ไม่พบผลการค้นหา
บอร์ด สปสช. เคาะงบกองทุนบัตรทอง ปี 2562 จำนวน 1.93 แสนล้านบาท เตรียมเสนอ ครม.พิจารณา ชี้เพิ่มขึ้นจากปี 2561 กว่า 1.6 หมื่นล้านบาท แยกเป็นงบเหมาจ่ายกว่า 1.76 แสนล้านบาท เฉลี่ย 3,634 บาทต่อผู้มีสิทธิ์ 48.5 ล้านคน เผยหลังหักเงินเดือนบุคลากรภาครัฐคงเหลืองบเหมาจ่ายสู่กองทุน 1.29 แสนล้านบาท ขณะที่งบบริการนอกเหมาจ่าย อาทิ เอดส์ ไตวายเรื้อรัง โรคเรื้อรัง พื้นที่ทุรกันดาร ผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง และหมอครอบครัว อยู่ที่กว่า 1.7 หมื่นล้านบาท

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2561 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบวาระ “ข้อเสนอนโยบายงบประมาณเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2562-2563” เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา 

ทั้งนี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2562 และกรอบภาระงบประมาณ ปี 2563 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบวงเงิน โดยงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2562 ใสส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัวได้เสนอจำนวน 176,561.38 ล้านบาท หรือ 3,634.82 บาทต่อประชากรผู้มีสิทธิ คำนวณประชากรผู้มีสิทธิ จำนวน 48.57 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่ได้รับจัดสรรอยู่ที่ จำนวน 156,019 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น จำนวน 20,541.76 ล้านบาท หรือ 437.50 บาทต่อประชากรผู้มีสิทธิ (ร้อยละ 13.7) โดยปัจจัยส่งผลการปรับเพิ่มงบประมาณเป็นผลจากต้นทุนบริการ ทั้งจากอัตราเงินเฟ้อค่ายาและค่าตอบแทนบุคลากร ปริมาณการใช้บริการ และขอบเขตการบริการ รวมถึงนโยบายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งงบประมาณดังกล่าวเมื่อหักเงินเดือนบุคลากรภาครัฐ จำนวน 47,314.96 ล้านบาท คงเหลือเป็นงบประมาณที่เข้าสู่กองทุนฯ จำนวน 129,246.41 ล้านบาท

ส่วนงบประมาณนอกเหมาจ่ายรายหัว นำเสนอรายละเอียดดังนี้

1.งบบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 3,363.57 ล้านบาท 

2.งบบริการสาธารณสุขไตวายเรื้อรัง จำนวน 8,281.79 ล้านบาท ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะ

3.งบบริการบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง จำนวน 3,757.98 ล้านบาท 

4.งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,490.28 ล้านบาท

5.งบค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 1,359.84 ล้านบาท

6.งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว จำนวน 1,443.14 ล้านบาท

จากงบ 6 รายการข้างต้นนี้ เมื่อรวมเป็นงบประมาณนอกเหมาจ่ายรายหัว คิดเป็นจำนวน 17,360.76 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 2,006.71 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.1 จากปัจจัยต้นทุนการบริการ ปริมาณการใช้บริการ และขอบเขตบริการและนโยบายที่เพิ่มขึ้น และเมื่อรวมกับงบเหมาจ่ายรายหัว รวมเป็นงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งสิ้น จำนวน 193,922.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งได้รับจัดสรร จำนวน 177,367.97 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16,554.35 ล้านบท (ร้อยละ 9.3) โดยหลังหักเงินเดือนบุคลากรภาครัฐแล้วเป็นงบเข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 146,607.17 ล้านบาท

สำหรับข้อเสนอนโยบายงบประมาณกองทุนปี 2562 นี้ เป็นไปตามมติคณะกรรมการที่กำหนดสำหรับข้อเสนอนโยบายงบประมาณเงินกองทุน ปี 2561-2562 เชื่อมโยงการพิจารณาตามร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2559, (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ระยะ 20 ปี, กรอบกฎหมาย พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และนโยบาย รมว.สาธารณสุขและบอร์ด สปสช. ตลอดจนผลการตรวจสอบของหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น พร้อมเพิ่มเติมจากผลการรับฟังความเห็นปี 2560, มติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง และมติคณะกรรมการที่มอบให้ทบทวนและศึกษาในประเด็นต่างๆ 

พร้อมกันนี้ได้นำเสนอกรอบงบประมาณกองทุนฯ ปี 2563 ต่อ ครม.ควบคู่ โดยได้นำเสนอกรอบงบประมาณภาพรวมกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งหมด จำนวน 207,504.82 ล้านบาท แยกเป็นงบเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 188,664.35 ล้านบาท หรือ 3,865.36 บาทต่อประชากร และงบค่าบริการอื่นๆ นอกงบเหมาจ่ายรายหัว จำนวน 18,840.46 ล้านบาท ประกอบด้วยงบบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ งบบริการสาธารณสุขไตวายเรื้อรัง งบบริการบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ งบค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และงบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว 

นอกจากนี้ยังเสนอประเด็นปรับปรุงและพัฒนาการบริหารกองทุนฯ ในปี 2562 เพื่อให้หน่วยบริการรับทราบและเตรียมความพร้อม อาทิ การปรับปรุงการจ่ายตามกลุ่มวินิจฉับโรคร่วม (DRGs) บริการรผู้ป่วยในทั่วไป, การปรับปรุงการจ่ายค่าใช้จ่ายสำหรับบริการผ่าตัดวันเดียวกลับต่อเนื่องปี 2561, การปรับบริการกรณีเฉพาะบางรายการเข้าระบบปกติ, การปรับรูปแบบการจัดหาบริการและแนวทางการจ่ายงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการผู้มีสิทธิมากขึ้น และพัฒนารูปแบบการให้บริการในหน่วยบริการและในชุมชนแบบใหม่เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ต้องฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ในระยะเฉียบพลัน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ทั้งการจัดเตรียมงบประมาณและบริการเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในปีถัดไป