรมแอฟริกานั้นก็เพื่อไปเจรจาการค้ากับแอฟริกา คู่ค้าใหม่ๆ ที่จะเป็นทางเลือกในการค้าขายของอังกฤษ นอกเหนือจากประเทศสมาชิกอียู การเต้นในงานประชุมพรรคอนุรักษ์นิยมครั้งล่าสุดนี้อาจไม่มีผลต่อเบร็กซิต แต่ก็เป็นความพยายามที่จะผ่อนคลายบรรยากาศที่ตึงเครียดของการเจรจาข้อตกลงเบร็กซิต หลังจากที่อียูเพิ่งจะปฏิเสธข้อเสนอล่าสุดของเธอ

หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน สหราชอาณาจักรจะเริ่มกระบวนการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปหรืออียูในวันที่ 29 มี.ค. 2019 ซึ่งช่วงเปลี่ยนผ่านนี้จะยาวนานไปจึงถึงช่วงสิ้นปี 2020 ในช่วงนี้สมาชิกรัฐสภายุโรปจากอังกฤษก็จะออกจากรัฐสภายุโรป แต่การค้า การและการโยกย้ายถิ่นฐานก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก และสหราชอาณาจักรก็ยังต้องจ่ายภาษีให้อียูต่อไป แต่เมื่อสิ้นสุดช่วงเปลี่ยนผ่านไปแล้ว เงื่อนไขเหล่านี้จะเป็นอย่างไรก็ยังต้องขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลอังกฤษจะเจรจาต่อรองกับอียูออกมาอย่างไร

สำนักข่าว แชนเนล 4 นิวส์ของอังกฤษระบุว่า การเจรจาต่อรองข้อตลงเบร็กซิตสามารถมีทางเลือกอยู่ทั้งหมด 4 ทาง ได้แก่

1. ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเบร็กซิตร่วมกันได้เลย หากอังกฤษแลอียูไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้ อังกฤษก็อาจจะต้องตัดขาดจากอียูทันทีโยไม่มีช่วงเปลี่ยนผ่านเลยด้วยซ้ำ และกลับมาใช้กฎการค้าระหว่างประเทศทั่วไปเหมือนเดิม และกฎหมายอังกฤษจะแยกขาดจากกฎหมายอียูทันที ส่งผลให้มีการตั้งกำแพงภาษีและตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองระหว่างชายแดนอังกฤษกับอียู

การออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ กับอียู ทำให้อนาคตของอังกฤษยังไม่แน่นอน แต่นักวิเคราะห์คาดว่า หากสถานการณ์เลวร้ายขั้นสุด อาจทำให้เกิดจลาจล หรืออาจเกิดภาวะขาดแคลนอาหารและยารักษาโรคได้ แต่ปัจจุบัน รัฐบาลอังกฤษก็พยายามหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตเหล่านั้น

อีกปัญหาอังกฤษต้องระมัดระวังหากไม่มีดีลเบร็กซิตเลยก็คือ การต้องตั้งด่านตรวจคนเข้าเมือง บริเวณชายแดน โดยเฉพาะการตั้งด่านบริเวณชายแดนสาธารณรัฐไอร์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอียู กับไอร์แลนด์เหนือที่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การแบ่งเขตแดนระหว่างไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนืออาจทำให้ปัญหาความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสงบลงไปไม่นานกลับปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งหลายคนไม่ต้องการเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการแบ่งแยกระหว่างชาวคริสต์นิกายคาธอลิกที่เป็นเชื้อชาติไอริช และต้องการให้ไอร์แลนด์เหนือเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับไอร์แลนด์ กับชาวคริสต์โปรเตสแตนท์ที่ต้องการอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร

อย่างก็ตาม หลายคนก็มองว่า การออกจากอียูโดยไม่มีดีลเบร็กซิตใดๆ เลย ก็มีข้อดีตรงที่อังกฤษสามารถควบคุมชายแดนได้เอง กำหนดนโยบายผู้อพยพเองได้ ไม่ต้องรับแรงงานจากยุโรปตะวันออกที่หลายคนมองว่าจะเข้าไปแย่งงานชาวอังกฤษ อีกทั้งยังไม่ต้องรับโควต้าผู้ลี้ภัยตามอียูอีกด้วย แต่อังกฤษได้รับปากแล้วว่า พลเมืองอียูที่อยู่ในอังกฤษอยู่แล้วจะยังได้รับสิทธิต่างๆ เหมือนเดิม แต่อียูระบุว่า คนอังกฤษที่อยู่ในประเทศสมาชิกอียูจะไม่ได้รับสิทธิคุ้มครองใดๆ

ทั้งรัฐบาลอังกฤษและอียูเองต่างก็มองว่า การที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปเป็นทางเลือกที่ไม่ดีนัก แต่นักการเมืองหลายคนก็มองว่า ยิ่งเจรจากันไปเรื่อยๆ ทางเลือกนี้ดูมีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่นางเทเรเซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษเองก็ระบุว่า เธอต้องการดีลที่ดีที่สุด แต่ก็ยอมไม่ได้ดีลอะไรเลย มากกว่าได้ดีลที่ไม่ดีพอ

2. ข้อตกลงออกจากอียูแบบเด็ดขาด หรือ hard Brexit ตัดขาดทั้งตลาดเดียวของอียู สหภาพศุลกากร ศาลยุติธรรมยุโรป เพื่อให้อังกฤษมีอำนาจในการกำหนดนโยบายเหล่านี้ได้เอง รวมถึงทำข้อตกลงการค้ากับประเทศอื่นๆได้เอง ซึ่งส่งผลดีกับธุรกิจที่ค้าขายภายในประเทศเท่านั้น เพราะคู่แข่งจากประเทศอื่นจะเจอกำแพงภาษี แต่ธุรกิจที่ต้องพึ่งพาอียูก็อาจต้องเจอกำแพงภาษีเสียเอง ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือก็อาจปะทุเช่นกัน เพราะข้อตกลงนี้จะทำให้มีการควบคุมชายแดนอย่างเข้มงวดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงนี้จะทำให้พลเมืองอียูที่อยู่ในอังกฤษสามารถยื่นขอรับสถานะการตั้งถิ่นฐานในอังกฤษได้ ขณะที่ชาวอังกฤษที่ย้ายไปอยู่ในประเทศสมาชิกอียูอื่นๆ ก่อนปี 2021 ยังจะได้รับสถานะในการอยู่ในประเทศนั้นๆต่อไปได้ แต่การโยกย้ายหลังจากนั้นอาจทำได้ยากขึ้น

ข้อตกลงนี้เป็นสิ่งที่ส.ส.อนุรักษ์นิยมหลายคนอยากได้ โดยมองว่าข้อตกลงนี้จะตอบโจทย์ประชาชนที่ลงประชามติว่าจะออกจากอียูมากที่สุด

3. ข้อตกลงออกจากอียูอย่างนิ่มนวล หรือ soft Brexit จะทำให้การเปลี่ยนแปลงระหว่างอังกฤษและและอียูมีน้อยที่สุด เช่น อังกฤษยังอยู่ในตลาดเดียวและสหภาพศุลากรของอียู ซึ่งจะทำให้สินค้าส่งออกของอังกฤษไม่รับผลกระทบจากกำแพงภาษี แต่ธุรกิจของอังกฤษก็ต้องเผชิญการแข่งขันจากสินค้าจากอียู

ส่วนการโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างอังกฤษกับอียูก็น่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนัก ขณะที่การตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองบริเวณชายแดนไอร์แลนด์เหนือก็จะไม่จำเป็นนัก ซึ่งก็จะไม่ทำให้เกิดความรู้สึกถึงการแบ่งแยกไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์มากจนฝ่ายคาทอลิกในไอร์แลนด์เหนือไม่พอใจอีก

แม้ส.ส.อนุรักษ์นิยมบางส่วน พรรคแรงงาน พรรคชาตินิยมสกอตแลนด์ (SNP) พรรคเสรีประชาธิปไตย และแม้แต่อียูเองก็อยากได้ข้อตกลงนี้ แต่ข้อตลกลงที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรไปจากเดิมเลยจะทำให้คนที่โหวตออกจากอียูรู้สึกว่ารัฐบาลอังกฤษทรยศผลการลงประชามติ และเป็นการทำลายประชาธิปไตยของอังกฤษ เพราะกฎเกณฑ์ของอียูจะยังมาควบคุมนโยบายต่างๆของอังกฤษอยู่

4. ข้อตกลงเช็กเกอร์ส (Chequers Deal) ของนางเทรเซา เมย์ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่ร่วมกันออกแบบที่บ้านพักในชนบทของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อว่า เช็กเกอร์ส ทำให้ข้อตกลงนี้เรียกว่า ข้อตกลงเช็กเกอร์ส ซึ่งพยายามจะหาจุดตรงกลางระหว่างฝ่ายที่ต้องการเบร็กซิตแบบอ่อนโยนและแบบเด็ดขาด เพื่อให้แต่ละฝ่ายเห็นด้วยกับข้อตกลงนี้ โดยข้อตกลงนี้จะทำให้อังกฤษยอมรับกฎเกณฑ์ทางการค้าของอียู และยังอยู่ในตลาดเดียวของอียู แต่มีอิสระในการไปทำข้อตกลงการค้ากัประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากประเทศสมาชิกอียูด้วย

การที่สินค้าระหว่างอังกฤษและอียูยังสามารถข้ามแดนกันไปมาอย่างสะดวก จะทำให้อังกฤษไม่จำเป็นต้องตั้งด่านบริเวณชายแดนไอร์��ลนด์เหนือ คนอังกฤษในอียูและคนอียูในอังกฤษก็ยังได้รับการคุ้มครองสิทธิเหมือนเดิม แต่หลังจากนั้น อังกฤษยืนยันว่าจะควบคุมชายแดนให้เข้มงวดขึ้น และยุติการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างเสรี เพื่อไม่ให้ผู้อพยพเข้าไปในอังกฤษมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม อียูเพิ่งขจะปฏิเสธข้อตกลงเช็กเกอร์สของรัฐบาลอังกฤษ เพราะมองว่าอังกฤษเลือกแต่เงื่อนไขที่อังกฤษได้ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว และสส.อังกฤษทั้งสองฝ่ายต่างก็วิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงนี้เช่นกัน และมองว่า การดึงดันจะยื่นข้อตกลงเช็กเกอร์สนี้จะทำให้อังกฤษไม่มีวันบรรลุข้อตกลงกับอียูได้ภายในวันที่ 29 มี.ค. 2019


ที่มา : Channel 4 News


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :