นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฏหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ พร้อมด้วย น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ในฐานะประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอทราบผลการลงมติของที่ประชุม กกต. เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับกรณีการรับรองการประกาศรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
นายวิญญัติ ระบุว่า เพื่อเป็นการยืนยันถึงการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงขอรับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีนี้ คือ
1. กกต.แต่งตั้งผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน หรือเป็นคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน มีหน้าที่และอำนาจตามระเบียบของ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดปี 2561 ข้อ 6 หรือไม่
2.หากมีการแต่งตั้ง ได้มีการตรวจมูลกรณีการสืบสวน ไต่สวน และการสอบสวนอย่างไร รวมถึงมีการดำเนินการประชุมคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน รายงานการประชุมอย่างไร ทั้งก่อนการประกาศรายชื่อพล.อ.ประยุทธ์ และหลังการยื่นหนังสือคัดค้านการประกาศรายชื่อของพล.อ.ประยุทธ์ที่ยื่นไปก่อนหน้านี้
3.กกต. เจ้าพนักงาน หรือคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน มีความเห็นวินิจฉัยชี้ขาดปัญหา หรือข้อโต้แย้งทและคณะกรรมการลงมติมีรายละเอียดเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาดพ. ศ. 2561 ข้อ 83 คำวินิจฉัยตลอดจนความเห็นของ กกต. ให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ในฐานะผู้ยื่นคำร้องและตามสิทธิ์อันพึงมีตามกฎหมาย จึงขอทราบผลการสืบสวนการไต่สวนและการวินิจฉัย รวมถึงการลงมติของ กกต.
น.ส.ณัฏฐา กล่าวว่า กกต.ไม่ควรดูถูกประชาชน โดยเฉพาะคำตอบของ กกต. 8 บรรทัดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ซึ่งขัดแย้งกับมาตรฐานที่ทำไว้กับพรรคไทยรักษาชาติในกรณียุบพรรคการเมือง ทั้งที่คำร้องยื่นยุบพรรคพลังประชารัฐนั้น เป็นข้อหาเดียวกันกับที่ยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติ ในข้อหาการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เหตุใดพรรคการเมืองหนึ่งจึงใช้เวลาวินิจฉัยเพียงสั้นๆรวบรัดตัดตอน แต่อีกพรรคการเมืองหนึ่งกลับใช้เวลาในการพิจารณา 1 เดือนแล้วกว่ายังไม่มีคำตอบ
น.ส.ณัฏฐา ตั้งข้อสังเกตว่า นัยยะทางการเมืองหลังจากพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบพรรค ทำให้ผู้สมัครส.ส.ทั้งหมดถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ทำให้สมดุลทางการเมืองเสียไป พรรคพลังประชารัฐที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมานั้น ทำให้ผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐมีสิทธิ์ลงสนามในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะไม่เสียสิทธิ์ทางการเมือง เพราะถึงแม้การยุบพรรคจะเกิดขึ้นในภายหลัง ผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐที่ได้เป็น ส.ส.ยังสามารถย้ายพรรคได้ หมายความว่าเสียงของพรรคพลังประชารัฐจะยังอยู่ครบ จึงตั้งข้อสังเกตว่า กกต.กำลังเอื้อกับการสืบทอดอำนาจหรือไม่