ไม่พบผลการค้นหา
รองเลขาฯ กกต. ชี้ที่ประชุมรัฐสภา คือ ผู้พิจารณาสถานะ "พล.อ.ประยุทธ์" เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ ระบุหน้าที่ กกต.จบแล้วไม่มีหน้าที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัย

นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการ กกต.เมื่อวานนี้ (20 มี.ค.) ที่มีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ว่าการประกาศชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ของพรรรคพลังประชารัฐ หรือ พปชร.ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 88 และมาตรา 89 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 13 และมาตรา 14

โดยนายณัฏฐ์ ยืนยันว่า มติของ กกต. ที่ออกมาถือว่าสิ้นสุดในขั้นตอนของ กกต.แล้ว โดยไม่ได้วินิจฉัยถึงกรณีสถานะการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่ของ กกต.ที่จะเป็นผู้วินิจฉัย แต่เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะเป็นผู้ดำเนินการในขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

มติของ กกต.ที่ออกมาได้พิจารณาและเป็นไปตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2561 กกต.ไม่มีหน้าที่ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ในวันเดียวกันนี้ นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ พร้อมด้วยน.ส.ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน จะเข้าพบ กกต. เพื่อทวงถามเหตุผลและคำอธิบายมติ กกต.ที่ออกมาว่า การเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ของพรรคพลังประชารัฐชอบด้วยกฎหมายนั้นเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดเป็นอย่างไร  

ขณะเดียวกันยังทวงถามถึงการพิจารณาคำวินิจฉัยในส่วนของคำร้องให้ยุบพรรคพลังประชารัฐที่ยื่นให้ กกต.พิจารณาไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วย


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :